ยังเหลือเวลาอีกนานกว่าที่ Android 15 จะเปิดตัว แต่ข้อมูลหลาย ๆ อย่างของระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่นี้ ทาง Google ก็ไม่ได้ปิดเป็นความลับสักเท่าไหร่ บางส่วนสามารถทราบได้จากชุดโค้ดต่าง ๆ ที่ Google ปล่อยออกมาให้นักพัฒนาเตรียมตัวกันล่วงหน้า หรือบางส่วน Google ก็เคยนำเสนอด้วยตนเองไปแล้วตามช่องทางต่าง ๆ ทาง DroidSans จึงได้รวบรวมข้อมูล Android 15 ที่น่าสนใจไว้ในบทความนี้ ทั้งฟีเจอร์ใหม่ การปล่อยอัปเดต และอื่น ๆ
Android 15 มีชื่อว่าอะไร
แม้ Google จะยกเลิกธรรมเนียมการทำตลาด Android ด้วยชื่อขนมหวานมาตั้งแต่ Android 10 ใน ปี 2019 แต่ในความเป็นจริงแล้ว Android เวอร์ชันใหม่ ๆ ก็ยังมีชื่อโค้ดเนมเป็นชื่อขนมหวานของตัวเองอยู่เรื่อยมา เพียงแต่ถูกใช้งานกันในส่วนของนักพัฒนาเท่านั้น ซึ่งชื่อโค้ดเนมของ Android 15 คือ Vanilla Ice Cream
นับเป็นครั้งที่สามแล้ว ที่ Android มีคำว่า ‘ไอศกรีม’ อยู่ในชื่อโค้ดเนม โดยสองครั้งก่อนหน้านี้คือ Pistachio Ice Cream ใน Andorid 9 และ Ice Cream Sandwich ใน Android 4.0
Android 15 มาเมื่อไหร่
อ้างอิงจากไทม์ไลน์การปล่อยอัปเดต Android ในปีที่ผ่าน ๆ มา คาดว่า Android 15 จะมีไทม์ไลน์ที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้
- Android 15 DP1 – กุมภาพันธ์
- Android 15 Beta 1 – เมษายน
- Android 15 QPR1 Beta 1 – กรกฎาคม
- Android 15 (ตัวเต็ม) – สิงหาคม
ปกติแล้ว Google จะออก Android DP มาก่อน 2 รุ่น จากนั้น Android Beta จะถูกปล่อยตามมาอีก 3 – 4 รุ่น และในช่วงหลังจะมี Android QPR Beta มาแทรกเป็นลำดับรองสุดท้าย ก่อนออกตัวเต็มประมาณเดือนสิงหาคม หรือกันยายน
มือถือที่ได้อัปเดต Android 15
มือถือตระกูล Pixel จะได้รับการอัปเดต Android เวอร์ชันใหม่เป็นกลุ่มแรกเสมอ ซึ่งกับ Android 15 ในปีนี้ Pixel 5a ที่มีระยะซัปพอร์ตซอฟต์แวร์ถึงแค่เดือนสิงหาคม จะตกขบวนไม่ได้ไปต่อ ดังนั้นการอัปเดต Android 15 ของมือถือ Pixel จึงเริ่มที่ Pixel 6 ขึ้นไปจนถึง Pixel 8 รุ่นใหม่ล่าสุด
ส่วนมือถือ Android จากค่าย Samsung, OPPO, realme, vivo, Xiaom และอื่น ๆ ที่เหลือ จะทยอยอัปเดตตามในภายหลัง เริ่มจากรุ่นใหญ่ไปเล็ก และรุ่นใหม่ไปเก่า
- Google Pixel 6
- Google Pixel 6 Pro
- Google Pixel 6a
- Google Pixel 7
- Google Pixel 7 Pro
- Google Pixel 7a
- Google Pixel 8
- Google Pixel 8 Pro
- Google Pixel Fold
- Google Pixel Tablet
ฟีเจอร์ใหม่ Android 15
เพิ่มเมนู Battery health
Google ซุ่มพัฒนาฟีเจอร์ Battery health มาตั้งแต่ Androdi 13 หรือก่อนหน้านั้น และเพิ่มเมนู Battery information เข้ามาเป็นครั้งแรกใน Android 14 QPR1 Beta 1 แต่ความสามารถยังจำกัดอยู่แค่การดูรอบชาร์จแบตเตอรี่ นอกจากนี้เมนูยังถูกซ่อนไว้ในหน้า About phone ที่ในสถาการณ์ทั่วไปคงไม่มีใครกดเข้าไปดู ชี้ให้เห็นว่าฟีเจอร์นี้ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
แต่ใน Android 15 ที่กำลังจะมาถึง Battery information จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Battery health และถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเมนูย่อยในหน้า Battery ที่เป็นเมนูหลัก ซึ่งจะดูอยู่ถูกที่ถูกทางอย่างที่ควรจะเป็น พร้อมกับเพิ่มตัวบ่งชี้สุขภาพแบตเตอรี่ แบบเดียวกับที่มีใน iOS บน iPhone ผู้ใช้งานจะสามารถรับรู้ได้ว่า มือถือที่ใช้งานอยู่ มีจำนวนรอบชาร์จเท่าใด และแบตเตอรี่เสื่อมสภาพไปแล้วมากน้อยเพียงใด
เพิ่มฟีเจอร์ Predictive back gesture
Google ได้นำเสนอและสาธิตการทำงานของฟีเจอร์ Predictive back gesture ในงาน Google I/O เมื่อปี 2022 พร้อมประกาศตั้งแต่ตอนนั้นว่า ฟีเจอร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการระยะยาวที่จะพร้อมใช้งานในปี 2024 ซึ่งตรงกับ Android 15 จะที่กำลังจะออกในปีนี้พอดี
ฟีเจอร์ Predictive back gesture นั้นทำงานตรงตามชื่อ หากผู้ใช้งานปัดหน้าจอจากขอบเพื่อย้อนกลับ จังหวะที่ยังไม่ยกนิ้วออกจากหน้าจอ ระบบจะแสดงสิ่งที่จะปรากฏในหน้านั้น ๆ ล่วงหน้า คล้ายกับการพลิกหน้าหนังสือที่เราจะมองเห็น ‘เนื้อหา’ ในหน้าก่อนหน้าเสมอ แอนิเมชันการแสดงผลลักษณะนี้ยังเป็นแบบเดียวกับที่ iOS มีมานานแล้ว ซึ่งผู้ใช้งาน iPhone คงคุ้นเคยกันดี
ปัจจุบัน Predictive back gesture สามารถเปิดใช้งานได้ผ่านเมนูตัวเลือกสำหรับนักพัฒนาบน Android 13 และ Android 14 ของมือถือบางรุ่น แต่แอปที่รองรับยังน้อยอยู่มาก (ขนาดแอปของ Google เอง ส่วนใหญ่ยังไม่รองรับเลย) เพราะการที่มันจะแสดงผล ทางผู้พัฒนาแอปต้องอัปเดต API ให้สอดรับกันด้วย
เพิ่มฟีเจอร์ Save app pairs
ความสามารถด้านมัลติทาสกิงของ Android ทยอยดีขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่ Google ได้ Samsung มาช่วยพัฒนา Android 12L เป็นต้นมา หลายฟีเจอร์ที่เคยเห็นในมือถือ Galaxy ก็กลายมาเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของระบบปฏิบัติการ Android
ใน Android 12L รองรับการจดจำ App pairs หรือแอปที่เปิดในโหมดหลายหน้าต่างบนหน้า overview เป็นครั้งแรก ส่วนใน Android 15 จะมีตัวเลือกเพิ่มเติมให้ผู้ใช้งานสามารถ ‘เซฟชอร์ตคัต’ แอปที่จับคู่ในโหมด App pairs เก็บไว้บนหน้าโฮมได้ เพื่อให้เปิดใช้งานใหม่ได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องคอยจับคู่ใหม่ตลอดเวลา
เพิ่มฟีเจอร์ Auto-archive
การลบแอปที่ไม่ได้ใช้งานออกเมื่อพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องเต็ม เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายและรวดเร็ว แต่สิ่งที่เกิดตามมาคือ ข้อมูลต่าง ๆ ในแอปจะถูกลบตามไปด้วย และหากวันใดวันหนึ่ง เกิดผู้ใช้งานเปลี่ยนใจ อยากกลับมาใช้แอปนั้น ๆ อีกครั้ง ก็อาจต้องมีการล็อกอินและตั้งค่าอะไรต่าง ๆ ใหม่ตั้งแต่ต้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Google จึงได้เพิ่มฟีเจอร์ Auto-archive เข้ามา วิธีการทำงานของมันคือ ส่งข้อมูลในแอปบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งานขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์ของ Google ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพื้นที่ได้สูงสุด 60% โดยไม่ต้องถอนการติดตั้ง และที่สำคัญ ข้อมูลในแอปจะไม่หาย
แอปที่อยู่ในสถานะ Auto-archive จะไม่ถูกลบออกจากหน้าโฮมหรือหน้ารวมแอป แต่จะมีป้ายกำกับเป็นสัญลักษณ์รูปก้อนเมฆปรากฏทับบนไอคอน เมื่อเปิดใช้งานอีกครั้งจะเป็นการโหลดข้อมูลที่อยู่บนคลาวด์มายังเครื่อง และใช้งานต่อได้ตามเดิม
เพิ่มฟีเจอร์ Private Space
Private Space จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแยกสำหรับเก็บแอปและข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนหรือต้องการความเป็นส่วนตัว แบบเดียวกับฟีเจอร์ Secure Folder ของ Samsung โดย Private Space มีการทำงานคร่าว ๆ ดังนี้
- แอปที่ถูกเก็บใน Private Space จะถูกล็อก ผู้ใช้งานสามารถกำหนดวิธีการปลดล็อกได้ว่าจะเป็นแบบเดียวกับการปลดล็อกตัวเครื่อง หรือจะให้แตกต่างกัน เช่นใช้รหัสผ่าน หรือ PIN คนละชุด
- แอปที่ถูกเก็บใน Private Space จะไม่แสดงป็อปอัปแจ้งเตือนเมื่ออยู่ในสถานะล็อก
- ข้อมูลที่เก็บใน Private Space จะไม่สามารถเข้าถึงได้จากแอปปกติภายนอก Private Space ยกตัวอย่างเช่น กรณีกดส่งรูปภาพหรือเอกสารผ่าน LINE ไฟล์เหล่านั้นจะไม่ปรากฏในตัวเลือก
ดูข้อมูลเพิ่มเติม : Android Police
แยกการอัปเดต NFC แแยกจากระบบปฏิบัติการ
Google พยายามผลักดันให้ Android เป็นระบบปฏิบัติการแบบโมดูลาร์ที่สามารถอัปเดตองค์ประกอบแต่ละส่วนแยกกันได้มานานแล้ว เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของความไวในการออกฟีเจอร์ใหม่และการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัย รวมถึงความครอบคลุมกับอุปกรณ์รุ่นเก่า
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ฟีเจอร์ Nearby Share ที่ถูกแยกออกมาให้อัปเดตผ่าน Google Play System ทำให้มือถือ Android หลายรุ่นที่อาจหมดระยะซัปพอร์ตซอฟต์แวร์ไปแล้วยังคงได้รังฟีเจอร์ใหม่ได้อยู่โดยไม่ต้องอัปเดตระบบปฏิบัติการข้ามเวอร์ชัน
ตอนนี้ Wi-Fi, Bluetooth และ Ultra-wideband ต่างถูกเปลี่ยนสถานะจากสแต็กมาเป็นโมดูลแยกทั้งหมดแล้ว ลำดับต่อไปที่กำลังจะตามมาใน Android 15 คือ NFC
*หากมีข้อมูลน่าสนใจเพิ่มเติม ทาง DroidSasns จะมาอัปเดตให้ในภายหลัง
Comment