พบช่องโหว่ร้ายแรงในซีพียู AMD ที่มีชื่อว่า Sinkclose (CVE-2023-31315) ในซีพียู AMD ความร้ายแรงระดับ Zero Days มีคะแนนความรุนแรง 7.5 จาก 10 โดยเมื่อสืบย้อนไปจะพบว่าช่องโหว่นี้กระทบซีพียู AMD ที่ออกมาในช่วงปี 2006 เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่ากระทบซีพียูรุ่นที่วางขายในปัจจุบันอย่าง EPYC, Ryzen และ Threadripper หลายรุ่นด้วย

ตัวอย่าง CPU AMD EPYC AM5 ที่โดนผลกระทบของช่องโหว่ Sinkclose

รายชื่อซีพียู AMD ที่โดนช่องโหว่ Sinkclose

  • EPYC 1st, 2nd, 3rd, and 4th generations
  • EPYC Embedded 3000, 7002, 7003, and 9003, R1000, R2000, 5000, and 7000
  • Ryzen Embedded V1000, V2000, and V3000
  • Ryzen 3000, 5000, 4000, 7000, and 8000 series
  • Ryzen 3000 Mobile, 5000 Mobile, 4000 Mobile, and 7000 Mobile series
  • Ryzen Threadripper 3000 and 7000 series
  • AMD Threadripper PRO (Castle Peak WS SP3, Chagall WS)
  • AMD Athlon 3000 series Mobile (Dali, Pollock)
  • AMD Instinct MI300A

ช่องโหว่นี้สามารถเปิดทางให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึง Kernel ของระบบปฏิบัติการได้ในระดับ Ring -2 ซึ่งเป็นฟีเจอร์ของโหมดการจัดการระบบ System Management Mode (SMM) ของซีพียู รุ่นใหม่ ๆ หรือพูดง่าย ๆ คือได้สิทธิ์การเข้าถึงที่สูงมาก (เกือบสูงที่สุด) ในระดับฮาร์ดแวร์

โดยปกติแล้ว SMM จะทำหน้าที่ดูแลการจัดการพลังงาน การควบคุมฮาร์ดแวร์ ความปลอดภัย และระบบการทำงานพื้นฐานที่เกี่ยวกับความเสถียรของระบบ ซึ่งถูกออกแบบให้แยกตัวออกมาจากตัวระบบปฏิบัติการหลักของคอมพิวเตอร์ เพื่อความปลอดภัยไม่ให้ถูกแฮกง่าย ๆ

Firmware security
ตัวอย่างสิทธิ์การเข้าถึงฮาร์ดแวร์ในระดับชั้นต่าง ๆ ยิ่งอยู่ใกล้ตรงกลางสิทธิ์ยิ่งเข้าถึงได้มาก

แต่ช่องโหว่นี้เหมือนเป็นทางลัดจาก Kernel (Ring 0) ให้แฮกเกอร์ไปยัง SMM Ring -2 ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของ Ring -1 จากนั้นเข้าไปเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าภายใน เช่นเข้าไปปิดฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยต่าง ๆ หรือจะฝั่งมัลแวร์เลยก็ทำได้ ทำให้ระบบป้องกัน หรือระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น Anti-Virus ที่มีสิทธิ์ต่ำกว่า แทบจะตรวจจับไม่ได้

เลยเหมือนกับว่าแฮกเกอร์ได้ทำการยึดเครื่องของเราไปแล้วนั่นเอง ทำให้เขาสามารถดูดข้อมูล หรือฝังมัลแวร์อะไรก็ได้ในเครื่องเรา แม้ในทางปฏิบัติถ้าจะแฮกจริง ๆ ก็อาจจะทำได้ยากหน่อย เพราะแฮกเกอร์ต้องเข้าถึงส่วนของ Kernel ให้ได้ก่อน ถึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นี้ได้ ทำให้ช่องโหว่นี้ไม่ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากนัก หรือไม่ใช่ว่าจะโดนโจมตีด้วยท่านี้กันง่าย ๆ

ตัวอย่าง CPU AMD Ryzen 3000 AM4 ที่โดนผลกระทบของช่องโหว่ Sinkclose

อย่างไรก็ตามทาง AMD ได้รู้ถึงปัญหานี้แล้ว และได้ทำการปล่อยอัปเดตแพทช์ BIOS ให้กับซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ทั้ง Ryzen, EPYC และ Threadripper แต่ Ryzen 3000 ลงไปยังไม่มีรายงานว่าจะได้รับแพทช์อุดช่องโหว่ตรงนี้เมื่อไหร่

ที่มา : Wccftech bleepingcomputer techspot