“Samsung ไม่ยอมซื้อ Android ตั้งแต่แรก ปล่อยให้ Google ได้ไป จนทุกวันนี้ต้องเปลี่ยนมาใช้ Android ของ Google”

หลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกับประโยคแนว ๆ นี้เป็นอย่างดี บางคนก็อาจจะคิดเช่นนี้เหมือนกัน หรือบางคนก็อาจจะได้ยินมาจากคนอื่นอีกที โดยประโยคดังกล่าวเกิดมาจากการที่ทีม Android ไปนำเสนอไอเดียให้กับ Samsung (รวมไปถึง Venture Capital เจ้าอื่นและบริษัทอย่าง Google และ HTC ด้วยเช่นกัน) แต่โดน Samsung หัวเราะเยาะใส่ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและปฏิเสธกลับมา จนกระทั่ง Google ได้เข้าซื้อทีม Android ในภายหลังและเป็นที่ยอดนิยมจนสุดท้าย Samsung ก็ยกเลิกการพัฒนา Mobile OS ของตัวเองแล้วเปลี่ยนมาใช้เป็น Android แทน

ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง​ อ้างอิงจากเนื้อหาในหนังสือ Android : The Team That Built The Android Operating System โดยหนังสือได้เล่าถึงเรื่องราวตอนที่เข้าไปประชุมกับพนักงานระดับ Manager ของ Samsung หลายสิบคน เพื่อนำเสนอไอเดียของ Android และหัวเราะเมื่อไรยินคำตอบว่าทีมพัฒนาที่กำลังสร้าง Android อยู่นั้นมีไม่ถึงสิบกว่าคน ในขณะที่ตอนนั้น Samsung มีคนมากถึง 300 คนที่ช่วยกันพัฒนา OS ของตัวเองอยู่

สามารถซื้ออ่านแบบออนไลน์กันได้ที่ Amazon หรือ Google Play Books

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นจุดผิดพลาดที่สำคัญของ Samsung ในตอนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำถามที่ชวนให้คิดต่อว่า “ถ้า Samsung เข้าซื้อ Android ในวันนั้น แล้ว Android จะอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างงั้นหรือ?”

จึงเป็นที่มาของบทความวิเคราะห์นี้เพื่อหาเหตุผลว่า “ที่ Android อยู่มาได้อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการเข้าซื้อของ Google ในวันนั้น” และ​ “ต่อให้ Samsung เข้าซื้อ Android แทนในวันนั้น ก็อาจจะไม่มี Android มาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้”

บทความนี้เป็นบทความเชิงวิเคราะห์จากความคิดเห็นของผู้เขียนประกอบกับข้อมูลจากหนังสือ Android : The Team That Built The Android Operating System ดังนั้นเนื้อหาในบทความนี้จึงเป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอย่างใด ถ้าผู้อ่านมีความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือแตกต่างกันอย่างไร ก็สามารถเข้ามา Comment เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับ

ในตอนนั้น Google ยังไม่ได้เข้ามาในตลาด Mobile OS และ Smartphone

Google ในปี 2004 ที่ยังไม่มี Product ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Smartphone (เป็นปีเดียวกันกับที่มีข่าวว่า Google กำลังซุ่มพัฒนา Google Chrome อยู่) ทำให้การเข้าซื้อ Android ถือว่าเป็นจังหวะที่กำลังลงตัว เพราะในสมัยนั้นตลาดเริ่มให้ความสนใจกับ Mobile Device อย่าง Smartphone เพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ Samsung ณ ตอนนั้นกำลังพัฒนา Mobile OS ของตัวเองอยู่แล้ว (ไม่ทราบว่าเป็น OS อะไรและเริ่มพัฒนาตั้งแต่เมื่อไร) จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปซื้อบริษัทใหม่ที่มี Product ทับซ้อนกับของตัวเอง

Google ทำให้ Android เป็น Mobile OS ที่เปิดให้นำไปใช้งานได้ฟรี

เดิมที Android ตั้งใจจะหารายได้จากการเก็บเงินจากผู้ใช้และผู้ให้บริการเครือข่ายที่ต้องการใช้บริการพิเศษบางส่วน แต่ว่า Google อยากจะให้ใช้งานได้ฟรี และกลายมาเป็นการหารายได้จากผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ต้องการใช้งาน Google Mobile Service หรือ GMS นั่นเอง

เพราะการเปิดให้นำไปใช้งานได้ฟรีและจ่ายเงินเพิ่มเมื่อต้องการใช้ GMS ทำให้ Android กลายเป็น Mobile OS ที่ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายได้ง่าย เมื่อเทียบกับวิธีการหารายได้แบบเดิมที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายไปตกอยู่กับผู้ใช้อย่างเรา

วิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างของ Google

ตอนที่ Google เข้าซื้อ ได้มีการยอมรับเงื่อนไขสำคัญจาก Android ทั้งหมด 2 ข้อด้วยกัน

  • เงินสนับสนุนการพัฒนาระบบของ Android
  • ไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายของ Android ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนแรก และจะไม่ทำให้ Android ถูกกลืนกินจนกลายเป็น Product ที่ถูกลืมในบริษัทใหญ่

และนอกจากนี้ตอนที่ Google เสนอเข้าซื้อก็ได้บอกกับ Android ในตอนนั้นว่า แทนที่จะทำข้อตกลงกับ VC แห่งอื่น แล้วต้องคอยทำตามความต้องการของพวกเขาเหล่านั้น มาเป็นส่วนหนึ่งของ Google แล้วมาทำให้ Android กลายเป็นสิ่งที่ทำได้มากกว่าที่เคยเป็นอยู่ในทุกวันนี้ดีกว่า

รวมไปถึงรูปแบบการหารายได้ของ Android ที่พูดถึงในหัวข้อก่อนหน้า นั่นก็เพราะว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจของ Google คือการสร้าง Partnership ร่วมกับผู้อื่นแล้วสร้างรายได้ไปด้วยกัน

Android ไม่ได้ออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ตอนแรก

Android ในช่วงที่กำลังหานักลงทุนอยู่นั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับ Product Prototype ใน Startup Company ทั่วไป ที่ยังไม่มีความสมบูรณ์มากพอจะใช้งานจริง แต่เพียงพอสำหรับการ Demo เพื่อใช้ประกอบกับการนำเสนอไอเดียถึงความเป็นไปได้ของ Android

ดังนั้นการพัฒนาระบบของ Android จึงถูกเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในตอนที่ถูกซื้อโดย Google และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของระบบในระหว่างนี้ จนกลายมาเป็น Mobile OS ที่มีความสมบูรณ์มากพอสำหรับการใช้งานจริง

สมาชิกทีม Android ส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่เคยทำด้านนี้มาก่อน

ตั้งแต่ตอนแรกที่สมาชิกทีมมีไม่ถึงสิบคน ไปจนถึงตอนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Google และสมาชิกทีมได้เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงหลักร้อยคน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยทำงานและมีความเชี่ยวชาญจากการทำงานด้านนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

  • DANGER บริษัทที่พัฒนาโทรศัพท์มือถือที่มี OS เป็นของตัวเองและก่อตั้งโดย Andy Rubin และเพื่อนอีก 2 คน ก่อนที่จะออกมาตั้งบริษัท Android
  • Be/PalmSource บริษัท Be Inc. ที่พัฒนา OS ของตัวเองที่ชื่อว่า BeOS และถูกซื้อโดย PalmSource ผู้สร้าง Palm OS ที่เป็น Mobile OS ชื่อดังในอดีตนั่นเอง
  • WebTV/Microsoft บริษัทที่สร้างอุปกรณ์และ Platform ของตัวเองเพื่อเปลี่ยน TV ให้กลายเป็น Computer ที่สามารถเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ โดยถูก Microsoft เข้าซื้อในภายหลัง

Palm OS หนึ่งใน Mobile OS ชื่อดังในอดีตก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของ Smartphone มาจนถึงทุกวันนี้ (ภาพจาก Wikipedia)

จึงทำให้ Android ถูกพัฒนาด้วยบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากการทำงานบริษัทในด้าน Hardware และ Operating System มาก่อน และบริษัทเหล่านั้นก็ตั้งอยู่ที่ Silicon Valley นั่นเอง

ไม่มีเหตุผลเพียงพอเพื่อให้ Samsung เข้าซื้อ Android

ถ้าไม่นับเรื่องการหัวเราะในที่ประชุมของ Samsung เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในตอนนั้นของ Samsung ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าซื้อ Android อยู่ดี เพราะ Samsung นั้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นของตลาดโทรศัพท์มือถือในตอนนั้นอยู่แล้ว รวมไปถึงมี OS เป็นของตัวเอง และมีบุคคลากรมากพอที่จะพัฒนา OS ตัวนั้นต่อไป

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองนึกภาพว่า “คุณมีร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีหลายสาขาทั่วโลกและมีสูตรก๋วยเตี๋ยวเป็นของตัวเอง และมีคนหลายร้อยคนช่วยกันพัฒนาสูตรก๋วยเตี๋ยวให้อร่อยยิ่งกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีความจำเป็นต้องซื้อบริษัทใหม่ที่บอกว่าสูตรก๋วยเตี๊ยวของเค้านั้นน่าสนใจ แต่กำลังพัฒนาอยู่ด้วยจำนวนคนไม่ถึง 10 คน”

รวมไปถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจก็แตกต่างกับวิธีของ Android ที่ดูเหมาะกับ Google มากกว่า จนทำให้ Samsung ต้องแพ้เกมนี้ไปและเปลี่ยนมาใช้ Android แทน ดังนั้นต่อให้ Samsung เข้าซื้อ Android ในวันนั้นผลลัพธ์ของ Android ก็อาจจะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้ก็เป็นได้

 

T-Mobile G1 หรือ HTC Dream ที่เป็นจุดกำเนิดของระบบปฏิบัติการณ์แอนดรอยด์มาจนถึงทุกวันนี้ (ภาพจาก GSMArena)

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลจากความคิดของผู้เขียนที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวว่า Android นั้นได้อยู่ถูกที่ถูกทางตั้งแต่แรกจึงกลายมาเป็น Android ได้อย่างในทุกวันนี้ และด้วยเหตุการณ์จาก Samsung ในวันนั้น ทำให้คำว่า “Dream” กลายมาเป็น Codename และชื่อรุ่นของอุปกรณ์แอนดรอยด์ตัวแรกสุดในชื่อ HTC Dream หรือ T-Mobile G1 นั่นเอง