ช่วงนี้เพื่อนๆน่าจะเคยผ่านตาเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนใน Bitcoin, Ethereum, เหรียญคริปโต หรือการซื้อขาย Digital Token, NFT กันมาบ้าง หลายคนน่าจะมีความรู้ความเข้าใจในตลาดนี้กันพอสมควร แต่ถ้าใครติดตามแบบผิวๆ วันนี้เราข้อมูลน่าสนใจมาอัปเดตให้ได้ทราบ อ่านกันสนุกๆกัน
ปกติไม่ค่อยจะเขียนถึงเรื่องการลงทุนในคริปโตเท่าไหร่ แต่พอดีได้มีโอกาสเข้าร่วมฟัง งานสัมมนาออนไลน์ที่เดอะวิสดอมกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย และมีการพูดถึงการลงทุนในปีนี้ว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร และเนื้อหาครอบคลุมการลงทุนในคริปโต และโทเคนดิจิทัลด้วย คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ เลยขอหยิบเอามาฝากกัน ซึ่งวิทยากรที่มาให้ข้อมูลในแต่ละด้าน คือ
- Cryptocurrency : คุณสัญชัย ปอปลี, Co-Founder จากทาง Cryptomind Group
- Digital Asset : คุณอภิญญา เรืองทวีคูณ, Managing Director จากทาง Kubix Digital Asset
โดยผมจะขอสรุปสั้นๆ เป็นข้อๆ ให้ได้อ่านกันง่ายๆนะครับ โดยเริ่มจากเรื่องของ Crypto Currency ก่อน
- Cryptocurrency เป็นสินทรัพย์น้องใหม่ ที่เกิดขึ้นมาในปี 2009 จากอุดมการณ์ด้านการเงินที่แตกต่าง ซึ่งใช้กันในกลุ่มเหล่า Technophile เล็กๆ ยุคนั้นมูลค่ายังน้อยมาก
- ในปี 2017 นักลงทุนรายย่อยเริ่มเข้ามามากขึ้น ทำให้ราคา Bitcoin มีการขยับตัวขึ้นมาก จากที่เหรียญนึงมีมูลค่าราว $3000 ก็ปรับเพิ่มขึ้นถึง $20,000
- ปี 2018 ICO เริ่มได้รับความนิยม มีการระดมทุนเพื่อจะสร้างสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านการออกเหรียญเป็นจำนวนมากหลายโครงการ และได้รับเงินกันไปไม่น้อย บางโครงการระดมทุนได้หลายสิบล้านเหรียญทั้งยังไม่ได้ออกผลิตภัณฑ์อะไรด้วยซ้ำ และราว 90% ที่สุดท้ายก็จบไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- และในปี 2018 คำว่า Cashless Society เป็นอะไรที่ดูห่างไกลมากสำหรับคนไทย ตอนนั้นเรายังต้องพูดถึง Case Study จากที่ประเทศจีนและสวีเดน, Digital Wallet ยังไม่ถูก adopt ไปใช้แล้ว, คนไทยยังไม่รู้จักพร้อมเพย์, QR code แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโควิด ทุกอย่างก็ดูเร่งให้เกิดเร็วขึ้นมาก
- ความแมสของการเทรดคริปโตในไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2018 มีคนเทรดอยู่ราว 100,000 คน ปัจจุบันมีราว 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 20 เท่า มูลค่ารวมของการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นมากกว่านั้นไปอีกหลายเท่า และเราอาจจะได้เห็นจำนวนผู้ใช้เติบโตขึ้นอีกมากในปีนี้อีกด้วย
- ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่มีความตื่นตัวกันมากขึ้นทั่วโลก เช่นที่อเมริกา เราได้เห็นการโฆษณาจากบริษัทด้านคริปโตและ NFT ในงาน Super Bowl ถึง 6 บริษัท จากในปีก่อนหน้าไม่มีแม้แต่บริษัทเดียว
- งาน Super Bowl ถือเป็นอีเว้นท์ใหญ่ของทางฝั่งอเมริกา คนดูจากทั่วประเทศจะสูงมาก ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาก็จะสูงตามไปด้วย ทำให้มีการแย่งชิงกันจากเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ แบรนด์ดังๆ กันมาโดยตลอด ซึ่งการที่บริษัทด้านคริปโตไปโฆษณาในงานนี้ได้ บ่งบอกได้ถึงความแมสของธุรกิจที่เติบโตได้ดี และเริ่มเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมากพอที่จะโฆษณาในงานนี้
- จากวันแรกเริ่มของเงินคริปโต มาจนถึงวันนี้ต้องบอกว่าเราเริ่มได้เห็นการยอมรับเงินคริปโตกันมากขึ้น เราได้เห็นบริษัทอย่าง Tesla ยอมจะแลกสินค้าและบริการด้วย Bitcoin หรือสถาบันการเงินเริ่มเข้าไปถือ Bitcoin เป็นสินทรัพย์กันมากขึ้น มีรัฐบาลบางประเทศเริ่มยอมรับ
- Cryptocurrency แม้จะมีความใหม่ และดูมีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่สูงตามขึ้นมาด้วย แนะนำว่าแทนที่จะถึงแต่หุ้น กองทุน ตราสาร หรือทอง แนะนำถือคริปโตสัก 10-15% ของพอร์ตได้
- สัดส่วนการถือครองประเภทคริปโตที่แนะนำเอาไว้คือ Bitcoin 40%, Last cap 30%, หุ้นโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain 20%, M Metaverse 5%
มาถึงเรื่อง Digital Asset โดย Kubix บริษัทน้องใหม่ของ KBTG บริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ให้บริการเป็น ICO Portal หรือตัวกลางสำหรับการซื้อขาย Token โดยจะช่วยคนที่ต้องการออก Token มาระดมทุน และนักลงทุนที่ต้องการครอบครองมาซื้อขายได้สะดวก
- ในประเทศไทย กลต.ได้ให้คำนิยามถึง Digital Asset แบ่งเอาไว้อยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ Cryptocurrency และ Digital Token ซึ่งทั้งสองตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูงเหมือนกัน
- ถ้าเปรียบเทียบ Digital Token ให้เห็นภาพมากขึ้น จากที่แต่ก่อนเราร่วมลงทุนในอะไรสักอย่าง แล้วเราได้หลักฐานกลับมาเป็นใบหุ้น บัตร หรือเหรียญต่างๆ แต่แทนที่จะต้องออกมาเป็นสิ่งที่จับถือ ต้องจัดเก็บหรือพกพาให้เป็นภาระแล้ว ก็เปลี่ยนหลักฐานดังกล่าวให้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลหรือทำการ Tokenize ไปแทน ซึ่ง Token จะมีความยืดหยุ่นในการนำมาใช้หรือแลกเปลี่ยนมากขึ้น เช่น แทนที่จะต้องพกบัตรเพื่อรับส่วนลด ก็แสดงแค่หน้าจอมือถือแทน
- สิ่งที่ทำให้การ Tokenize แตกต่างจากการระดมทุนแบบเดิม นอกเหนือจากความสะดวกสบายแล้ว คือ เทคโนโลยี Blockchain ที่เป็นพื้นฐาน จะเป็นตัวช่วยเสริมความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัยของข้อมูล โดยการแฮก หรือปลอมแปลงข้อมูล จะทำได้ยากขึ้นมาก
- เมื่อเปรียบเทียบ Digital Token แล้ว ก็เหมือนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ที่จะเรียกว่า Securitization แต่เมื่อแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน ก็จะเรียกว่า Tokenization การเรียกอาจจะต่างกัน แต่ความหมายเดียวกัน ต่างที่ความยืดหยุ่น ความสะดวกสบาย และการใช้ประโยชน์ในรูปแบบ Token จะสูงกว่านั่นเอง
- ประเภทของ Token แบ่งได้สองแบบหลักๆคือ
- Investment Token : สร้างมาเพื่อระดมทุน คนที่ซื้อไปจะได้รับผลตอบแทนกลับมาทางใดทางหนึ่ง ส่วนคนที่สร้างก็ได้เงินเพื่อไปสร้างสรรค์งานออกมา
- Utility Token : สร้างมาเพื่อให้ได้รับสินค้าและบริการ แทนที่จะต้องพกคูปอง เวาเชอร์ต่างๆ ก็มาใช้เป็น Token เพื่อความถูกต้อง แม่นยำมากขึ้นได้
- ใครต้องการจะสร้าง (Issuer) หรือเป็นนักลงทุน (Investor) ก็สามารถติดต่อบริษัทที่เป็นตัวกลางอย่าง Kubix เพื่อให้ช่วยดำเนินการได้
- คนธรรมดาจะยังไม่สามารถออกเหรียญของตัวเองได้ แต่ถ้ามีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็จะสามารถทำได้
- Token จะมีทั้งแบบลิสต์ในตลาด เช่น Bitkub Zipmex ที่จะเปิดให้ซื้อขายกันได้ค่อนข้างอิสระ หรือจะไม่ลิสต์ก็ได้ ซึ่งโทเคนที่ไม่ลิสต์ก็อาจจะคล้ายๆบอนด์ที่เน้นให้ถือระยะยาว การซื้อขายเปลี่ยนมือก็จะเป็นการทำกันแบบไม่มีตัวกลาง
- การลงทุนในโทเคนดิจิทัล เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรศึกษาเพิ่มเติม ถ้าเป็น Investment Token ก็ควรจะดูรายละเอียดใน White Paper ให้แน่ชัดถึงผลตอบแทนต่างๆ ทั้งในเรื่องมูลค่า และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
- ตัวอย่างการออกโทเคนที่เป็นกระแสอยู่ช่วงนึง คือ โทเคนดิจิทัลภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ ที่นอกเหนือจากผลตอบแทนในรูปแบบเงินที่ให้ 2.99% แล้ว ยังมีโบนัสในกรณีที่หนังประสบความสำเร็จอีก 2.01% รวมผลตอบแทนเป็น 5% และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย ทั้งการไปกินข้าวกับผู้กำกับ นักแสดง หรือตั๋วเข้าชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์อีกด้วย (กดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
และสำหรับใครที่อยากได้ข้อมูลเรื่องการลงทุนทั่วไป รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจโลก ที่มีการคาดการณ์กันในปีนี้ งานนี้ เค้าก็มีพูดถึงมาด้วย หยิบมาฝากให้เพิ่มเติมนะครับ โดยผู้ที่ให้ข้อมูลได้แก่ คุณศิริพร สุวรรณการ, Senior Managing Director, Private Banking Group, ธนาคารกสิกรไทย และดร.ดอน นาครทรรพ, ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ในช่วงเดือนมกรา – กุมภา เศรษฐกิจโลกกำลังไปได้ดี คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวถึงร้อยละ 4.4 แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังจาก 24 กุมภา เกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครนขึ้นมา
- สงครามที่เกิดขึ้น สหรัฐไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะไม่ได้พึ่งพารัสเซีย ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เหมือนเดิม ต่างจากยุโรปที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ และอาจจะพบกับภาวะถดถอยได้
- จีนตั้งเป้าขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5 ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่
- อเมริกา มีปัญหาราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นอีก จากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมากถึง 7.9% ซึ่งเป็นภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
- ของไทยปีนี้ GDP น่าจะลด และเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มอีกที่ราว 5%
- ฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ก็ยังคงเป็นที่ภาคการส่งออก ซึ่งปีที่แล้วการส่งออกไทยโตถึง 17% ปีนี้อาจจะลดลงมาเหลือหลักเดียว แต่ก็ยังถือว่าดีมากอยู่ แต่ราคาน้ำมันยังถือว่าน่าห่วงเพราะราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทุกๆ 10 เหรียญอาจจะทำให้ GDP ตกลงถึง 0.1% เงินเฟ้อ 0.5%
- น้ำมันดิบ ของไทยนำเข้าถึง 90% จากที่ใช้ประมาณวันละ 9 แสนบาร์เรล
- ข้อแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนถ้าสงครามลากยาว ควรลดสินทรัพย์เสี่ยง
- ถ้าพอร์ตการลงทุนวางเอาไว้ระยะยาวและคิดว่าดีแล้ว ไม่แนะนำขยับพอร์ตมาก เพราะสงครามมีวันจบ และตลาดก็จะฟื้นตัวกลับมาอยู่วันยังค่ำ การขยับเปลี่ยนแปลงมากเกินไป พอร์ตอาจเปลี่ยนแปลงจากดีเป็นไม่ดีได้
- สงคราม Pearl Harbour หุ้นลงไป 20% ใน 90 วัน และใช้เวลาคืนกลับ 200 วัน
- สงครามอิรัก คูเวต หุ้นลงไป 20% ใน 50 วัน และใช้เวลาคืนกลับ 100 วัน
- มีเงินสดทยอยซื้อได้ ทั้งตลาดหุ้น กองทุน ทอง ตราสาร ช่วงเวลาตลาดลง เป็นช่วงเวลาของคนที่เงินสดในมือ
- การกระจายการลงทุน ถ้าไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ได้ตื่นมาและคอยเช็คตลอด แนะนำเอาเงินไปฝากไว้กับกองทุนต่างๆ ให้เค้าเป็นคนดูแลให้ดีกว่า ซึ่งเราสามารถปรับแต่งได้หลากหลายรูปแบบ ความเสี่ยง-ผลตอบแทน สูงต่ำอย่างไร ต้องการทำเพื่อสังคมขนาดไหน สามารถเลือกได้หมด
Comment