ก่อนหน้านี้หลายคนคงงงว่าสรุปแล้วเลขรหัสของซีพียู Ryzen แต่ละหลักมันมีความหมายยังไงกันแน่ เพราะนับวันนอกจากจะซอยรุ่นย่อยถี่ขึ้น ตัวเลขหลักท้าย ๆ ของซีพียูแต่ละเจนยังออกมาดูไม่ค่อยเหมือนกันอีก แม้แต่ AMD ยังยอมรับเป็นนัย ๆ เองเลยว่ามันยังเข้าใจได้ไม่ง่ายพอสำหรับผู้ใช้ทั่วไป เลยมีแนวทางที่อยากจะทำให้ตัวเลขรหัสพวกนี้อ่านง่ายขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุด AMD ตัดสินใจเปลี่ยนระบบตัวเลขครั้งใหญ่สำหรับซีพียู Ryzen รุ่น Mobile พร้อมปล่อยคู่มือการอ่านเลขและความหมายของแต่ละหลักออกมาพร้อมกัน โดยยังเลือกใช้โครงสร้างคล้ายของเดิมคือเป็น Ryzen 3, 5, 7, 9 ตามด้วยเลข 4 หลัก บวกกับรหัสตัวอักษรห้อยท้าย 1-2 ตัว เช่น Ryzen 7 7640U แต่จะเพิ่มความหมายที่ชัดเจนให้กับแต่ละหลักมากกว่าเดิม ซึ่งหลักที่เปลี่ยนชัดที่สุดก็คือหลักแรกกับหลักที่ 3 ซึ่งหันมาใช้บ่งบอกรุ่นปีที่ออกและตัวสถาปัตยกรรมของชิปแทน

ความหมายของเลขรหัสบนซีพียู Ryzen Mobile

  • หลักแรก ใช้บอกปีที่ออกรุ่น เช่น 7 = ปี 2023, 8 = ปี 2024, 9 = ปี 2025, …
  • หลักที่ 2 ใช้บอกรุ่นทำตลาดของซีพียู เช่น 3 – 4 = Ryzen 3, 5 – 6 = Ryzen 5, …
  • หลักที่ 3 ใช้บอกรุ่นของสถาปัตยกรรม Zen เช่น 3 = Zen 3 หรือ 3+, 4 = Zen 4, 5 = Zen 5, …
  • หลักที่ 4 ใช้บอกระดับฟีเจอร์และความไฮเอนด์ เช่น 0 = รุ่นโมเดลระดับล่าง, 5 = รุ่นโมเดลระดับบน
  • ตัวอักษร ใช้บอก form factor และ TDP เช่น e= 9W, U = 15-28W, HS = 35W+, HX = 55W+, C = 15-28W บน Chromebook

สังเกตได้ว่า AMD หันมาใช้เลขหลักแรกแทนปีที่ออกขายเลย แทนที่จะบอกซีรีส์ 6000, 7000 อย่างเดียว ซึ่งก็จะทำให้รุ่นถัดไปอย่าง Ryzen 7000 Mobile กลายเป็นรุ่นประจำปี 2023 และถัดจากนั้นก็จะอัปเดตทีละปียาว ๆ ไม่น่ามีการข้ามรุ่นให้เห็นเหมือนฝั่งเดสก์ท็อปอีกแล้ว (แต่ยังไม่ได้ว่าบอกว่าหลังเลขหลักเดียวแล้วจะทำยังไงต่อ) ขณะที่เลขหลักที่ 3 ก็หันมาบอกเป็นรุ่นชิป Zen แบบตรงตัวแทน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนพอสมควร

ตัวอย่างซีพียูรหัสแบบใหม่ที่เราจะได้เห็นกันในปีหน้า เช่น

  • Ryzen 9 7945HX มีความหมายว่า (7) เป็นรุ่นปี 2023, (9) เป็นตัว Ryzen 9, (4) ใช้ชิป Zen 4, (5) เป็นรุ่นโมเดลระดับบน, (HX) มีค่า TDP 55W
  • Ryzen 3 7420U มีความหมายว่า (7) เป็นรุ่นปี 2023, (4) เป็นตัว Ryzen 3, (2) ใช้ชิป Zen 2, (0) เป็นรุ่นโมเดลระดับล่าง, (U) มีค่า TDP 15-28W

 

 

 

ที่มา : AMD