จดหมายข่าว Power On ของเทพ Gurman แห่ง Bloomberg สัปดาห์นี้ พูดถึงประเด็นเรื่อง Apple Intelligence ใจความสำคัญคือ เจ้าตัวบอกว่า iOS 18 ตัวเต็มที่กำลังจะมาในเดือนกันยายน อาจมีฟีเจอร์ AI ให้ใช้งานแค่บางส่วน จากที่โปรโมตไว้เป็นสิบฟีเจอร์บนเวที WWDC24 ในขณะที่ฟีเจอร์อื่น ๆ ที่เหลือจะทยอยปล่อยออกมาภายในปี 2025 รวมถึง Siri โฉมใหม่ และการรองรับภาษาไทยก็ต้องรอลุ้นในช่วงปีหน้าด้วยเช่นกัน

ฟีเจอร์ Apple Intelligence อะไรบ้างที่มาปี 2024

  • Writing Tools – เครื่องมือช่วยเขียน ช่วยตรวจคำผิด ช่วยสรุปเนื้อหา
  • Priority Messages & Notification – ฟีเจอร์จัดลำดับความสำคัญและสรุปเนื้อหา สำหรับอีเมลและการแจ้งเตือน
  • Transcribe – ฟีเจอร์บันทึกเสียง พร้อมถอดเสียงเป็นข้อความ สำหรับการโทรศัพท์และบันทึกเสียง
  • Image Playground – เครื่องมือเจนฯ ภาพจาก promt ข้อความ รวมถึง Genmoji สำหรับสร้างอีโมจิ
  • Math Notes – ฟีเจอร์แก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่เขียนด้วยลายมือ

แม้ฟีเจอร์ข้างต้นเหล่านี้จะพร้อมใช้งานใน iOS 18 ตัวเต็ม แต่ตัวฟีเจอร์ Apple Intelligence เบื้องต้นยังมีสถานะเป็นเวอร์ชันพรีวิว กล่าวคือ บางฟังก์ชันอาจยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก และยังรองรับเฉพาะภาษาอังกฤษ (แบบสหรัฐฯ) เพียงภาษาเดียวเท่านั้น

ฟีเจอร์ Apple Intelligence อะไรบ้างที่มาปี 2025

ไฮไลต์ของปีหน้าจะอยู่ที่ Siri โฉมใหม่ ซึ่งถือเป็นแกนหลักของ Apple Intelligence จากความสามารถในการเข้าใจภาษาที่เป็นธรรมชาติ ประกอบกับความเข้าใจบริบท (context) ที่แตกต่างกันของผู้ใช้งานแต่ละราย ทำให้ Siri เวอร์ชันอัปเกรดสามารถทำงานแบบบูรณาการกับแอปต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งและหลากหลาย เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น จนของเดิมเทียบไม่ติด

ยกตัวอย่างการใช้งานบางส่วน เช่น เราสามารถถาม Siri ได้ว่า ‘เครื่องบินของแม่จะแลนดิงกี่โมง’ เป็นภาษาแบบบ้าน ๆ ที่มนุษย์คุยกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่ง Siri จะสามารถตอบได้ เพราะเข้าใจและรับรู้ว่าแม่ของเราคือใคร โดยอ้างอิงจากข้อมูลต่าง ๆ บนตัวอุปกรณ์ (ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เวลาจะคุยกับแช็ตบอต ต้องเน้นที่คีย์เวิร์ด เหมือนกำลังคุยกับหุ่นยนต์)

ซึ่งกรณีนี้จะครอบคลุมแบบกว้าง ๆ ไปถึงการสั่งงานทั่วไป และการค้นหาสิ่งต่าง ๆ บนเครื่องด้วยเช่นกัน หรืออีกตัวอย่างที่ Apple นำเสนอคือ บอกให้ Siri ตั้งนาฬิกาปลุก แต่พูดผิด ก็ไม่ต้องกดยกเลิกแล้วสั่งงานใหม่ แต่สามารถพูดต่อจากเดิมด้วยภาษาแบบปกติได้เลย

เทคนิคทยอยปลดล็อกฟีเจอร์ให้ใช้งานไปตามลำดับไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วงหลัง Google ก็ปรับมาใช้แนวทางนี้กับการออก Android QPR (Quarterly Platform Releases) โดยเปิดตัวนำเสนอฟีเจอร์ต่าง ๆ ในภาพรวมให้แฟน ๆ ดูกันก่อน จากนั้นค่อยอัปเดตให้ในภายหลังเป็นรายไตรมาส

แนวทางนี้จะช่วยให้วิศวกรทำงานง่ายขึ้น โดยสามารถโฟกัสกับแต่ละฟีเจอร์ และทำให้เสร็จไปเป็นอย่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ การที่ Apple เปิดใช้งานเฉพาะภาษาอังกฤษในช่วงแรก ยังช่วย Apple มีเวลามากขึ้นในการเทรนภาษาอื่น ๆ ให้ AI เพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้ไม่ใช่ของง่าย เวลาจึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจเลี่ยง ดังนั้นในฝั่งของผู้ใช้งาน คงทำอะไรไม่ได้นอกจากอดใจรออย่างเดียว จนกว่า Apple จะพร้อม

ที่มา : Bloomberg