สวัสดีเพื่อนสมาชิก Droidsans ทุกท่าน วันนี้จะมาแนะนำมือถือในตระกูล Zenfone 3 ของ ASUS อีกหนึ่งรุ่นในตลาด ชื่อของมันคือ Zenfone 3 Max มือถือสายอึด ใช้งานได้ยาวนาน ที่สร้างชื่อมาตั้งแต่สมัย Zenfone Max โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นรหัส ZC553KL ที่อัพเกรดสเปกจากรุ่นเดิม ZC520TL ซึ่งเปิดขายตอนเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรามาดูกันว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเดิมบ้างดีกว่า

 

สเปกของ ASUS Zenfone 3 Max

  • ชื่อและรหัสเครื่อง : Zenfone 3 Max (ZC553KL)

  • สัดส่วน : 151.4 x 76.24 x 8.3 มิลลิเมตร

  • น้ำหนัก : 175 กรัม

  • หน้าจอ : IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1080p HD (1080 x 1920)

  • เครือข่ายที่รองรับ:

    • 4G : FDD-LTE 800 / 850 / 900 / 1800 / 1900 / 2100 / 2700

    • 3G : WCDMA 850 / 900 / 1900 / 2100

    • 2G : GSM 850 / 900 / 1800 / 1900

  • SIM : 2 SIM แบบ 1 MicroSIM + 1 NanoSIM Dual Standby (ถาดซิม Hybrid)

  • CPU : Qualcomm® Snapdragon™ 430 Octa-Core 1.4 GHz, Cortex-A53

  • GPU : Adreno 505

  • RAM : 3GB LPDDR3

  • หน่วยความจำภายใน : 32GB รองรับ microSD card สูงสุด 128GB

  • กล้องหน้า : 8 ล้านพิกเซล f/2.2 aperture, 84˚ field of view

  • กล้องหลัง : 16 ล้านพิกเซล f/2.0 aperture, 1/3″ sensor พร้อม TriTech AF, แฟลช Dual-LED และมีกันสั่นแบบ EIS 3 แกนสำหรับการถ่ายวิดีโอ

  • แบตเตอรี่ : 4100mAh (ถอดเปลี่ยนเองไม่ได้)

  • OS : Android 6.0 Marshmallow พร้อม ZenUI 3.0

  • สแกนลายนิ้วมือ : มี

  • NFC : ไม่มี

  • OTG : มี

  • ไฟแจ้งเตือน: มี

  • เซ็นเซอร์และการเชื่อมต่ออื่นๆ:

    • GPS, A-GPS

    • Wi-Fi 802.11 b/g/n

    • Bluetooth 4.1

    • USB 2.0

    • หูฟัง 3.5 มิลลิเมตร

    • Proximity, Ambient light sensor, Hall sensor, Gyro sensor, Ecompass, Accelerator, Laser Sensor

  • สีที่มีให้เลือก : เทาดำ Titanium Gray, เงิน Glacier Silver, ชมพู Rose Gold, ทอง Sand Gold

asus-zenfone-3-max-colors.jpg

จุดที่ Zenfone 3 Max รุ่น ZC553KL แตกต่างจากรุ่นเดิม ZC520TL ได้แก่ หน้าจอที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 5.5 นิ้วความละเอียดที่เพิ่มขึ้นเป็น FHD ถัดมาในส่วนของชิปเซตก็ปรับเพิ่มเป็น Qualcomm® Snapdragon™ 430 สำหรับกล้องมีการปรับขึ้นทั้งกล้องหน้า 8MP และกล้องหลัง 16MP พร้อม Laser focus และกันสั่น EIS สำหรับการถ่ายวิดีโอด้วย

 

แกะกล่องกันก่อน

กล่องของ Zenfone 3 Max เป็นแบบแนวตั้ง ทำมาจากกระดาษ เหมือนๆกับกล้องมือถือทั่วไป การเปิดกล่องก็ต้องเปิดในแนวตั้ง โดยเอานิ้วดันตัวกล่องออกมาจากฝาปิดที่ล้อมรอบอยู่

asus-zenfone-3-max-review-unbox01.jpg

 

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องนั้นถือว่าให้มาครบสำหรับการใช้งานแบบพื้นฐาน โดยของที่มีมาให้ประกอบด้วย

  • ตัวเครื่อง Zenfone 3 Max

  • สาย USB

  • หัวชาร์จ Adaptor

  • เข็มจิ้มถาดซิม

  • สาย OTG

asus-zenfone-3-max-review-unbox02.jpg

 

หัวชาร์จ Adaptor นั้นจ่ายไฟที่ 5V===2A

asus-zenfone-3-max-review-unbox03.jpg

 

สาย OTG สำหรับต่ออุปกรณ์ USB หรือใช้ชาร์จแบตให้อุปกรณ์อื่นได้เหมือน Powerbank นั่นเอง

asus-zenfone-3-max-review-unbox04.jpg

 

เข็มจิ้มถาดซิมสไตล์ ASUS

asus-zenfone-3-max-review-unbox05.jpg

 

อุปกรณ์ในกล่องของ Zenfone 3 Max ก็ตามนี้นะครับ สิ่งที่ขาดไปคือหูฟัง smalltalk ที่ทาง ASUS ไม่ได้ให้มาด้วย เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่น่าจะมีหูฟังใช้ส่วนตัวกันอยู่แล้ว ทาง ASUS ก็เลยเอาออกเพื่อเป็นการลดต้นทุนในส่วนนี้ไป แต่ส่วนตัวผมว่าแถมมาให้มันครบๆน่าจะดีกว่านะ

 

งานออกแบบและวัสดุ

Zenfone 3 Max นั้นมาพร้อมกับหน้าจอ IPS ขนาด 5.5 ความละเอียด FHD ภาพที่ได้ถือว่ามีความคมชัด สีสันของภาพอาจจะไม่จัดจ้าน แต่ก็ถือว่าไม่จืด ความสว่างกำลังดี อย่างไรก็ตามถึงจะมีหน้าจอใหญ่ 5.5 นิ้ว แต่ตัวเครื่องถือว่าไม่ใหญ่อย่างที่คิด เพราะรุ่นนี้ทำขอบจอที่ได้ค่อนข้างบางเพียง 2.25 มม. โดยทาง ASUS เคลมว่ามีอัตราส่วน screen-to-body ratio ถึง 73% เลยทีเดียว จากการดูด้วยตาก็น่าจะเป็นตามนั้นนะครับ สำหรับวัสดุของตัวเครื่องนั้นเป็นโลหะ การจับถือถือว่าเข้ามือและรู้สึกได้ถึงความพรีเมียม แต่ผิวสัมผัสค่อนข้างลื่น ให้ระวังหลุดมือตกพื้นให้ดี

asus-zenfone-3-max-review-hardware01.jpg

 

ส่วนบนของหน้าจอจากซ้ายไปขวาประกอบด้วยกล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล, ลำโพงสนทนา และช่องเซ็นเซอร์ Proximity กับเซ็นเซอร์วัดแสง นอกจากนั้นด้านขวาสุดจะมีไฟแจ้งเตือน (Notification LED) ด้วย

asus-zenfone-3-max-review-hardware02.jpg

 

ส่วนล่างของหน้าจอจะมีปุ่มสัมผัสแบบ capacitive ครบ 3 ปุ่มตามมาตรฐานของมือถือ Android ได้แก่ Back, Home และ Recents

asus-zenfone-3-max-review-hardware03.jpg

 

ด้านล่างของตัวเครื่องจากซ้ายไปขวาประกอบด้วยรูไมโครโฟนสำหรับสนทนา, พอร์ต microUSB และลำโพงหลักของตัวเครื่อง จะเห็นว่าตำแหน่งลำโพงจะแตกต่างจาก Zenfone 3 Max รุ่นก่อนหน้านี้ที่อยู่ด้านหลังเครื่อง

asus-zenfone-3-max-review-hardware04.jpg

 

ด้านบนของตัวเครื่องประกอบด้วยช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และรูไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวน

asus-zenfone-3-max-review-hardware05.jpg

 

ด้านซ้ายของตัวเครื่องจะเป็นช่องสำหรับเก็บถาดซิม

asus-zenfone-3-max-review-hardware06.jpg

 

ด้านขวามีปุ่มปรับเสียงและปุ่ม Power โดยตัวปุ่มจะมีลายสะท้อนแสงและผิวสัมผัสจะขรุขระ เพื่อให้การสัมผัสรู้สึกแตกต่างนั่นเอง

asus-zenfone-3-max-review-hardware07.jpg

 

พลิกมาดูด้านหลังจะเห็นตัวเครื่องโลหะแบบเต็ม สัมผัสแล้วรู้สึกดีตามสไตล์มือถือแนวนี้อยู่แล้ว แต่ผิวสัมผัสนั้นลื่นพอสมควร ถ้าจับไม่มั่นอาจไหลออกมาจากมือได้ง่ายๆ ดังนั้นให้ระวังสักนิด

asus-zenfone-3-max-review-hardware08.jpg

 

ส่วนบนจะเป็นจุดรวมของ component ต่างๆทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้องหลัก 16MP มีไฟแฟลช Dual-LED อยู่ด้านซ้าย และ Laser focus อยู่ด้านขวา ส่วนด้านล่างเป็นบริเวณสำหรับสแกนลายนิ้วมือ

asus-zenfone-3-max-review-hardware09.jpg

 

ส่วนล่างไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากสกรีนโลโก้ ASUS สีดำ

asus-zenfone-3-max-review-hardware10.jpg

 

ลืมพูดถึงถาดซิมไปเลย เรามาดูถาดซิมของ Zenfone 3 Max กันสักนิดครับ

asus-zenfone-3-max-review-hardware11.jpg

 

ถาดซิมของ Zenfone 3 Max เป็นแบบ Hybrid โดย SIM1 เป็น MicroSIM และ SIM2 เป็น NanoSIM ซึ่งช่อง SIM2 นั้นจะเป็นช่องใส่ microSD card ด้วย แต่ต้องเลือกเอาว่าจะใส่ซิมหรือจะใส่การ์ดได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

asus-zenfone-3-max-review-hardware12.jpg

 

โดยรวมแล้ว Zenfone 3 Max มีการเลือกใช้วัสดุที่มีความพรีเมียมดี งานประกอบเนียนและแน่นหนา ขนาดตัวเครื่องก็ไม่ใหญ่มาก สามารถถือใช้งานได้ไม่ลำบาก แต่ผิวสัมผัสนั้นจะลื่นไปสักนิด ส่วนน้ำหนัก 173 กรัมก็ถือว่าพอตัว ไม่เบาแต่ก็ไม่หนักมาก เหตุผลที่มีน้ำหนักก็เพราะแบตเตอรี่ 4100mAh นั่นแหละ หน้าตาโดยรวมดูแล้วนึกถึง Zenfone 3 รุ่นปกติอยู่เหมือนกัน ถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเลย

 

ระบบซอฟต์แวร์ ZenUI 3.0

Zenfone 3 Max รุ่นนี้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow ที่มีการปรับแต่งหน้าตาและเพิ่มเติมฟีเจอร์ต่างๆแบบจัดเต็มเรียกว่า ZenUI โดยตอนนี้ก็เดินทางมาถึง ZenUI 3.0 เป็นที่เรียบร้อย หน้าตาของ ZenUI โดยรวมยังคงเอกลักษณ์แบบเดิมอยู่ รวมไปถึงแอปต่างๆที่แถมมาในเครื่องแบบจัดเต็มเช่นกัน

 

ZenUI Launcher

asus-zenfone-3-max-review-software01.jpg

สำหรับ Launcher ของ ZenUI นั้นมีการปรับหน้าตาแบบไม่เหลือเค้าของ Android เดิมเลย โดยจะมีการเน้นไอคอนสีสันฉูดฉาดและ wallpaper ก็เน้นสีเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่หายไปคือ App Drawer ที่ ASUS ยังเก็บไว้ให้ใช้งานได้เหมือนเดิม ไม่เหมือนกับมือถือจากผู้ผลิตจีนหลายยี่ห้อที่ตัด App Drawer ออกไป โดยในหน้า Launcher เราสามารถลากนิ้วจากบนลงล่าง เพื่อเปิดหน้า Search ค้นหาแอปและข้อมูลต่างๆในเครื่องได้ ถ้าลากนิ้วจากล่างขึ้นบนจะเป็นหน้า Manage Home ที่เอาไว้จัดการปรับแต่งหน้าตาของ Launcher ได้ ทั้ง Widget, Wallpaper, ไอคอน และ Theme รวมไปถึงการเข้าหน้า Settings ของระบบด้วย

asus-zenfone-3-max-review-software02.jpg

หน้า Search และหน้า Manage Home

Theme

asus-zenfone-3-max-review-software03.jpg

ZenUI นั้นสามารถเปลี่ยน Theme ได้ด้วยครับ ซึ่งก็มีทั้งแบบฟรีและแบบที่ต้องเสียตังค์ซื้อ โดย Theme นั้นจะเป็นการเปลี่ยนหน้าตาทั้งระบบเลย และเราสามารถสร้าง Theme ของตัวเองได้ด้วย จากรายการ Theme ที่มีให้เลือกต้องบอกว่า มีหลากหลายมาก และมีการจัดหมวดหมู่ชัดเจน ถ้าใครไม่อยากเสียตังค์ก็มี Free Theme ให้เลือกกันไม่หวาดไม่ไหวแล้วล่ะครับ มาดูตัวอย่าง Theme กันดีกว่า

asus-zenfone-3-max-review-software04.jpg

Captain Octopus

 

asus-zenfone-3-max-review-software05.jpg

Zenny’s Adventure in Thailand

 
 

asus-zenfone-3-max-review-software06.jpg

Polar Friends

 

ASUS Apps

ASUS ใส่แอปมาให้เยอะเลยใน ZenUI 3.0 ซึ่งผมว่ามันมากจนเกินไป แอปบางอย่างเราก็ไม่ได้ใช้ แถมยังเอาออกจากเครื่องไม่ได้อีก แบบนี้เรียกว่า bloatware ครับ ลองดูตัวอย่างแอปที่แถมมาได้ ดังนั้นผมขอพูดเฉพาะแอปที่สำคัญและคิดว่าเราจะได้ใช้งานดีกว่า

asus-zenfone-3-max-review-software07.jpg

 

Mobile Manager

เป็นศูนย์รวมการจัดการเครื่องทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการลบไฟล์ขยะในเครื่อง, การเคลียร์หน่วยความจำ, ระบบประหยัดพลังงาน, ตรวจการใช้งานอินเตอร์เน็ต และการรักษาความปลอดภัยต่างๆภายในเครื่อง

asus-zenfone-3-max-review-software08.jpg

 

แต่มีอยู่ฟีเจอร์หนึ่งของ Mobile Manager ที่ควรจะรู้ไว้คือ Auto-start Manager ซึ่งจะเป็นการบล็อคไม่ให้แอปบางแอปตื่นขึ้นมาทำงานได้ ข้อเสียของมันคือ ถ้าแอปไม่ตื่นเราก็จะไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากแอปนั้นๆเลย ดังนั้นถ้าสังเกตเห็นว่า แอปไหนที่มันควรแจ้งเตือนแล้วมันไม่แจ้งนี่ให้มาเช็คใน Auto-start manager เลยครับว่าโดนบล็อคอยู่หรือเปล่า โดยเฉพาะแอปจำพวก Social ทั้งหลายแหล่ เดี๋ยวจะเกิดปัญหาภายในครอบครัวได้ จะหาว่าไม่เตือน อิอิ

asus-zenfone-3-max-review-software09.jpg

 

Game Genie

เป็นฟีเจอร์ที่ทำมาเพื่อคนเล่นเกมโดยเฉพาะ โดยเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องระหว่างเล่นเกมได้ด้วย Speed booster รวมถึงสามารถดูวิธีและเทคนิคการเล่นให้ชนะได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

asus-zenfone-3-max-review-software10.jpg

 

ในระหว่างที่เราเล่นเกมจะมีรูปจอยเกมสีแดงลอยอยู่บนหน้าจอ นั่นคือ Game Genie ครับ ถ้าเรากดที่รูปจอยสีแดงก็มีเมนูขึ้นให้เลือกว่าจะทำอะไร จะเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกมโดยการเคลียร์ RAM, อัดวิดีโอการเล่นเกมของเราเก็บไว้หรือถ่ายทอดสดขึ้น Youtube ก็ได้ นอกจานั้นก็ยังสามารถค้นหาข้อมูลวิธีการเล่นเกมได้ด้วย

asus-zenfone-3-max-review-software11.jpg

 

ในส่วนของการค้นหาวิธีการเล่น นอกจากจะมีหน้าเว็บให้อ่านข้อมูลแล้ว ยังมีวิดีโอแนะนำวิธีการเล่นของเกมนั้นๆตั้งแต่ต้นจนจบเลยด้วย

asus-zenfone-3-max-review-software12.jpg

 
 

ประสิทธิภาพและความอึดของแบตเตอรี่

Zenfone 3 Max มาพร้อมกับชิปเซต Qualcomm Snapdragon 430 รุ่นล่าสุดสำหรับมือถือราคาประหยัด โดยใช้ GPU เป็น Adreno 505 ในส่วนของ RAM ให้มา 3GB ซึ่งจากการใช้งานโดยรวมถือว่าเร็วลื่นไหลเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป การสลับแอปทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีอาการสะดุดให้เห็น จะมีเพียงบางครั้งที่ภาพเคลื่อนไหวบางจุดจะดูช้าลง แต่ก็ไม่กระตุกแต่อย่างใด ในส่วนการเล่นเกมก็เล่นได้สบาย แต่แน่นอนว่าเกมกราฟฟิกหนักๆก็ต้องปิดรายละเอียดบางอย่างถึงจะลื่นนะครับสำหรับชิปเซตระดับนี้ สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอป Benchmark ได้ผลคะแนนดังนี้

asus-zenfone-3-max-review-performance01.jpg

Antutu Benchmark

 

asus-zenfone-3-max-review-performance02.jpg

Geekbench 4 : CPU

 

asus-zenfone-3-max-review-performance03.jpg

Geekbench 4 : GPU

 

สำหรับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ 4100mAh ซึ่งถือเป็นจุดเด่นจุดขายของมือถือตระกูล Max ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ผมสามารถใช้งาน Zenfone 3 Max ได้โดยไม่ต้องชาร์จทุกวัน โดยเฉลี่ยการชาร์จหนึ่งรอบจะสามารถใช้งานได้ 1.5 – 2 วันเลยทีเดียว อย่างน้อย Screen-on time ของมือถือรุ่นนี้ไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมงแน่นอนครับ สำหรับคนชอบมือถือแบตอึดรุ่นนี้ตอบโจทย์ ไม่ต้องห่วงเลย

asus-zenfone-3-max-review-performance04.jpg

 

จุดติอย่างเดียวในเรื่องแบตเตอรี่คงจะเป็นเรื่องความเร็วในการชาร์จครับ เพราะกว่าจะชาร์จเต็ม 1 รอบต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และถึงแม้ชิปเซต Snapdragon 430 จะรองรับ Quick Charge 3.0 แต่ผมลองเอา Adaptor ที่เป็น Quick Charge 3.0 มาเสียบแล้วก็ไม่ได้ชาร์จเร็วขึ้นแต่อย่างใด น่าจะเป็นทาง ASUS เองที่ไม่ได้เปิดฟีเจอร์นี้มาให้ครับ

asus-zenfone-3-max-review-performance05.jpg

 
 

กล้องและคุณภาพรูปถ่าย

Zenfone 3 Max ให้กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซลมา โดยมีขนาดเซ็นเซอร์ 1/3″ ค่า f/2.0 aperture และระบบโฟกัส TriTech AF ที่ผสมผสานเทคโนโลยีการโฟกัสสามแบบให้เป็นหนึ่งเดียวกัน คือ Laser focus, Phase detection และ Continuous AF ส่งผลให้ได้การโฟกัสที่ชัดเจนในเวลาเพียง 0.03 วินาทีเท่านั้น ซึ่งจากการใช้งานพบว่าโฟกสได้เร็วจริง ความเร็วชัตเตอร์ก็ทำได้ดี กดปุ๊บถ่ายปั๊บ แต่ความเร็วเหล่านี้จะลดลงตอนถ่ายในสภาพแสงน้อยหรือมืดหน่อย รวมไปถึงคุณภาพของรูปถ่ายด้วยเช่นกัน หน้าตา UI ของกล้องเป็นแบบนี้ครับ

asus-zenfone-3-max-review-camera01.jpg

 

โหมดกล้องก็มีให้เล่นกันแบบจุใจเลยครับ ทั้ง Manual, HDR, Beautification, Super Resolution, Low Light, Panorama และอีกมากมาย เรียกว่าถ่ายได้สนุกแน่นอน

asus-zenfone-3-max-review-camera02.jpg

 

ขอพูดถึงโหมด Manual สักหน่อยเพราะสามารถปรับค่าได้หลายอย่างและสเกลค่อนข้างละเอียด เหมาะกับคนที่ชอบปรับค่าในการถ่ายรูปเองมากๆครับ อย่างเช่น Shutter speed ปรับได้ตั้งแต่ 1/1000 ถึง 20 วินาทีเลยทีเดียว ส่วน WB ก็ปรับได้ตั้งแต่ 2500K – 6500K มือถือราคาไม่ถึงหมื่นปรับได้ขนาดนี้เลย

asus-zenfone-3-max-review-camera03.jpg

 

สำหรับคุณภาพของรูปถ่ายจากกล้อง 16MP เลนส์ f/2.0 ถือว่าทำได้ดีในตอนที่สภาพแสงเพียงพอ ภาพมีรายละเอียดที่ดีทั้งภาพถ่ายวิวและภาพมาโคร สีสันที่ได้มีความแม่นยำ แต่ความคมชัดของภาพน่าจะดีกว่านี้อีกนิดนึง ตอนนี้ดูเหมือนยังคมไม่สุด ส่วนการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยหรือตอนกลางคืนในโหมด Auto นั้นมือต้องนิ่งจริงๆ ส่วนความเร็วของการโฟกัสและชัตเตอร์จะ drop ลงชัดเจน ภาพที่ได้ก็มี Noise ขึ้นชัดเจนเช่นกัน ต้องเปลี่ยนเป็นโหมด Low light หรือ Night เพื่อจะถ่ายได้เร็วขึ้นและเนียนขึ้น แต่ความละเอียดของภาพจะลดลงเหลือ 3MP เท่านั้น

 

HDR

 

ภาพกลางคืน

Normal

Low Light

 

สำหรับกล้องหน้าความละเอียด 8MP ก็ถือว่าทำได้ดีในการถ่ายรูป Selfie มีโหมด Beautification ทำหน้าเนียน หน้าตอบ หน้าขาว สามารถปรับได้แบบละเอียดตามใจชอบเลยครับ ตรงนี้เชื่อว่าถูกใจสาวๆขา Selfie แน่นอน

asus-zenfone-3-max-review-camera04.jpg

 

Normal

 

Beautification

 
 

บทสรุป

Zenfone 3 Max (ZC553KL) รุ่นนี้ถือว่าเป็นมือถือไม่ได้มีแค่เรื่องแบตอึดอีกต่อไป ด้วยงานออกแบบและวัสดุที่ทำให้มือถือมีความพรีเมียมหรูหรามากขึ้น ขอบหน้าจอที่บางทำให้ขนาดมือถือไม่ใหญ่จับถือได้ง่าย หน้าจอที่คมชัดและกล้องที่ถ่ายได้สนุก ประสิทธิภาพของตัวเครื่องโดยรวมก็ถือว่าดี ใช้งานทั่วไปได้ลื่นไหล RAM 3GB นั้นถือว่าเป็นขั้นต่ำสำหรับมือถือในยุคปัจจุบันไปแล้ว ส่วนเรื่องแบตเตอรี่ที่เป็นจุดขายก็เอาอยู่ ไม่ทำให้ผิดหวัง ใช้งานได้ 1.5-2 วันต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

asus-zenfone-3-max-review-end.jpg

จุดที่ควรปรับปรุงสำหรับมือถือรุ่นนี้น่าจะเป็นเรื่องแอป bloatware ที่ใส่มาค่อนข้างเยอะ แถมไม่ได้ใช้ก็เอาออกไม่ได้ด้วย ส่วนแบตเตอรี่ถึงจะอึดจริง แต่ก็ชาร์จได้ช้ามากอย่างน้อย 3 ชั่วโมงถึงจะเต็ม และกล้องเองถ้าถ่ายในที่แสงน้อยนั้น ความเร็วการโฟกัสและความเร็วชัดเตอร์จะช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ภาพก็มี Noise ค่อนข้างเยอะทีเดียว

 

Zenfone 3 Max (ZC553KL) จะวางจำหน่ายกลางเดือนธันวาคมนี้ในราคา 7,990 บาท ส่วนจะมาครบทุกสีมั้ยรอดูกันอีกที โดยส่วนตัวหลังจากรีวิวแล้วผมว่าน่าซื้อแม้สเปกอาจจะดูว่าราคาถูกได้กว่านี้ถ้าเทียบกับคู่แข่ง แต่จากประสบการณ์ใช้งานโดยรวมและความอึดของแบตเตอรี่ทำให้มือถือรุ่นนี้มีจุดเด่นมากกว่าหลายรุ่น อย่างไรก็ตามให้ลองเอาจุดที่ต้องปรับปรุงที่ผมเขียนไว้ด้านบนไว้พิจารณาด้วยว่าโอเคมั้ย สำหรับวันนี้ผมขอลาไปก่อนสวัสดีครับ

asus-zenfone-3-max-review-end2.jpg