ช่วง Work from Home โต๊ะทำงานของใครหลาย ๆ คน น่าจะเละอยู่ไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ผมเองนี่แหละ จัดสิบรอบ เกลื่อนสิบรอบ จนล่าสุดเผลอทำน้ำเปล่าหกใส่ PC ที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน สร้างความประสาทกินได้ไม่น้อย จนถึงต้องโทรปรึกษา Call Center ทำให้เป็นที่มาของบทความเช็คอาการฮาร์ดแวร์ของ MacBook ฉบับเบื้องต้น ใช้งานได้จริง ไม่ต้องเข้าศูนย์ รองรับทั้งรุ่น Intel และ M1
แต่ต้องบอกก่อนว่าวิธีนี้จะใช้ได้เฉพาะกับ PC ที่เป็นของ Apple อย่าง iMac, MacBook Pro หรือ MacBook Air นะครับ รุ่นอื่น ๆ อย่าง Windows PC อันนี้อด ใครที่ไม่ได้ใช้ MacBook สามารถกดปิดบทความนี้ไปได้เลย หรือใครที่คิดว่ารู้เอาไว้ก็ไม่เสีย บางทีมันอาจจะเกิดขึ้นกับคนรอบข้างหรือตัวเราในอนาคต ก็รัดเข็มขัดให้แน่น ๆ แล้วมาหาคำตอบในบทความนี้ได้เลยครับ
วิธีรัน Apple Diagnostic เพื่อเช็คว่าฮาร์ดแวร์ด้านในมีปัญหา หรือทำงานผิดปกติหรือเปล่า
แรกเริ่ม บริษัทฯ ตั้งเคยชื่อ Apple Diagnostic ว่า Apple Hardware Test แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่หลักการใช้งานของทั้งสองถือว่าเหมือนกันเป๊ะ ๆ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างเลย และอย่างที่เกริ่นเอาไว้คร่าว ๆ บริการ Apple Diagnostics สามารถใช้งานเช็คสุขภาพภายในของตัวเครื่องทั้งเวอร์ชั่นชิป Apple Silicon หรือ Intel นะครับ สเต็ปขั้นตอนก็ง่าย ๆ ก็คือ
สำหรับ Mac รุ่น M1
- กดแช่ที่ปุ่ม Power จนกว่าโลโก้จะขึ้น > จากนั้นให้ปล่อยเมื่อมีหน้า Startup Options ขึ้นมา > กด Command + D พร้อมกัน > เลือกสัญญาณ WiFi > สามารถรันได้ทั้งแบบ Offline และ Online > รอผล
สำหรับ Mac รุ่น Intel
- กดปุ่ม Power จากนั้นรีบปล่อยออกแล้วไปกด D ค้างไว้ > เลือกภาษาที่ต้องการ > เลือกสัญญาณ WiFi > สามารถรันได้ทั้งแบบ Offline และ Online > รอผล
อีกเรื่องนึงคือ หากใช้ระบบปฏิบัติการ MacOS ของ Apple เวอร์ชั่น Beta จะยังไม่สามารถใช้ฟีเจอร์ Apple Diagnostic นะครับ ต้องดาวน์เกรดลงไปเป็นเวอร์ชั่นเก่าที่ Official และ Stable ก่อน
ถ้า Mac ของใครขึ้นตามภาพว่า No issuses found ก็ถือว่าเบาใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ายังวิตกกังวล อันนี้ผมแนะนำให้โทรหา Call-Center ของ Apple หรือนำ Mac ของเราไปที่ศูนย์ซ่อมที่ผ่านมาตรฐานของบริษัท หรือ Apple Store ทั้งสองสาขาในไทยครับผม
อ่านเพิ่มเติม: Apple
Comment