ตามปกติในตลาดพีซีเดสก์ท็อปเรามักจะคุ้นเคยกับการซื้อฮาร์ดแวร์แบบแยกส่วนหรือ DIY มาใช้ประกอบคอมกันเอง แต่จริง ๆ แล้ว AMD ยังจับตลาดซีพียูอีกกลุ่มหนึ่งด้วยที่เรียกว่า “Embedded SoC” นึกภาพตามง่าย ๆ มันคือการเอาซีพียูฝังลงในเมนบอร์ดแล้วขายพร้อมกันเลย (คล้ายกับบอร์ดของโน้ตบุ๊ค) ซึ่งจะมีประโยชน์กว่าในเรื่องการจัดการพลังงานและความเสถียร แต่ก็แน่นอนว่าทั้งสองส่วนจะไม่สามารถถอดออกจากกันได้
ก่อนหน้านี้ AMD เคยเปิดตัวซีพียูประเภทนี้หลายตระกูล ได้แก่ Ryzen Embedded V2000 หรือ EPYC Embedded 3000 แต่ล่าสุดได้ตัดสินใจลงมาทำบนรุ่นเมนสตรีมด้วย โดยเปิดตัว Ryzen Embedded 5000 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Ryzen 5000 รหัส E ซึ่งคือการเอาชิป Zen 3 ที่ใช้บน Ryzen 5000 รหัส X ธรรมดามาตัดทอนสเปคลด Core / Thread ลง แต่การทำงานส่วนอื่นก็ยังค่อนข้างใกล้เคียงเดิม
ตารางสเปคซีพียู Ryzen 5000 รหัส E 4 รุ่น (เปรียบเทียบกับรหัส X)
ซีพียู | Core / Thread | Clock Speed | TDP | L3 Cache |
Ryzen 9 5950E | 12C / 24T | 3.4 GHz | 105W | 64 MB |
Ryzen 9 5900E | 10C / 20T | 3.7 GHz | 105W | 64 MB |
Ryzen 7 5800E | 8C / 16T | 3.7 GHz | 100W | 32 MB |
Ryzen 5 5600E | 6C / 12T | 3.6 GHz | 65W | 32 MB |
Ryzen 9 5950X | 16C / 32T | 3.4 GHz | 105W | 64 MB |
Ryzen 9 5900X | 12C / 24T | 3.7 GHz | 105W | 64 MB |
Ryzen 7 5800X | 8C / 16T | 3.8 GHz | 105W | 32 MB |
Ryzen 5 5600X | 6C / 12T | 3.7 GHz | 65W | 32 MB |
จะเห็นว่ารุ่นที่ถูกตัด Core / Thread ลดลงจะมีเฉพาะรุ่น Ryzen 9 โดยที่ Ryzen 9 5900E จะเป็น Ryzen รุ่นแรกที่มีสเปคแบบ 10 คอร์ซึ่งยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ขณะที่ Ryzen 5 กับ 7 ถูกปรับลดเฉพาะในส่วนค่า Clock Speed และ TDP แต่ค่า Cache ยังเหมือนเดิม ส่วนด้านประสิทธิภาพตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมาว่าจะต่างกันเท่าไหร่
ซีพียูรหัส E มีข้อดีกว่ารหัสธรรมดา คือจะประหยัดพลังงานมากกว่า, เสถียรกว่า และอายุการใช้งานยาวนานกว่า เหมาะกับคอมพิวเตอร์แบบ workstation หรือเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องเปิดทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งนี้ AMD จะให้การซัพพอร์ตที่ยาวนานกว่าด้วย ซึ่งจากที่เห็นบนซีพียู Embedded รุ่นเก่าคืออย่างน้อย ๆ ถึง 10 ปีเลยทีเดียว
Advantech เป็นเจ้าแรกที่เปิดตัวบอร์ด AIMB-522 ซึ่งมาพร้อมกับซีพียู Ryzen 5000 รหัส E ภายในเป็นสเปคของบอร์ด X570 ที่ใช้ Socket แบบ AM4 และรองรับแรม DDR4 แต่มีความพิเศษที่เหนือกว่าบอร์ดธรรมดาคือจะรองรับการเชื่อมต่อความเร็วสูงแบบ Ethenet 10Gb 2 พอร์ต, 2.5Gb 2 พอร์ต และพอร์ตสำหรับงานด้านเซิร์ฟเวอร์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นบอร์ดและซีพียู DIY ธรรมดาจะไม่สามารถออกแบบโครงสร้างพวกนี้ได้ดีเทียบเท่า
นอกจากนี้ตัวบอร์ดยังรองรับพอร์ต USB-A 3.2 x8, USB-A 3.0 x4 และ USB-A 2.0 x3 และเทคโนโลยี DeviceOn ของ Advantech สำหรับงานด้านระบบ cloud ด้วย ปัจจุบันทาง Advantech เตรียมจัดส่งบอร์ดดังกล่าวพร้อม Ryzen 5000 รหัส E ออกสู่ตลาดแล้ว โดยจะเน้นที่พาร์ทเนอร์ของ AMD เป็นหลักก่อน ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะนำมาขายในระดับคอนซูมเมอร์ด้วยรึเปล่า เดี๋ยวคงต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
Comment