เมื่อปีกลาย Corning และ LG ได้จับมือพัฒนาเทคโนโลยี “เลนส์เหลว” ขึ้นมา โดยการร่วมมือกันในครั้งนี้ ทั้งคู่ได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้รวมกัน 16 ฉบับ (ไม่นับสิทธิบัตรอื่น ๆ ก่อนหน้านี้อีกกว่า 100 ฉบับ ที่ LG เป็นผู้ถือครองเป็นส่วนใหญ่) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เลนส์เหลวจะถูกนำไปใช้งานกับสมาร์ทโฟน แต่จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดต่อสื่อต่างประเทศ Corning บอกว่า “จะนำไปใช้ในภาคการแพทย์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ”
Corning บอกกับ TheElec ว่า บริษัทฯ จะมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการนำเลนส์เหลวไปประยุกต์ใช้งาน โดยพิจารณาจากความสำเร็จในภาคการแพทย์และอุตสาหกรรม ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปใช้งานกับอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟนในอนาคตจึงไม่ได้เป็นศูนย์เสียทีเดียว (แม้จะไม่มีการเอ่ยถึงในครั้งนี้เลยก็ตาม)
ภาพจาก Optics Mag
เมื่อเปรียบเทียบเลนส์เหลวกับเลนส์ปกติแล้ว ฝ่ายแรกมีข้อดีที่เหนือกว่าหลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักเบากว่า บางกว่า ทนทานมากกว่า โฟกัสไวกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า เป็นต้น เพราะมีชิ้นส่วนน้อย และใช้แรงดันไฟฟ้าในการควบคุมของเหลวที่อยู่ภายในเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้หักเหแสงได้สอดคล้องกับทางยาวโฟกัสหรือระยะโฟกัสที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องอาศัยมอเตอร์ในการขับเคลื่อนชิ้นเลนส์แบบเลนส์กลไกทั่วไป จึงไม่เสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดจากการกระแทกจากภายนอก
- อ่านเพิ่มเติม : “เลนส์เหลว” คืออะไร ทำงานอย่างไร ดีกว่าเลนส์ปกติตรงไหน ?
อย่างไรก็ตาม เลนส์เหลวยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง สำหรับกรณีที่มีการขนส่งทางอากาศอาจส่งผลให้ของเหลวภายในเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไป (น่าจะเป็นเพราะอุณหภูมิ) ซึ่งคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า Corning และ LG จะหาทางจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรครับ
จนถึงตอนนี้ Xiaomi เป็นเพียงรายเดียวที่นำเลนส์เหลวไปใช้งานกับสมาร์ทโฟนของตัวเองใน Mi MIX FOLD ส่วน HUAWEI มีข่าวลือก่อนใครเพื่อนมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เพิ่มเติม
"อย่างไรก็ตาม เลนส์เหลวยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง สำหรับกรณีที่มีการขนส่งทางอากาศอาจส่งผลให้ของเหลวภายในเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไป (น่าจะเป็นเพราะอุณหภูมิ)" – น่าจะเป็นที่ความกดอากาศมากกว่า