Google เปิดตัว Android 14 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา รอบนี้ไม่ค่อยมีฟีเจอร์อะไรใหม่มากนัก เกี่ยวกับประเด็นนี้ Dave Burke รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Google ดูจะทราบดี จึงออกมาเล่าว่า Android 14 ให้ความสำคัญไปที่ ‘คุณภาพ’ เป็นลำดับแรกเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งมีการปรับปรุงการทำงานเบื้องหลังหลายอย่าง แต่อาจด้วยความที่ Google ไม่ได้นำเสนอมากพอ ผู้ใช้งานจึงไม่ทราบถึงความเปลี่ยนแปลง

เดิมที Google ควรจะนำเสนอ Android 14 ในงาน I/O แต่ด้วยเหตุผลบางประการ Android 14 ปีนี้จึงเปิดตัวช้าไปมาก สุดท้าย Google แอบไปเปิดตัวแบบเงียบ ๆ บนบล็อกโพสต์หลังงาน Pixel 8

หากดูจากซอร์สโค้ดของ Google จะพบว่า จำนวนแคชสูงสุดในหน่วยความจำ (DEFAULT_MAX_CACHED_PROCESSES) ใน Android 14 เพิ่มเป็น 1024 แล้ว จากเดิม 32 หรือคิดเป็น 32 เท่า

Burke ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ฟังดูเฉย ๆ อาจทำให้รู้สึกดี แต่การทำแบบนี้มีความเสี่ยง เพราะการที่มีแคชในหน่วยความจำเยอะแล้วแอปไม่ได้อยู่ในสถานะ ‘หลับ’ จริง ๆ จะมีการดึงซีพียูไปใช้งาน ทำให้เปลืองแบตโดยไม่จำเป็น แต่ Google สามารถแก้ปัญหาได้แล้วใน Android 14 โดยการลดการทำงานในพื้นหลังลง 50%

ผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากนั้นคือ Android 14 สามารถลดเวลา cold start ของแอปลงไปได้ 20 – 30% หรือสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับขนาด RAM อาจสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจนผู้ใช้งานรู้สึกได้ (ความพร้อมใช้งานหลังเปิดแอปครั้งแรกหลังบูตเครื่อง หรือเปิดครั้งแรกหลังโพรเซสถูกฆ่า) และสามารถลดขนาดของโค้ดลงไปได้อีก 9.3% จากการปรับปรุง ART ใหม่ มีผลทั้ง RAM และ ROM โดยไม่กระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน

นอกจากนี้ Android 14 ยังมีการปรับปรุงเลย์เอาต์และ UI ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่มีจอขนาดใหญ่ เช่นแท็บเล็ต เป็นความพยายามต่อเนื่องมาตั้งแต่ Android 12L ซึ่งอุปกรณ์จอพับเองจะได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นเดียวกัน

ประเด็นน่าสนใจคือ Bruke บอกว่า ทีมพัฒนาให้คำมั่นสัญญากับตัวเองเป็นการภายในว่า Android รุ่นใหม่ทุกรุ่นที่เปิดตัว ต้องมีคุณภาพสูงกว่ารุ่นก่อนหน้านั้น และต้องผ่านการตรวจสอบจนกว่าจะมั่นใจ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Android 14 เปิดตัวช้าก็เป็นได้

และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Google เตรียมปรับแนวทางการพัฒนา Android ใหม่ ต่อไปนี้จะพัฒนาและอัปเดตไปทีละส่วน เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดมีความสดใหม่ตลอดเวลา ทีมพัฒนาสามารถให้ความสำคัญกับการอัปเดตด้านต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น และตรวจสอบคุณภาพได้ง่ายกว่าเดิม แตกต่างจากแนวทางเก่าที่บางครั้งทิ้งช่วงนานเกินไป โดยแนวทางใหม่นี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป

ที่มา : Android Developers