สำหรับภายในงาน WWDC 2020 ที่ผ่านมา สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่เรื่องฟีเจอร์ใหม่บน iOS, iPadOS 14 หรือ macOS Big Sur แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของซีพียู Apple Silicon ที่ต่อไปนี้ซีพียูบน Mac ทุกเครื่องจะเปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรมเป็น ARM แทน X86 ของ Intel โดย Apple ลั่นว่าจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้ ARM ให้หมดภายใน 2 ปี และล่าสุดก็เพิ่งได้เปิดตัว Mac ที่ใช้ Apple M1 แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา

ซีพียู ARM และ X86 คืออะไร ?

เริ่มต้นด้วยซีพียู ARM กันก่อน โดยคำว่า ARM นี่จะย่อคำว่ามาจาก Advanced RISC Machine ซึ่งคำว่า RISC ก็ย่อมาจาก Reduced instruction set computing หรือก็คือซีพียูที่ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก ประหยัดไฟ และลดจำนวนชุดคำสั่งลง โดยคำสั่งแต่ละคำสั่งจะทำงานได้เพียงอย่างเดียว ถูกออกแบบมาใช้สำหรับอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก เช่น มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกมพกพา เครื่องนำทาง GPS เป็นต้น

ยกตัวอย่างชื่อซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM อันที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น Qualcomm Snapdragon, Mediatek, Exynos, Apple A และ Kirin ซึ่งทั้ง 5 ตัวนี้เป็นซีพียูที่อยู่บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เราใช้อยู่กันในปัจจุบันนี้นั่นเอง

ถัดมาดูซีพียู X86 กันบ้าง (อ่านว่า เอ็กซ์เอทตี้ซิก หรือ เอ็กซ์แปดหก) จริงๆ แล้วที่มาของคำว่า X86 นี้มาจากชื่อของไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นแรกๆ ของที่ Intel ที่จะลงท้ายด้วยเลข 86 เช่น 8086 80186 เป็นต้น ทำให้ทุกคนเรียกติดปากกันมาตั้งแต่สมัยก่อน (แม้ว่าจะมี X64 ของ AMD มาภายหลังก็ตาม) โดยสถาปัตยกรรมนี้ X86 นี้จะสามารถรับ 1 คำสั่งใช้งานได้หลายอย่างพร้อมกัน และมีความซับซ้อนมากกว่า ARM

โดยชุดคำสั่งของ X86 เป็นแบบ CISC หรือ Complex Instruction Set Computing ซึ่งซีพียูเหล่านี้จะอยู่บน PC, Notebook และเครื่องเซิร์ฟเวอร์กันเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันแบรนด์ซีพียู 2 เจ้าหลักของโลกที่ใช้สถาปัตยกรรมนี้อยู่คือ Intel และ AMD

สรุปก็คือทั้งซีพียูสถาปัตยกรรม X86 และ ARM ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป โดย ARM จะมีความได้เปรียบตรงที่สามารถพัฒนาให้มีกระบวนการผลิตด้วยซิลิคอนที่มีขนาดเล็กง่ายกว่า ประหยัดพลังงานกว่า ส่วน X86 จะเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้เปรียบเรื่องของการทำงานซับซ้อนที่สามารถทำได้ดีกว่า แต่ก็กินพลังงานมากกว่าด้วยนั่นเอง

ทำไม Apple ถึงเปลี่ยนจาก X86 (Intel) ไป ARM

สาเหตุที่ทาง Apple จะเปลี่ยนซีพียูบน Mac จาก X86 ไป ARM ในงาน WWDC 2020 Apple ให้เหตุผลว่าประสิทธิภาพของซีพียู Apple Silicon มีความแรงเพียงพอที่จะใช้งานบน Mac ได้แล้ว อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็น Ecosystem ใช้ซีพียู ARM เหมือนกันหมด ทั้ง iPhone iPad และ Mac หรือพูดง่ายๆ ก็คือบน Mac ที่ใช้ซีพียู ARM นั้นจะสามารถใช้แอปที่มีอยู่บน App Store ของ iPhone และ iPad มาพัฒนาใช้ร่วมกันได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง

ภายในงาน WWDC 2020 Apple ก็ได้เปิดตัว Mac mini ให้นักพัฒนาเช่ายืมกัน มีสเปคเป็นชิปเซ็ต A12Z Bionic , Ram 16GB และ SSD 512GB โดยมีราคาค่าเช่าอยู่ที่ 500 เหรียญ หรือประมาณ 15,000 บาท ซึ่งจะเปิดให้ยืมเฉพาะบางประเทศเท่านั้น พร้อมติดตั้ง macOS Big Sur ตัว Developer beta ที่ผู้เช่าสามารถเข้าถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องและฟอรัมนักพัฒนาได้ และต้องคืนเครื่องหลังจบโครงการ

โดยตัว Mac mini เองก็จะมีโปรแกรมเครื่องมือ Developer Toolkits สำหรับแปลงแอปต่างๆ บน iPhone และ iPad เพื่อพอร์ตมาลง Mac ได้ทันที ผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Catalyst

ซึ่งทาง Apple ก็ได้โชว์ความสามารถของเจ้า Mac mini ที่ใช้ซีพียู ARM นี้ได้อย่างลื่นไหลบนแอปต่างๆ รวมถึงโชว์การเล่นเกม Shadow of The Tomb Raider อีกด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าชิป A12Z Bionic ตัวนี้ไม่ธรรมดา (แต่ไม่ได้โชว์เฟรมเรทนะว่าได้เท่าไร)

โปรแกรมแอปต่างๆ ที่ใช้ X86 (Intel) อยู่ตอนนี้จะมีปัญหาไหม ?

ในเบื้องต้นตอนนี้ทาง Apple ระบุว่า มี 2 เจ้าบริษัทโปรแกรมยักษ์ใหญ่ที่เตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่แล้ว คือ Microsoft และ Adobe ทำให้ใครที่ใช้งานพวกโปรแกรม Office ต่างๆ อย่างเช่น Word, Excel, Power Point คงสบายใจกันได้ รวมถึงโปรแกรมทางฝังเครือ Adobe อย่าง Photoshop, Lightroom, illustater, Premiere Pro, After Effect ใครใช้อยู่ก็คงหายกังวลเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าหากไม่ใช่โปรแกรมของทั้งสองค่ายนี้ ทาง Apple ก็มีตัว Rosetta 2 ที่เป็นตัว Emulation ที่แปลงโค้ดที่โปรแกรมบน X86 ให้มารันบน ARM ได้ โดยจะแปลงโค้ดขณะกำลังติดตั้งได้ทันที ซึ่งในงาน WWDC 2020 ทางแอปเปิลสาธิตด้วยเกม Shadow of the Tomb Raider ที่ว่าสามารถเล่นได้ที่ความละเอียด 1080p โดยเป็นโค้ดที่ยังไม่ได้ติดตั้งหรือแปลงโค้ดมาก่อนล่วงหน้า รวมถึงโชว์การใช้งานโปรแกรม X86 อื่นๆ เช่น Photoshop ไฟล์รูป 5gb, final cut pro ตัดต่อ 4k 3 เลเยอร์ ก็สามารถใช้งานได้สบายๆ

อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

ขยายความอีกสักนิด ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง Apple ได้ทำการเปลี่ยนแปลงยกเครื่องใหญ่ขนาดนี้ เดิมทีเมื่อสิบกว่าปีก่อนทาง Apple ก็เคยย้ายจะสถาปัตยกรรมซีพียูจาก PowerPC เป็น X86 มาก่อนแล้ว ซึ่งก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี ผิดกับ Microsoft ที่พยายามดัน Surface ที่ใช้ซีพียู ARM บน Windows RT แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม จนปัจจุบันก็มี Surface Pro X ที่ใช้ซีพียู ARM เป็น Snapdragon SQ1 บน Windows 10 แต่อนาคตก็ยังดูไม่แน่ไม่นอนเท่าไรนัก

สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนว่าคือ Intel จะสูญเสียรายได้ไปมหาศาล เพราะจะเสียลูกค้าคนสำคัญอย่าง Apple ไปที่จะไม่ได้ส่งชิป X86 ให้กับ Apple แล้ว อีกทั้งนักพัฒนาต่างๆ คงจะหันมาสนใจการเขียนโปรแกรมที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM กันมากขึ้น เพราะสัดส่วนพวกอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ย่อมมีมากกว่า PC และ Notebook  ซึ่งต่อไปเขียนโปรแกรมบน ARM ครั้งเดียว สามารถนำมา Optimize ใช้ได้ทั้ง iPhone, iPad และ MacBook ถูกใจนักพัฒนาโปรแกรมกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามกว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นแบบเป็นชิ้นเป็นอันคงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ใครที่ใช้ Mac ซีพียู X86 อยู่ก็สบายใจได้ อย่างต่ำๆ ก็คือ 2 ปีตามที่ Apple ประกาศไว้ ซึ่งการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของ Apple ครั้งนี้ จะรุ่งหรือจะแป้ก ยังไงก็ต้องรอดูรีวิวการทดสอบต่างๆ ทั้ง MacBook Air, MacBook Pro 13 และ Mac mini ที่ใช้ Apple M1 เร็วๆ นี้ได้รู้กันแน่นอนครับ

 

อ้างอิง : WWDC2020, apple, Wiki (x86, ARM), educba, stackoverflow