หลายๆ คนน่าจะเห็นประกาศของกรมการบินพลเรือนฉบับนี้กันแล้ว เพราะเห็นแชร์กันไปทั่วโลกโซเชียล แต่บางคนอาจจะยังไม่เห็นหรืออ่านแล้วยังไม่เข้าใจ เราเลยขอมาอธิบายเรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพกพา แบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ขึ้นเครื่องบิน ว่าตกลงแล้วห้ามไม่ห้ามอย่างไร จริงๆ แล้วพกขึ้นเครื่องได้หรือเปล่า

แต่ก่อนอื่นอย่าเพิ่งไปตื่นตระหนกตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ดีๆ มาห้ามกันแบบนี้ แต่ก่อนไม่เห็นเคยจะมี ต้องบอกก่อนว่าประกาศฉบับนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นเรื่องที่สายการบินต่างๆ นั้นปฏิบัติกันอยู่แล้ว

หลายๆ คนที่ขึ้นเครื่องบินบ่อยๆ ก็น่าจะเคยเจอว่าเค้าห้ามเอาแบตเตอรี่สำรองโหลดขึ้นใต้เครื่องบิน การที่กรมการบินพลเรือนออกมาประกาศครั้งนี้ ก็เหมือนออกมาเพื่อขานรับกับการปฏิบัติและวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลในการพกพาอุปกรณ์ประเภท แบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank เท่านั้นเอง

ลองดูภาพกราฟิคด้านล่างของการบินไทยได้ครับ อันนี้ทำขึ้นมาช่วงเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา ก็มีกฏการพกพาแบตเตอรี่สำรองแบบเดียวกับในประกาศของกรมการบินพลเรือนเด๊ะๆ

  1. ห้ามนำแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ทุกชนิดใส่กระเป๋าที่จะนำไปโหลดขึ้นใต้เครื่องบิน ซึ่งกระเป๋าที่โหลดขึ้นใต้เครื่องเค้าใช้ศัพท์ว่า Checked Baggaged หรือ Hold Baggaed 
  2. แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) สามารถนำขึ้นบนเครื่องบินได้ หากมีประจุไฟน้อยกว่า 20,000 มิลลิแอมป์ (100 Wh) สามารถแบกขึ้นเครื่องได้ไม่จำกัด ถือได้กี่อันก็เอาขึ้นไปได้เลย ถ้าไม่กลัวหนัก
  3. แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ที่มีประจุไฟมากกว่า 20,000 มิลลิแอมป์ แต่ไม่เกิน 32,000 มิลลิแอมป์ (100-160 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ชิ้น
  4. ห้ามนำแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ที่มีประจุไฟเกิน 32,000 มิลลิแอมป์ (>160 Wh) ขึ้นเครี่องโดยเด็ดขาด 
 

สรุปแบบสั้นๆ ก็คือเราสามารถเอาแบตเตอรี่สำรองขึ้นเครื่องบินได้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องประจุไฟและจำนวนครับ แต่ห้ามเอาแบตเตอรี่สำรองโหลดขึ้นไปกับกระเป๋าเช็คอิน ไม่ว่าจะความจุเท่าไหร่ก็ตาม

ปล. เชื่อผมมั้ยว่า อีกไม่นานจะมีคนเอา Power Bank ความจุเกิน 32,000 มิลลิแอมป์ขึ้นเครื่อง แล้วถ่ายรูปอัพขึ้น IG และ Facebook ให้ดราม่ากันแน่นอน