สวัสดีครับเพื่อนสมาชิก Droidsans ทุกท่าน คราวนี้มีโอกาสได้มารีวิว Android Wear ให้เพื่อนสมาชิกได้อ่านกันบ้าง โดยเราจะมาทำความรู้จักกับ ASUS ZenWatch นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ หรือ smartwatch ตัวแรกจาก ASUS ด้วยวัสดุที่เลือกใช้และความปราณีตในงานออกแบบ จึงทำให้ ZenWatch นั้นเป็น smartwatch ที่ดูเหมือนและใกล้เคียงกับนาฬิกาข้อมือหรูๆสักเรือนหนึ่งจริงๆ และตอนนี้ทาง ASUS เองก็ เพิ่งจะเปิดตัว ZenWatch 2 ไปหมาดๆ ดังนั้นการได้รู้ละเอียดของรุ่นแรกก็พอจะทำให้เรารู้สิ่งที่ ASUS วางรากฐานเอาไว้สำหรับตลาด Android Wear ในอนาคตด้วย ลองมาดูรายละเอียดกันเลย

บรรทัดนี้ขอขอบคุณเจ้าของเครื่องผู้ใจดีไม่ประสงค์ออกนามที่อุตส่าห์ให้ผมได้ยืมเจ้า ZenWatch มาลองเล่นและทำรีวิวให้สมาชิกได้อ่านกันวันนี้ด้วย ขอบคุณมากครับ ^_^

 

นับตั้งแต่วันแรกที่มีการเปิดตัว Android Wear ออกสู่สายตาสาธารณชนเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2014 กลุ่มผู้สนใจ Android Wear นั้นก็แยกออกเป็น 2 กลุ่มทันที กลุ่มแรกคือ กลุ่ม “หน้ากลม” ที่ชื่นชอบหน้าปัดแบบวงกลมของ Android Wear ซึ่งในขณะนั้นมีเพียง Moto 360 และ LG G Watch R ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่ม “หน้าเหลี่ยม” ที่ชื่นชอบหน้าปัดแบบสี่เหลี่ยม ได้แก่ LG G Watch, Samsung Gear Live และ Sony SmartWatch 3 ซึ่งแต่ละแบบก็มีส่วนดีส่วนเสียต่างกันไป แต่ถ้าว่ากันเรื่อง design แล้ว Moto 360 ได้รับเสียงโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า เป็น Android Wear ที่ออกแบบมาได้ดูดีมากที่สุด และแล้ว ASUS ZenWatch ก็ออกมาท้าชิงตำแหน่งนั้น

จากรูปหากพูดกันตรงๆ Android Wear ที่ดูดีที่สุดในปี 2014 คงจะหนีไม่พ้น ASUS ZenWatch และแม้ในปีนี้จะมี LG Watch Urbane ออกมาเกทับเรื่องงานออกแบบและความพรีเมียมเป็นที่เรียบร้อย แต่ด้วยราคาและความคุ้มค่า ASUS ZenWatch ยังคงอยู่ในกลุ่ม Android Wear ที่น่าซื้ออยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

 

แกะกล่องกันซะก่อน

สำหรับกล่องของ ASUS ZenWatch นั้นถือว่าทำออกมาได้พรีเมียมสมกับงานออกแบบของตัวเครื่องเลยครับ กล่องทำจากกระดาษแข็งแต่อัดมาดีมาก การออกแบบกล่องเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสผิวกึ่งมันกึ่งด้าน จับแล้วรู้สึกดี

ZenWatch-Unbox-01.jpg

 

การแกะกล่องจะยากสักนักนิด เพราะฝากล่องไม่ได้เว้นช่องให้จับกล่องด้านในเพื่อดึงออกมาได้ ต้องอาศัยน้ำหนักในกล่องดันออกหรือเขย่าๆเพื่อให้มันค่อยๆไหลออกมาครับ แต่พอเปิดฝาได้เราก็ได้เห็นตัว ZenWatch นอนอยู่ในกล่องแบบนี้เลยครับ

ZenWatch-Unbox-02.jpg

 

สำหรับอุปกรณ์ทั้งหมดที่มีให้ในกล่องจะประกอบด้วยตัว ZenWatch, Adapter, สาย USB และ แท่นชาร์จ

ZenWatch-Unbox-03.jpg

 

หน้าตาของแท่นชาร์จก็เป็นแบบนี้ครับ โดยจะใช้เสียบกับสาย USB เพื่อชาร์จตัวนาฬิกาหรือ sync ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์อีกที เวลาชาร์จตัวแท่นจะจ่ายไฟ 5V 0.5A

ZenWatch-Unbox-04.jpg

 

ตัว Adapter จะจ่ายไฟที่ 5.2V 1.35A แต่พอเสียบเข้าแท่นชาร์จก็ออกตามของแท่นชาร์จอยู่ดี อันนี้ให้เผื่อเฉยๆ

ZenWatch-Unbox-05.jpg

 

เวลาเอาแท่นชาร์จ ประกบเข้ากับตัวนาฬิกาก็จะเป็นประมาณนี้ หมดสวยเลย

ZenWatch-Unbox-06.jpg

 

งานออกแบบระดับพรีเมียม

ผมสะดุดตากับเจ้า ZenWatch ตั้งแต่ตอนเปิดตัวครั้งแรกในงาน IFA 2014 แล้ว เพราะเป็น Android Wear ที่ทำออกมาได้ดูเหมือนนาฬิกาข้อมือจริงๆ ไม่ดูเหมือนพวก Smartband ที่เป็นสายรัดข้อมือใส่ออกกำลังกายหรือดูเหมือนนาฬิกาของเล่นอย่างที่หลายๆยี่ห้อทำ ยิ่งพอได้ลองสัมผัสตัวเครื่องจริงๆแล้วต้องบอกว่า ไม่ผิดหวังจริงๆ ถึงแม้หน้าปัดของ ZenWatch จะเป็นแบบสี่เหลี่ยม ไม่ตรงสเปกส่วนตัวที่ชอบแบบวงกลมมากกว่า แต่วัสดุที่เลือกใช้และงานประกอบที่ยอดเยี่ยมทำให้มันดูโดดเด่นมาก

ZenWatch-Design-01

 

ด้วยตัวเครื่องที่ทำจากเหล็กสแตนเลส 100% รวมทั้งขอบด้านข้างรอบตัวเครื่องก็เป็นสแตนเลสเช่นเดียวกัน แต่อบสีด้วยสีส้มทอง เข้ากับสายนาฬิกาที่เป็นหนังแท้ยิ่งนัก และตัวเครื่องก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากสักเท่าไหร่ทำให้เวลาไส่ที่ข้อมือแล้วรู้สึกสบายเหมือนใส่นาฬิกาทั่วไป ตัวหน้าปัดของ ZenWatch อาจจะดูใหญ่ไปสักนิดแต่ไม่มากครับ ใส่แล้วยังพอดูเป็นนาฬิกาข้อมือทั่วไปได้อยู่

ZenWatch-Design-02.jpg

 

ลองมาตัวสายกันชัดๆอีกที จะมีตัวหนังสือสลักไว้ชัดเจนว่า “GENUINE LEATHER” หรือหนังแท้นั่นเอง ที่เห็นทางซ้ายตรงส่วนที่ติดตัวเครื่องจะเห็นตัวล็อคสาย อันนี้ทีเด็ดเลย เอาไว้ถอดสายเปลี่ยนซึ่งเปลี่ยนง่ายมาก ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรทั้งสิ้น

ZenWatch-Design-03.jpg

 

ด้านหลังของตัวเรือนจะมีตัวหนังสืออยู่ระบุสรรพคุณต่างๆ ซึ่งดูแล้วน่าจะลอกออกได้ง่ายพอสมควร ด้านซ้ายจะเป็นปุ่ม Power เอาไว้เปิดปิดนาฬิกา ถ้าบังเอิญเครื่องแฮงค์อะไรแบบนี้ และด้านล่างจะเป็นขั้วเอาไว้ต่อกับแท่นชาร์จนั่นเอง

ZenWatch-Design-04.jpg

 

ตัวสายสามารถปรับขนาดให้เหมาะกับข้อมือของเราได้แบบง่ายๆ ตามรูที่เตรียมไว้ให้ได้เลย

ZenWatch-Design-05.jpg

 

เวลาคล้องข้อมือเสร็จก็มีตัวสลักล็อคไว้ให้เรียบร้อย ไม่ใช่สายคาดตามรูเหมือนนาฬิกาทั่วไป

ZenWatch-Design-06.jpg

 

โดยส่วนตัวชอบตัวล็อคแบบนี้มาก มันดูดี ใช้ง่าย แล้วก็ไม่ทำให้สายหนังเสื่อมเร็วด้วยครับ

ZenWatch-Design-07.jpg

 

[Updated] เพิ่มเติมข้อมูลเรื่องตำแหน่งของเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ทักท้วงมาครับ

 

แวะมาดูสเปกกันก่อน

ZenWatch นั้นมาพร้อมกับสเปกตามมาตรฐานของ Android Wear ทั่วไป ทั้งในเรื่องหน้าจอและสเปกอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ ZenWatch ดูน่าสนใจกว่า Android Wear ตัวอื่นๆคงเป็นเรื่องงานออกแบบและวัสดุที่ใช้นั่นเอง

  • ชื่อและรหัส: ASUS ZenWatch (WI500Q)

  • น้ำหนัก: 75 กรัม

  • สัดส่วน: 50.6 x 39.8 x 7.9-9.4 มิลลิเมตร

  • แบตเตอรี่: 360 mAh

  • หน้าจอ: ขนาด 1.63 นิ้ว แบบ AMOLED

  • OS: Android 5.1.1 Lollipop

  • CPU: Snapdragon 400 ความเร็ว 1.2GHz

  • RAM: 512MB

  • ความจุ: 4GB

  • มาตรฐานการกันน้ำ: IP55

  • การเชื่อมต่อ: Bluetooth 4.1

  • เซ็นเซอร์ต่างๆ:

    • เซ็นเซอร์แบบรวม 9 แกน (Accelerometer, Magnetometer, Gyroscope)

    • เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ

    • ไมโครโฟน

 

ซอฟแวร์ของ ZenWatch

สำหรับซอฟแวร์ของ ZenWatch นั้นเป็น Android Wear มาตรฐานอยู่แล้ว โดยล่าสุดเพิ่งจะได้รับอัพเดต Android 5.1.1 เป็ที่เรียบร้อย ซึ่งนับเป็น Android Wear รุ่นที่สองที่ได้อัพเดตใหม่นี้ต่อจาก LG Watch Urbane สำหรับการใช้งาน Android Wear ขั้นพื้นฐานนั้น น้อง Akexorcist เขียนเอาไว้ครอบคลุมดีแล้วที่ บทความนี้ ผมขออ้างอิงไปเลยละกันครับ ส่วนที่ผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติมเป็นส่วนเสริมและ companion app ต่างๆที่ ASUS เพิ่มเติมมาให้จาก Android Wear มาตรฐานมากกว่า เรามาเริ่มกันเลย

 

ZenWatch Manager

เป็นแอพหลักที่เป็นศูนย์รวมความสามารถต่างๆที่ ASUS เสริมมาให้เราใช้กับ ZenWatch โดยอย่างแรกที่จะเห็นเลยเวลาเปิดแอพมาคือ เข็มนาฬิกาบอกเวลาและแบตเตอรี่ของนาฬิกาเหลืออยู่เท่าไหร่ ถัดลงมาเป็นส่วนของ FoneHelper ที่เป็นฟีเจอร์เสริมให้ตัวนาฬิกาดังนี้

  • Unlock my phone: ส่วนนี้จะการใช้ฟีเจอร์ Trusted devices ของ Android Lollipop คือ ถ้าเราตั้งค่าล็อคหน้าจอด้วยรหัสตัวเลขหรือการลากเส้นไว้ก็ตาม เราสามารถเลือกให้ ZenWatch เป็นอุปกรณ์ที่ไว้วางใจ เวลามือถือต่อกับ ZenWatch ก็จะสามารถข้ามรหัสล็อคหน้าจอไปได้เลยโดยไม่ต้องใส่รหัสใดๆ ทำให้สะดวกมากขึ้นเวลาปลดล็อคมือถือ และเมื่อเวลาเราห่างมือถือไปไกล เช่นวางไว้บนโต๊ะ ก็ยังสามารถล็อครหัสไว้ได้เหมือนเดิม โดยคนอื่นมาใช้งานไม่ได้

  • Cover to mute: เวลามีการเตือนสายเรียกเข้าหรือนาฬิกาปลุกเตือนบนนาฬิกา เราสามารถเอามือวางบนหน้าปัดเพื่อหยุดเตือนได้

  • Find my watch: เวลาถอดนาฬิกาไว้แล้วลืมว่าวางไว้ไหน สามารถกดที่มือถือเพื่อให้นาฬิกาสั่นเตือนขึ้นมาบอกตำแหน่งได้

  • Forgot phone warning: ให้นาฬิกาแจ้งเตือนเวลาเราวางมือถือไว้ แล้วลุกเดินไปโดยไม่หยิบมือถือไปด้วย

ZenWatch-Software-01.jpg

 

นอกจากความสามารถในส่วนของ FoneHelper แล้ว ZenWatch Manager ก็มีเครื่องมือเพิ่มเติมมาให้ใช้กันอีก อย่างแรกซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของ Android Wear เลยก็คือ Watch face ที่ให้เราสามารถเปลี่ยนรูปหน้าปัดนาฬิกาได้ตามใจชอบ โดย ASUS ได้เตรียม Watch face มาให้เราเลือกมากกว่า 20 แบบด้วยกัน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ Ease, Vivid, Precise, Instant และ Gear ซึ่งแต่ละแบบนั้นออกแบบมาได้อย่างสวยงามและพิถีพิถัน ใช้แบบไหนก็สวยสะดุดตา แต่พวก Gear นั้นจะเป็นภาพฟันเฟืองเคลื่อนไหวอยู่ด้านล่าง ตรงนี้จะทำให้กินแบตมากกขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเรายังรู้สึกไม่พอใจกับ Watch face ที่มีอยู่ ก็สามารถไป download เพิ่มเติมจาก Play Store ได้อีกด้วย

ZenWatch-Software-02.jpg

ZenWatch-Software-03.jpg

 

นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือให้ใช้อีก 3 อย่างคือ

  • Compass คือ การแสดงเข็มทิศบนหน้าปัดนาฬิกาแบบในรูป

ZenWatch-Software-04.jpg

  • Flashlight คือ ไฟฉายเอาไว้ส่องสว่างตอนมืด โดยจะเป็นการแสดงสีทึบสว่างบนหน้าปัดนาฬิกา เช่น แดง, เหลือง, น้ำเงิน แล้วแต่จะเลือก

ZenWatch-Software-05.jpg

  • SOS คือการส่งข้อความขอความช่วยเหลือไปยัง contact ที่เลือกเอาไว้ โดยเราต้องตั้งข้อความเตรียมไว้ก่อนบนมือถือ

ZenWatch-Software-06.jpg

 

นอกจากฟีเจอร์ที่กล่าวมาทั้งหมด ASUS ยังมี app ให้เราได้ใช้งานคู่กับ ZenWatch อีก 3 app โดยบางแอพก็มีประโยชน์ และบางแอพก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ดังนี้

  • ZenWatch Music: สามารถทำการ sync playlist จากแอพนี้เข้าไปในนาฬิกาแล้วกดเล่นเพลงได้จากนาฬิกา แต่ขอบอกว่าไม่ work อย่างแรง เพราะการ sync ผ่าน bluetooth นั้นทำได้ช้ามากๆ จนน่ารำคาญ

ZenWatch-Software-08.jpg

  • ZenWatch Wellness: แอพนี้เอาไว้เก็บข้อมูลการออกกำลังกาย,การเดิน และอัตราการเต้นของหัวใจเรา แล้วนำมาสร้างเป็นกราฟเพื่อวัดความผ่อนคลายหรือความสุขของเรา (Relaxation) ซึ่งผมว่าโดยรวมมันทับทางกับสิ่งที่ Google Fit ทำอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีเหตุผลอะไรที่จะมาใช้ของ ASUS

ZenWatch-Software-09.jpg

  • ZenWatch Camera: แอพจะทำให้ตัวหน้าปัดนาฬิกากลายเป็น viewfinder ของกล้องในมือถือ เอาไว้ใช้สำหรับการสั่งถ่ายรูปจากระยะไกล ซึ่งผมชอบมากเลยเพราะมีประโยชน์ดี รีโมทสั่งให้มือถือถ่ายรูปผ่านทางนาฬิกาได้เลย

ZenWatch-Software-10.jpg

 

โดยรวมแล้วการใช้ซอฟท์แวร์ของ ASUS ZenWatch นั้นจัดว่าดีถึงแม้จะมีบางอันดูไม่ค่อยมีประโยชน์มาก แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกให้ใช้ละกัน

 

ความอึดของแบตเตอรี่

จากการใช้งาน ZenWatch แบบทั่วไปคือ ดูเวลาเรื่อยๆ, อ่านการแจ้งเตือนต่างๆ และตอบข้อความบ้างเป็นบางครั้ง พบว่าด้วยแบตเตอรี่ขนาด 360 mAh ของ ZenWatch นั้นสามารถใช้งานได้เต็มวันแบบสบายๆ ถ้าไม่ชาร์จเลยก็น่าจะอยู่ได้เต็มที่ประมาณ 1 วันครึ่ง แต่เราควรจะชาร์จทุกวันตอนกลางคืน เพื่อให้เพียงพอสามารถใช้ในวันใหม่ทุกๆวันอยู่ดี เนื่องจากมันคงไม่สะดวกที่เราจะต้องไปถอดนาฬิกาชาร์จตอนกลางวันนะครับ

ZenWatch-Battery-01.jpg

 

สรุปส่งท้าย

ASUS นั้นถือว่าทำการบ้านได้ดีกับ Android Wear ตัวแรกของบริษัทที่สามารถตอบโจทย์คนใช้นาฬิกาได้ทั้งเรื่องของงานออกแบบและการใช้งานในฐานะ smartwatch ด้วยราคาที่ไม่แพง (6,xxx บาท) เมื่อเทียบกับราคาของ Moto 360 หรือ LG Watch Urbane แต่ได้มาซึ่งงานออกแบบและวัสดุที่ดูพรีเมียมสมกับเป็นนาฬิกาข้อมือ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกว่ารุ่นอื่นในความเห็นส่วนตัวของผมเอง น่าเสียดายที่ ASUS ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายชัดเจนนักในการนำอุปกรณ์ Android Wear เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย คงได้แต่หวังว่าอย่างน้อย ZenWatch 2 ก็น่าจะเอาเข้ามาลองตลาดในประเทศไทยเหมือนกันนะครับ ฝากไว้ด้วย