ตำรวจสามารถจับกุมแก๊งมิจฉาชีพที่ส่ง SMS แนบลิงก์ปลอมเพื่อหลอกดูดเงินประชาชนได้ โดยผู้ต้องหามีทั้งหมด 6 คน ของกลางเป็นรถ 4 คันและเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) หรือเสาส่งสัญญาณปลอมอีก 4 ชุด ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทางตำรวจไซเบอร์กับทีมวิศวกร AIS ที่ได้ตรวจสอบและวางแผนเข้าจับกุมมิจฉาชีพนั่นเองค่ะ

จากกรณีที่เกิดขึ้น คนร้ายได้ใช้วิธีนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเสาสัญญาณปลอม ใส่ไว้ในรถและขับไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อรถขับผ่านพื้นที่ไหน ข้อความก็จะถูกส่งผ่านสัญญาณไปยังมือถือที่อยู่ใกล้ ๆ ละแวกนั้น

SMS ที่ถูกส่งไปจะเป็นลักษณะข้อความสั้น ๆ พร้อมทั้งแนบลิงก์ปลอมลงไป และแอบอ้างตัวเองเป็นหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน เมื่อประชาชนหลงเชื่อและกดลิงก์ดังกล่าว ก็จะดึงเข้าสู่หน้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ถูกควบคุมระยะไกล จากนั้นก็โอนเงินจาก Mobile Banking และตั้งแต่เดือนเมษายน – พฤษภาคม 2566 พบว่ามีการแจ้งความออนไลน์จำนวนค่าเสียหายมูลค่ารวมทั้งหมด 124,896,689.84 บาทเลยทีเดียว

ล่าสุดทางกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ร่วมมือกับร่วมกับทีมวิศวกรของ AIS เข้าตรวจค้นและจับกุมด้วยการ ได้กระจายกำลังเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาในหลายพื้นที่ในบริเวณลานจอดรถหน้าร้านสะดวกซื้อในซอยบางแวก 33 ถนนราชพฤกษ์ ในขณะที่รถกำลังแล่นออกไปเพื่อส่งสัญญาณพอดี ซึ่งทางตำรวจได้ตรวจยึดรถยนต์จำนวน 4 คัน เครื่องจำลองสถานีฐานดังกล่าวจำนวน 4 ชุดและจับกุมผู้ต้องหารวม 6 คน ในข้อหาดังนี้

  • ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
  • ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
  • ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3)ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม,เป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา

ทาง AIS ได้ร่วมมือกับทางตำรวจไซเบอร์ในการตรวจสอบพบความผิดปกติ ซึ่งทีมวิศวกรได้ร่วมเฝ้าดูและติดตามพฤติกรรมของมิจฉาชีพตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเทคโนโลยี Tracking & Monitoring จนสามารถระบุเส้นทางการเคลื่อนตัวอย่างละเอียดเพื่อค้นหาแหล่งกบดานของกลุ่มมิจฉาชีพนี้ได้

หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS ได้กล่าวถึงการช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ที่ผ่านมา ทั้ง AIS Secure Net , Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม,ฟิชชิ่ง,ไวรัส และยังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ขอย้ำเตือนประชาชน หากได้รับข้อความที่ไม่น่าไว้วางใจจากทาง SMS หรือ Line หรือช่องทางอื่น ๆ ให้ตรวจสอบให้ชัดเจนกับองค์กรหรือเจ้าของการบริการดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เพราะมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบกลลวงทุกวัน แต่ก็ยังมีหนทางที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อได้ค่ะ

 

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์