เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่เปิดให้ใช้งาน 5G NR แบบ Stand Alone (SA) บนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน Huawei P40 Pro และ P40 Pro+ ได้ก่อนใครในโลก เร็วกว่าแม้กระทั่งประเทศจีนที่เป็นผู้นำด้านนี้อยู่ก็ตาม แต่ 5G SA ที่ว่านี้มันดียังไง เราควรต้องตื่นเต้นไปที่ประเทศเรามีใช้ด้วยรึเปล่า? วันนี้เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังครับ

5G SA – NSA คืออะไร

5G SA ย่อมาจาก 5G Standalone หรือการใช้งานบนเครือข่าย 5G เพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบันนี้เครือข่าย 5G ที่ให้บริการกันโดยมากจะเป็นแบบ NSA หรือ Non-Standalone หรือเป็นการใช้งานผ่าน core network ของ 4G กันเกือบทั้งหมด โดยลักษณะเช่นนี้ แม้ว่าสัญญาณรับส่งจะเป็นแบบ 5G แต่โครงสร้างพื้นฐานจะยังใช้งานของ 4G อยู่ ทำให้ยังติดคอขวดด้านความเร็วอยู่ เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้นก็เหมือนเราขับรถที่ต้องวิ่งอยู่บนทางด่วนสลับกับทางธรรมดา กับรถที่สามารถวิ่งอยู่บนทางด่วนตลอดเวลา ทำให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วได้เต็มที่นั่นเอง ส่วนเหตุผลที่ต้องมี NSA ก่อน SA ก็เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดให้รองรับ SA จะต้องลงทุน จึงมีการคิดค้น NSA ขึ้นมาช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถให้บริการ 5G ได้ทันทีโดยไม่ต้องลง Core Network ใหม่ทั้งหมดนั่นเอง

เปรียบเทียบความแตกต่างของ 5G NSA vs 5G SA โดยในปัจจุบัน AIS เป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวในไทยที่ให้บริการแบบ Dual Mode ทั้ง SA / NSA

ประโยชน์เมื่อเปลี่ยน 5G จาก NSA เป็น SA

ส่วนสำคัญที่สุดของเครือข่าย 5G แบบ Standalone ก็คือจะทำให้ 1 ใน 3 แกนหลักของ 5G อย่าง uRLLC (Ultra Low Latency) เป็นจริงขึ้นมาได้ โดย SA จะลดความหน่วง (Latency) จาก 4G ลงได้ถึง 60-70% เลยทีเดียว เมื่อ Latency ยิ่งน้อย ความหน่วงของเวลาก็จะต่ำตาม ลองนึกภาพว่าเสียงที่คุยกันจะถึงอีกฝั่งแบบทันที ไม่ดีเลย์ 0.5 – 0.7 วินาที เช่นบน 4G หรือแม้แต่การตอบสนองในเกม – อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆที่มีการควบคุมระยะไกล ที่ควรจะมีการหน่วงเวลาให้น้อยที่สุด ตอบสนองต่อคำสั่งของเราได้เร็วที่สุด ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง

ความแตกต่างของ Latency ในเครือข่ายแต่ละแบบ

  • 4G <30ms
  • NSA <15ms
  • SA <10ms

 3 แกนหลักของ 5G ได้แก่ eMBB, mMTC, และ uRLLC 

 

Tips มีงานวิจัยจากทาง MIT ได้เปิดเผยว่ามนุษย์พอที่จะแยกแยะความหน่วงที่มากกว่า 20ms ได้ออก หรือรู้สึกได้ว่าการตอบสนองจากอีกฝั่งยังไม่ทันที มีความหน่วงอยู่เสี้ยววินาที หากสั่งงานแขนจักรกลระยะไกล จะยังรู้สึกได้ว่าแขนมันยังไม่เคลื่อนที่ได้รวดเร็วตามแขนเราจริงๆ หรือนั่นหมายถึงตอน 4G อาจจะยังพอรับรู้ได้ถึงความหน่วงนี้ แต่เมื่อมีการใช้งาน 5G ความหน่วงนี้ก็จะลดลงจนแทบเทียบเท่าเสมือนเกิดขึ้นบนหน้าจริง ไม่มีการดีเลย์แม้แต่น้อยแล้วนั่นเอง

ความต้องการ Latency ของกิจกรรมต่างๆ บน 5G

Latency < 5ms – Automated Driving, IoT, Gaming

Latency < 10ms – Augmented Reality, Medical Application

Latency < 50ms – Video Analytics

5G SA บนสมาร์ทโฟน ไทยทำได้เจ้าแรกของโลก

สำหรับ 5G SA ในประเทศไทย ถูกนำมาพัฒนาและใช้งานได้บนสมาร์ทโฟนเป็นเจ้าแรกของโลก บนเครือข่ายเอไอเอส ผ่าน Huawei P40 Pro และ Huawei P40 Pro+ ซึ่งมีการประกาศความสำเร็จนี้ย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเอไอเอสได้เปิดให้บริการเครือข่าย 5G SA ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และเขตพื้นที่ EEC ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ส่วนในจังหวัดอื่นมีแม้จะเปิดให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว แต่พื้นที่ครอบคลุมจะยังอยู่ในตัวเมืองเป็นหลัก ยังไม่กระจายตัวเทียบเท่ากับสัญญาณ 4G ซึ่งมีความครอบคลุมของสัญญาณที่ร้อยละ 97 และ 5G ที่ร้อยละ 13 ของจำนวนประชากร

ควรซื้อมือถือที่รองรับ 5G SA ไปเลยหรือไม่

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G SA ในตลาดจะมีตัวเลือกไม่มาก ยังมีเพียงแค่ Huawei P40 Pro และ P40 Pro+ ส่วนรุ่นอื่นจะยังรองรับเพียง NSA เท่านั้น อย่างไรก็ดี แม้ในอนาคตเครือข่ายมีการอัพเกรดเป็น 5G SA ทั้งหมดแล้ว หากเครื่องที่เราซื้อวันนี้รองรับเพียง NSA ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด สามารถเชื่อมต่อได้ตามปกติ ความเร็วดาวน์โหลดอัปโหลด หรือความหน่วงอาจจะมากกว่าคนใช้ SA เล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว แนะนำถ้ารุ่นที่รองรับ 5G SA ยังไม่ถูกใจ จะใช้เครื่องที่เป็น NSA ระหว่างรอรุ่นที่ต้องการต่อไปอีกก็ไม่เสียหาย เพราะเราก็ได้เห็นแนวโน้มว่าสมาร์ทโฟนรองรับ 5G เริ่มมีราคาประหยัดขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันมีเพียง Huawei P40 Pro และ P40 Pro+ เท่านั้นในตลาดที่รองรับ 5G SA

 

อย่างไรก็ดีแม้ว่าการใช้งานที่ต้องการความสามารถระดับ 5G SA ในระดับผู้ใช้ตอนนี้จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่จะเป็นรูปเป็นร่างมากแล้วในระดับอุตสาหกรรม ที่ต้องการนวัตกรรม 5G | Network Slicing สั่งตัดคลื่นและปล่อยสัญญาณให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันกัน เช่น เครื่องนึงต้องการ Latency ต่ำ, อีกเครื่องต้องการ Bandwidth สูง ก็สามารถปล่อยสัญญาณแบบปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละเครื่องได้เลย ซึ่งเดิมบน 4G จะกำหนดค่าเครือข่ายได้แบบตายตัวเท่านั้น

เรื่อง Network Slicing ไว้มีโอกาสจะขอมาเล่าแยกอีกที มีรายละเอียดไม่น้อยเหมือนกัน เดี๋ยวบทความนี้มันจะยาวเกินไป 😂

ก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจถึงความแตกต่างของ 5G SA และ NSA มากขึ้นนะครับ ถ้ามีคำถาม หรืออยากจะแนะนำอะไรเพิ่มเติม สามารถมาเขียนคุยกันได้ในคอมเมนต์เช่นเดิมนะครับ