คณะกรรมาธิการยุโรป (EU) เตรียมประกาศปรับเงิน Apple โทษฐานพยายามผูกขาดหน้าร้านค้า App Store ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ EU บังคับใช้กฎดังกล่าวกับบริษัทระดับ Big Tech โดยระบุสาเหตุว่า Apple ไม่ยอมทำตามกฎที่ให้ต้องอนุญาตให้นักพัฒนาแอป สามารถชี้ช่องทางดาวน์โหลดแอปนอกสโตร์ได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ชาร์จค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรมกับเหล่านักพัฒนา

ก่อนหน้านี้ Apple ก็ได้พยายามปรับตัวตามกฎใหม่ของ Digital Market Act มาโดยตลอด ทั้งการเปิดระบบให้ผู้ใช้งาน iPhone ในแถบ EU สามารถใช้งานร้านค้าแอปอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ App Store ได้ รวมถึงอนุญาตให้ดาวน์โหลดแอปโดยที่ไม่ผ่านสโตร์โดยตรง รวมถึงมีการหั่นราคาส่วนแบ่งจากรายได้การขายแอปบน App Store จาก 30% เหลือเพียงแต่ 17% แล้วก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตามทาง EU ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการคิดค่าธรรมเนียมเหล่านี้ ทำตามกฎ Digital Market Act อย่างถูกต้องรึเปล่า เพราะนอกจากระบบข้างต้นแล้ว Apple ตั้งได้ออกค่าธรรมเนียมในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Core Technology Fee” ที่เมื่อแอปมีผู้ใช้งานเกิน 1 ล้านคนแล้ว รายที่ 1 ล้าน 1 เป็นต้นไป Apple จะชาร์จเงินค่าติดตั้งครั้งแรกรายละ 50 เซนต์ หรือราว ๆ 18 บาท และถ้าใช้ระบบจ่ายเงินของ Apple นักพัฒนาจะถูกชาร์จค่าธรรมเนียมอีก 3% ต่อรายการด้วย

นักพัฒนาแอปหลายรายใน EU จึงได้ออกมาร้องว่า กฎค่าธรรมเนียมใหม่ของ Apple อาจจะทำให้เหล่านักพัฒนาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น จน EU ต้องเข้ามาตรวจสอบ Apple, Alphabet (บริษัทแม่ Google) และ Meta (บริษัทแม่ Facebook) ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั่นเอง

ทั้งนี้แหล่งข่าววงในที่ให้ข้อมูลกับ arstechnica ระบุว่า EU ได้เตรียมออกประกาศลงโทษ Apple ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตามคำตัดสินในครั้งนี้ ยังถือว่าเป็นการตัดสินขั้นต้นเท่านั้น ซึ่ง Apple ยังมีโอกาสปรับไปแก้ตัวเพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับของ EU ก่อนที่จะมีคำสั่งลงดาบอย่างเป็นทางการ

ซึ่งหากทาง EU พิจารณาว่า Apple ผิดจริง จะถูกสั่งลงโทษปรับเงินรายวันสูงสุดถึง 5% อิงจากมูลค่าการซื้อขายของบริษัททั่วโลกโดยเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งหากคำนวณเป็นตัวเลขก็อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 3.6 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ EU ยังอาจจะมีการประกาศลงโทษบริษัทอื่น ๆ อย่าง Google ที่พยายามเอื้อผลประโยชน์ไปที่ Play Store ซึ่งเป็นร้านค้าแอปของตนเอง ส่วน Meta ก็โดนเพ่งเล็งในเรื่องการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานมาใช้ในการยิงโฆษณาด้วย

ที่มา: arstechnica