ดูเหมือนประเด็นกฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับชาวเน็ตโดยตรงจะกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากที่เกิดกรณีดาราชื่อดังไล่ฟ้องหมิ่นประมาทคู่กรณีบนโลกออนไลน์ที่เล่นเอาชนิดต้องชดใช้กันหลักล้าน หรือล่าสุดกับประเด็นดราม่าออกข่าวไปทั่วโลกกับกรณีนักท่องเที่ยวรีวิวเชิงลบกับรีสอร์ทในไทยบนโลกออนไลน์สุดท้ายได้นอนคุกเฉยเลย งานนี้ DroidSans จะพาไปทบทวนกันหน่อยว่า ชาวเน็ตสายลงทัวร์มีข้อจำกัดและความพอดีอยู่ตรงไหน

หมิ่นประมาทคือกฎหมายสุดคลาสสิค ใช้กันมานานแล้ว แถมยังใช้ได้ดีในโลกออนไลน์

อันดับแรกไปดูที่ตัวกฎหมายอาญาที่มีใช้กันมานานแล้ว แต่กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยความที่โลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้น การจะโพสต์เนื้อหาเชิงให้ร้ายบุคคลอื่นนั้นทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เรียกได้ว่าจัดทัวร์ไปลงได้ทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น Facebook – Instagram หรือ Twitter ก็ตาม ซึ่งกฎหมายคดีหมิ่นประมาทมีสาระสำคัญชวนจำง่าย ๆ 3 ข้อ จะกระทำความผิดได้ต้องมีครบทุกข้อ คือ

  • เป็นการใส่ความด้วยข้อเท็จจริง | ความหมายคือ ประเด็นเหนือโลกมนุษย์ 😆 เหตุการณ์ที่เป็นจริงไม่ได้นั้น ไม่นับเป็นการใส่ความ
  • ต่อบุคคลที่สาม | ขอแค่มีคนรับรู้การใส่ความนั้น ซึ่งไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเพียงแค่คนเดียวก็เกินพอ
  • โดยอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกใส่ความนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

หากผู้ถูกกระทำคิดว่าโดนครบทั้งสามข้อนี้แล้วก็ทำให้เกิดความเสี่ยงจะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทได้ทันที ซึ่งอันที่จริงนั้นถูกฟ้องง่ายมาก ๆ แต่ต้องไปพิสูจน์กันต่อว่าผิดจริงหรือไม่ ซึ่งในความผิดนี้มีโทษทั้งจำคุก 1 ปี ปรับอีก 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ! นี่แค่โทษขั้นต้นเท่านั้น เพราะถ้าหากเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งมีเงื่อนไขเพียงแค่เป็นการ ป่าวประกาศเผยแพร่กันในวงกว้าง (แน่นอนว่าโพสต์บน Facebook – Instagram เข้าข้อนี้หมด) ก็เตรียมใจเสี่ยงรับโทษหนักคุก 2 ปีปรับ 2 แสนหรือทั้ง 2 อย่างเป็นคอมโบกันได้เลยล่ะ

อย่างไรก็ตามคดีประเภทนี้ เป็นความผิดที่เรียกว่า “ยอมความกันได้” ซึ่งหมายถึงว่าผู้เสียหายอาจยกฟ้องได้ง่าย ๆ ขอแค่คุยกันรู้เรื่อง จึงเป็นที่มาของการเรียกเงินค่าเสียหายหลักแสนหลักล้านอย่างที่เห็นกันอยู่จากประเภทดราม่าทั้งหลายนั่นเอง เพราะแน่นอนว่าผู้กระทำผิดย่อมเลือกเสียเงินดีกว่าได้นอนคุกเป็นปี ๆ อย่างแน่นอน

พรบ.คอมพิวเตอร์ ฯ เอาไว้สู้กับข่าวปั่น ข่าวปลอม เป็นหลัก แต่ก็อย่าได้โพสต์กันส่งเดชนะ !

สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือที่เรียกกันติดปากว่ากฎหมาย พรบ.คอม ฯ นั้นมีเจตนาในการบังคับใช้กับประชาชนทั่วไปในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปโดยมาตราที่เป็นใจความสำคัญและมักถูกพูดถึงที่สุดคือ มาตรา 14 เกี่ยวกับความผิดที่เรียกกันว่าการเผยแพร่ข่าวเท็จ หรือ Fake News นั่นเอง ซึ่งมีสาระสำคัญแบบย่อยง่าย ๆ แบบนี้

  • เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ (แน่นอนว่าใด ๆ บนโลกออนไลน์เข้าข้อนี้หมด ไม่ว่าจะแค่ชอบกด Like หรือใช่กด Share ก็เข้านะ 😂)
  • และผู้กระทำผิดรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
    1. ตั้งใจนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน ปลอม หรือเป็นเท็จไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด อาจจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย แต่ไม่ใช่ความผิดข้อหาหมิ่นประมาทอาญา (คือถ้าผิดหมิ่นประมาทแล้ว ก็ไม่ใช้พรบ.คอมนะ)
    2. นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ และข้อมูลเท็จนั้นน่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ
    3. นำเสนอข้อมูลใด ๆ ที่ผิดกฎหมายความมั่นคงทั้งหลาย
    4. นำเสนอข้อมูลอันลามก ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

สำหรับโทษตามพรบ.คอม ฯ นี้ถือว่าแรงกว่ากันพอสมควรเลย โดยธรรมชาติที่มุ่งคุ้มครองดูแลเรื่องของ Fake News และก็ความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลัก ความผิดตามพรบ.นี้มีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับโดยจะนับเป็น “ความผิดประเภทยอมความไม่ได้” จะเห็นว่าไม่มีเรื่องของการต่อรองเข้ามาเกี่ยวข้องได้เลย ไม่เหมือนกับกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาท

กรณีตัวอย่าง | เคสดาราซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล – วิจารณ์เรื่องสาธารณะต้องมีขอบเขต

หากเปรียบเทียบกันอย่างง่าย ๆ แล้วจะเห็นเลยว่า ดราม่ารายเดือนที่เราเห็นกันบนโลกออนไลน์กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายกันหลักแสนหลักล้านนั้น ล้วนเป็นการใช้กระบวนการตามกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทล้วน ๆ เพราะเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ก็คือเอาเงินมาแลกกับการถอนฟ้องจะได้ไม่ต้องเสี่ยงรอศาลตัดสินแล้วอาจได้ไปนอนคุกกันนั่นเอง

อย่างกรณีดราม่าดาราฟ้องชาวเน็ตไม่ว่าจะเป็นคุณแมท ภีรนีย์ หรือ คุณทราย เจริญปุระ ต่างก็เข้ากรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณากันทั้งหมด (แน่นอนล่ะ ให้ร้ายกันบนโลกออนไลน์ก็คือโฆษณาดี ๆ นี่เอง) ซึ่งยอมความกันได้และคู่กรณีส่วนมากถ้าพิจารณาถี่ถ้วนดีแล้วร้อยทั้งร้อยจะขอให้ยอมความกันทั้งหมดยอมเสียเงินหมดไม่ว่าจะหลักแสน หรือต้องเป็นหนี้เรือนล้านเพราะความปากพล่อยก็ตาม

เคสของคุณแมทนั้นชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่าเป็นการให้ร้ายกันทำให้เธอต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง อันที่จริงแน่นอนว่าการเป็นบุคคลสาธารณะอย่างเช่นดาราย่อมมีกรอบให้วิจารณ์กันได้ อย่างที่เจ้าตัวเองก็ยอมปล่อยมาร่วม 2 ปีได้ แต่เรื่องที่เห็น ๆ กันพวกเราก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยล้วน ๆ ของคุณแมทเอง ซึ่งการนำเรื่องแบบนี้มาให้ร้ายกัน ก็นับว่าผิดเต็ม ๆ ไม่ต้องสืบเลยล่ะ

พูดถึงความเป็นเรื่องส่วนตัว… อันที่จริงแล้วความผิดฐานหมิ่นประมาท หากสืบหาข้อเท็จจริงกันได้ว่าข้อความหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริงก็จะไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายอนุญาตเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะเท่านั้น (การเมือง ศีลธรรม สังคมโดยรวม) ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องส่วนบุคคล กฎหมายห้ามพิสูจน์ต่อให้เป็นเรื่องจริง แต่ถ้าทำให้ผู้อื่นต้องเสื่อมเสียได้ ก็ผิดเต็ม ๆ ส่วนกรณีของคุณทราย เจริญปุระ นั้นถึงแม้เธอจะถูกให้ร้ายบนโลกออนไลน์ เนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมือง แต่ปรากฎว่าชาวเน็ตที่ถูกฟ้องนั้นให้ร้ายเธอในเรื่องส่วนบุคคลชนิดไม่เกี่ยวอะไรกับรสนิยมทางการเมืองแม้แต่นิดเดียวงานนี้ก็โดนกันไปเต็ม ๆ ไม่ต้องพิสูจน์เช่นกัน 💡

คิดสักนิดก่อนวิจารณ์กันมันส์มือในโลกออนไลน์ – งานนี้สายลงทัวร์ควรคิดให้มากขึ้น

สำหรับเคสนักท่องเที่ยวที่ถูกจับนอนคุกเพราะดันไปรีวิวรีสอร์ทชื่อดังบนเกาะช้างแบบเชิงลบบน Google และ TripAdvisor นั้นก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะตัวเค้าเองก็ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทเช่นกัน เรื่องนี้ถูกเล่นเป็นข่าวทั้งสำนักข่าวไทย และข่าวต่างประเทศชนิดไม่สนใจรายละเอียดกันเลยราวกับว่ากฎหมายบ้านเรามันป่าเถื่อนน่ากลัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วนักท่องเที่ยวรายดังกล่าวท่านเล่นรีวิวรีสอร์ทแรงมาก ๆ ความว่า “ที่นี่เหมือนใช้ระบบทาสแห่งยุคปัจจุบัน” หรือแม้แต่ “ให้หลีกเลี่ยงที่นี่เหมือนกับว่ามันเป็นโคโรน่าไวรัส” สาเหตุเพียงจากความไม่พอใจที่ทางรีสอร์ทจะขอค่าเปิดขวดเครื่องดื่มแอลกอฮล์ที่เขาพกมาเองในราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเนื้อหาในรีวิวเกินเรื่อง เกินสาระหลักของคำวิจารณ์ไปมากและอาจส่งผลให้รีสอร์ทเสียหายจึงต้องใช้วิธีแจ้งความนั่นเอง

งานนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ชั้นดีสำหรับชาวเน็ตอย่างเรา ๆ ให้เข้าใจกันโดยง่ายได้เลยว่า การวิจารณ์บนโลกออนไลน์ก็เหมือนบนโลกจริง ควรวิจารณ์แต่พอดี มีขอบเขตไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ครั้นจะมองเรื่องที่วิจารณ์ซึ่งเป็นเรื่องเหตุบ้านการเมือง หรือสังคมก็ตาม ต้องวิจารณ์โดยยึดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องการเมืองก็คือไม่ว่าเพื่อน ๆ จะยืนฝั่งซ้ายหรือฝ่ายขวา การวิจารณ์ควรอยู่ที่หลักการและเหตุผล ไม่ใช่เป็นการให้ร้ายตัวบุคคลที่เรากำลังโต้เถียงอยู่ด้วยในสังคมออนไลน์ ไม่อย่างนั้นสายทัวร์ลงมีหวังได้ผลาญเงินเล่นไปกับการจ่ายค่าเสียหายในคดีหมิ่นประมาทเหมือนกรณีตัวอย่างเป็นแน่ แถมที่สำคัญคือ ในทางเทคนิคแล้ว ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะใช้แอ้คหลุมบนโลกทวิตภพหรือโปรไฟล์อวตารบนเฟซบุ๊ค เจ้าหน้าที่ก็สามารถตามหาเจ้าตัวผู้กระทำผิดเจอได้อยู่ดี (อ้างอิงจากกรณีของแมท ที่แอคหลุมหลายรายก็ไม่รอดโดนตามเจอและฟ้องไปด้วยกันเลย) งานนี้ควรคิดให้มาก ๆ ก่อนวิจารณ์ให้ร้ายหรือบูลลี่บุคคลอื่นกันเพียงเพื่อความสะใจส่วนบุคคลนะ

 

อ่านเพิ่มเติม :