Asia Nikkei รายงานว่า Apple และ Intel สองยักษ์ใหญ่ของวงการเทคโนโลยีของโลกสัญชาติสหรัฐอเมริกา ขึ้นแท่นเตรียมเป็นสองเจ้าแรกที่ได้ใช้เทคโนโลยีสถาปัตยกรรมชิปเซ็ต 3 นาโนเมตรของ Taiwan Semiconductor Manafaturing Co. หรือ TSMC คาดทั้งสองจะเริ่มสั่งผลิตชิปที่ผลิตบนเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างไวสุดคือปีหน้า

TSMC ผู้ถือเครื่องจักรผลิตชิปเซ็ตให้กับลูกค้ารายใหญ่ ๆ อย่าง Qualcomm, Samsung, MediaTek หรือ Apple และ Intel ได้ออกมาเคลมว่า เทคโนโลยีชิปเซ็ตสถาปัตยกรรมขนาดจิ๋ว 3 นาโนเมตรนี้ จะมีประสิทธิภาพที่แรงขึ้นกว่าเดิม 10 – 15% และมีอัตราการประหยัดพลังงานที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมถึง 25 – 30% เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีชิปเซ็ต 5 นาโนเมตรในปัจจุบัน 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ในทางทฤษฎี ชิปตระกูล A Bionic ของ Apple ที่เตรียมผลิตบนเทคโนโลยีตัวใหม่ของ TSMC จะแรงกว่าตัวเดิมอย่าง A14 Bionic มากสุดถึง 15% และกินไฟน้อยลง 30% ซึ่งหากตัวเลขมันออกมาเป็นแบบนั้นจริง ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นการก้าวหน้าที่ไกลมาก ๆ เพราะปัจจุบัน ชิป A14 Bionic ที่ใช้ขับเคลื่อน iPhone 12 Series ก็จัดอยู่ในเกณฑ์ที่แรงมาก ๆ อยู่แล้ว

โดยแหล่งข่าวเผยว่า iPad น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของ Apple ที่ได้ใช้ชิปเซ็ตที่ผลิตบนสถาปัตยกรรม 3 นาโนเมตรนี้ไปขับเคลื่อนอุปกรณ์ ตัดหน้า iPhone และ MacBook อย่างไรก็ดี สำหรับ iPhone 13 Series ที่มีคิวจะเปิดตัวในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะยังคงใช้ชิปขนาด 4 นาโนเมตร (หรือไม่ก็ 5 นาโนเมตร) อยู่นะครับ เพราะกว่าชิป 3 นาโนเมตรจะเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบเป็นจำนวนมาก ก็ปาเข้าไปช่วงราว ๆ สิ้นปีหน้า 2022 เลยทีเดียว

ส่วน Intel ก็เตรียมจะนำชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม 3 นาโนเมตรที่ผลิตโดย TSMC ไปใช้กับโน้ตบุ๊คและเซิร์ฟเวอร์ Data Center ของตัวเอง เพื่อที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาด หรือ Market Share กลับมาจากคู่แข่งอย่าง AMD และ Nvidia มาให้ได้ โดยกระบวนการผลิตแบบจำนวนมาก จะเริ่มขึ้นช่วงสิ้นปีหน้าเช่นเดียวกัน

สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไม Intel ต้องพึ่งพา TSMC ด้วย ทั้ง ๆ ที่บริษัทฯ ก็มีโรงงานผลิตชิปเซ็ตเป็นของตัวเอง คำตอบก็คือ ตอนนี้พวกเขามีปัญหาผลิตชิปในโรงงานตัวเองไม่ทัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องใช้บริการของบริษัทฯ จากไต้หวันอย่าง TSMC นั่นเอง

โดย CEO ของ Intel อย่างคุณ Pat Gelsinger ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทฯ มอง TSMC ว่าเป็น Co-Opetition ซึ่งถือเป็นการรวมความหมายของคำว่า Cooperation (การร่วมมือ) และ Competition (การแข่งขัน) เข้าด้วยกัน

 

ที่มา: Asia Nikkei