แอปเปิลเปิดตัว AI ของค่ายมาตามนัด ซึ่งคำว่า AI ของแอปเปิลในที่นี้ ไม่ได้ย่อมาจาก artificial intelligence เหมือนสากลโลก หากแต่ย่อมาจาก Apple Intelligence ที่ล้อไปกับชื่อแบรนด์อย่างลงตัว โดย Apple Intelligence จะเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนสินค้าตระกูล iPhone, iPad และ Mac ใน iOS 18, iPadOS 18 และ macOS Sequoia ที่เตรียมจะปล่อยให้อัปเดตเร็ว ๆ นี้

แอปเปิลพัฒนา Apple Intelligence โดยมีรากฐานจากแนวคิด 5 ข้อเป็นสำคัญ คือ ทรงพลัง ใช้งานง่าย ทำงานแบบบูรณาการ เข้าใจผู้ใช้งาน และมีความเป็นส่วนตัว (powerful, intuitive, intergrated, personal and private) ซึ่งแต่ละอย่างก็สื่อความหมายตรงตัวอยู่แล้ว

ส่วน ‘เข้าใจผู้ใช้งาน’ หรือ personal แอปเปิลขยายความเพิ่มเติม โดยการเปรียบเทียบว่าแช็ตบอตหรือเครื่องมือ AI ที่มีให้ใช้งานทั่ว ๆ ไป มันไม่ได้รู้จักตัวตนของผู้ใช้งานเลยแม้แต่น้อย มีหน้าที่แค่รับคำสั่ง แล้วก็ตอบสนองไปตามนั้น แตกต่างจาก Apple Intelligence ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างลึกซึ้ง เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหมาะสมที่สุดตามบริบท ดังนั้นแอปเปิลเองจึงให้คำนิยาม Apple Intelligence ว่าเป็น personal intelligence ที่เกิดจากคำว่า personal และ artificial intelligence รวมเข้าด้วยกัน

ฟีเจอร์ Apple Intelligence ที่น่าสนใจ

Apple Intelligence รองรับฟีเจอร์หลายอย่าง ฟีเจอร์ทั่วไปจะถูกประมวลผลบนตัวอุปกรณ์แบบ on-device ดังนั้นข้อมูลจะไม่หลุดออกไปภายนอก แต่บางงานที่ต้องโยนไปประมวลผลบนคลาวด์ แอปเปิลก็มีส่วนที่เรียกว่า Private Cloud Compute เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ทำออกมารองรับโดยเฉพาะ แน่นอนว่าไม่มีการเก็บข้อมูลเช่นกัน พร้อมการเข้ารหัสป้องกันอีกชั้น โดยมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจดังนี้

Writing Tools ช่วยเขียน ช่วยตรวจคำผิด ช่วยสรุปเนื้อหา

  • Proofread – ตัวช่วยพิสูจน์อักษร ตรวจสอบความถูกต้องของไวยากรณ์ คำศัพท์ และโครงสร้างประโยค โดยเครื่องมือจะไฮไลต์สิ่งที่ควรแก้ พร้อมแสดงคำอธิบายประกอบ เช่น หากมีคำที่สะกดผิด Writing Tools ก็จะชี้ให้ดูว่าผิดตรงไหน แล้วคำที่ถูกต้องสะกดยังไง
  • Rewrite – ตัวช่วยปรับสำนวนหรือโทนของการเขียน ให้เหมาะสมกับงานในขณะนั้น ๆ มี 3 ตัวเลือกคือ เป็นกันเอง มืออาชีพ และกระชับ
  • Summarize – ตัวช่วยสรุปเนื้อหา เลือกได้ว่าจะให้สรุปออกมาในรูปแบบย่อหน้า แยกประเด็นสำคัญเป็นข้อ ๆ เป็นตาราง หรือเป็นรายการ (บูลเล็ต)

เครื่องมือ Writing Tools ทำงานแบบ system-wide คือสามารถนำไปใช้งานได้กับแอป (เกือบ) ทุกตัว ไม่ได้จำกัดเฉพาะแอป first-party ยกตัวอย่างฟีเจอร์ Summarize สามารถสรุปเนื้อหาได้จากทั้งในอีเมลและบนเว็บ

Priority Messages & Notification ไม่พลาดทุกการแจ้งเตือนสำคัญ

แอปเปิลอาศัยประโยชน์จากความเข้าใจภาษาของ Apple Intelligence มาประยุกต์ใช้การจัดลำดับความสำคัญของอีเมลและการแจ้งเตือน เรียกว่า Priority Messages และ Priority Notification ตามลำดับ โดยอีเมลหรือการแจ้งเตือนที่ถูกจัดลำดับความสำคัญจะถูกดึงมาแสดงบนพื้นที่แยกที่ส่วนบนสุดของอินบอกซ์และกล่องแจ้งเตือน เพื่อให้สังเกตเห็นได้ง่าย

นอกจากนี้ Priority Messages และ Priority Notification ยังช่วยสรุปเนื้อหาของอีเมลและการแจ้งเตือนให้เสร็จสรรพ จากเนื้อหายาว ๆ หดเหลือไม่กี่บรรทัด มองปุ๊บ ก็เข้าใจเนื้อหาสำคัญได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเปิดอีเมลหรือการแจ้งเตือนขึ้นมาอ่านให้เสียเวลา

Smart Reply ตอบกลับอีเมลและแจ้งเตือนได้เร็วทันใจ

ฟีเจอร์แนะนำคำตอบกลับสั้น ๆ โดยอัตโนมัติ เป็นฟีเจอร์ที่แอปเปิลนำเสนอควบคู่ไปกับ Reduce Interruptions โหมดโฟกัสแบบใหม่ ที่จะแสดงเฉพาะการแจ้งเตือนที่อาจจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยในทันที เช่น หัวหน้าทักมาทวงงานในแช็ต และกรณีนี้ Smart Reply ก็อาจแนะนำคำตอบกลับมาว่า ‘ได้ทันทีเลยครับพี่’ เป็นต้น

Transcribe บันทึกเสียง พร้อมถอดเสียงเป็นข้อความ

ของใหม่อีกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาษาคือ Transcribe ฟีเจอร์ถอดเสียงเป็นข้อความ เบื้องต้นเปิดให้ใช้งานในแอปโน้ตและโทรศัพท์ ซึ่งในส่วนนี้เองก็สามารถให้ Apple Intelligence ช่วย Summarize สรุปเนื้อหาออกมาอีกทีได้เช่นกัน

Image Playground เครื่องมือเจนฯ ภาพสุดล้ำ

ถัดมาเป็นฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับภาพ ฟีเจอร์ที่เด่นที่สุดคือ Image Playground เครื่องมือเจนฯ ภาพแบบ text-to-image เลือกได้ 3 สไตล์ ระหว่าง Animation, Illustration และ Sketch สามารถนำภาพที่มีอยู่ในเครื่องมาใช้เป็นฐานในการเจนฯ ได้

และเพื่อลดความซับซ้อนของ promt แอปเปิลจึงได้ใส่พรีเซตของธีม เครื่องแต่งกาย และสถานที่ มาไว้ล่วงหน้าประมาณหนึ่ง ดังนั้นแทนที่จะเป็นการพิมพ์ล้วน ๆ เหมือนเครื่องมือเจนฯ ภาพจากข้อความทั่วไป ก็เปลี่ยนเป็นใช้นิ้วจิ้มเลือกเอาจากพรีเซตที่ถูกใจ ข้อดีคือผู้ใช้งานจะเห็นตัวอย่างก่อนประมาณหนึ่ง ทำให้คาดเดาได้ว่าภาพจะออกมาเป็นประมาณไหน

เช่นเดียวกับ Writing Tools ที่เอ่ยถึงไปแล้วด้านบน Image Playground เองก็รองรับการทำงานแบบ system-wide แต่มีเงื่อนไขเล็กน้อย คือผู้พัฒนาแอปนั้น ๆ ต้องใส่ Image Playground API เข้ามาด้วย

Image Wand วาดอะไรก็สวย แค่ใช้ Apple Pencil วง

เปลี่ยนภาพสเกตช์หยาบ ๆ ให้กลายเป็นภาพที่สวยงามได้ในพริบตา โดยการใช้ Apple Pencil วงรอบภาพที่ต้องการ ฟีเจอร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Image Playground ที่เปิดให้ใช้งานเฉพาะบนแอปโน้ต

Genmoji สร้างอีโมจิเฉพาะตัว เก๋ไม่ซ้ำใคร

ฟีเจอร์เจนฯ อีโมจิจากข้อความ พื้นฐานการทำงานคล้าย Image Playground รวมถึงความสามารถในการนำภาพที่มีอยู่ในเครื่องมาใช้เป็นฐานในการเจนฯ แตกต่างกันตรงที่ Genmoji มีไว้สำหรับสร้างอีโมจิ ส่วน Image Playground มีไว้สำหรับสร้างภาพทั่วไป แค่นั้น

อีโมจิที่ถูกเจนฯ ด้วย Genmoji สามารถใช้แทรกลงในข้อความได้แบบเดียวกับอีโมจิทั่วไป รวมถึงการแชร์เป็นสติกเกอร์ และการโต้ตอบแบบ Tapback ในข้อความ

Clean Up ลบวัตถุออกจากภาพ

เครื่องมือลบวัตถุที่ไม่ต้องการออกจากภาพหรือวิดีโอ โดยส่วนที่ถูกลบไปจะถูกเติมเต็มให้เข้ากับบริบทโดยรอบโดยอัตโนมัติ

Memory Movie นำภาพมารังสรรค์วิดีโอ ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวใหม่

นำภาพหรือวิดีโอในเครื่องมาเจนฯ มาสร้างเป็นวิดีโอใหม่ที่มีสตอรีตามต้องการด้วย promt ข้อความ เรียกว่า Memories โดยสามารถนำภาพหลาย ๆ ใบ หรือวิดีโอหลาย ๆ คลิป มารวมกันในการเจนฯ ได้ ขณะเดียวกันระบบก็จะแนะนำเพลงจาก Apple Music ที่เข้ากับวิดีโอนั้น ๆ ให้เลือกใส่เข้าไปในคลิปด้วย

Siri โฉมใหม่ เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เข้าใจภาษาที่เป็นธรรมชาติ

ตอนนี้ Siri รองรับการสั่งงานถามตอบเหมือนแช็ตบอตแล้ว สามารถเข้าใจภาษาที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และคำสั่งที่มีความซับซ้อนกว่าเดิม ความสามารถในการค้นหาสิ่งต่าง ๆ บนเครื่องยังได้รับอานิสงส์ไปด้วย เช่น การค้นหาภาพหรือวิดีโอในแอปรูปภาพ ก็สามารถพิมพ์หาด้วยภาษาแบบง่าย ๆ ได้ทันทีเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Siri โฉมใหม่)

เบื้องหลัง Apple Intelligence คือ ChatGPT ในอนาคตอาจมี Gemini

โมเดลเบื้องหลังที่ขับเคลื่อน Apple Intelligence คือ ChatGPT จาก OpenAI แต่ John Giannandrea รองประธานอาวุโสฝ่ายการ ML และ AI และ Craig Federighi รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของแอปเปิล ก็มีเปรยไว้ว่า Apple Intelligence อาจมีการผสานร่างกับโมเดล LLM จากค่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต โดยมีการยกตัวอย่าง Gemini ของ Google เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ฟีเจอร์บน iPhone, iPad และ Mac แต่ตอนนี้ยังโฟกัสเฉพาะ ChatGPT ต่อไปก่อน

รายชื่อ iPhone, iPad และ Mac รองรับ Apple Intelligence

แอปเปิลปล่อย Apple Intelligence ให้ใช้งานบน iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max ส่วนตระกูล iPad และ Mac ต้องเป็นรุ่นที่มีชิป M1 ขึ้นไป (ชิป M2, M3 หรือ M4 ก็ได้หมด) โดยการใช้งานต้องตั้งค่า Siri และภาษาตัวเครื่องเป็นภาษาอังกฤษแบบสหรัฐฯ ด้วย

  • iPhone 15 Pro
  • iPhone 15 Pro Max
  • iPad Air (ชิป M1 ขึ้นไป)
  • iPad Pro (ชิป M1 ขึ้นไป)
  • MacBook Air (ชิป M1 ขึ้นไป)
  • MacBook Pro (ชิป M1 ขึ้นไป)
  • Mac mini (ชิป M1 ขึ้นไป)
  • Mac Studio (ชิป M1 Max ขึ้นไป)
  • Mac Pro (ชิป M2 Ultra ขึ้นไป)
  • iMac (ชิป M1 ขึ้นไป)

ส่วนอุปกรณ์อื่นนอกเหนือจากนี้ และการรองรับภาษาไทย ต้องติดตามความคืบหน้าในภายหลัง