ทุกวันนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าหน่วยความจำเพิ่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายสูงสุดคือ SD Card และ MicroSD Card เรียกได้ว่าแทบจะทุกอุปกรณ์ที่ใส่หน่วยความจำเพิ่มเติมได้จะใช้หน่วยความจำชนิดนี้แทบจะทั้งหมด และพอมันเป็นที่นิยม ก็เลยทำให้มีผู้ผลิตทำออกมาขายมากมายจนเลือกกันแทบไม่ถูกเลยทีเดียว นี่ก็เป็นจุดเริ่มของการที่จะทดสอบความเร็ว MicroSD ในครั้งที่แล้ว (อ่านได้ที่นี่ https://droidsans.com/speed-test-read-write-15-micro-sd-card) จากทดสอบครั้งนั้นก็ผ่านมาร่วม 2 ปีแล้ว ตอนนี้มีรุ่นใหม่ๆออกมาอีกหลายรุ่น และมีมาตรฐานใหม่ออกมาด้วย ก็เลยจัดเต็มทดสอบใหม่อีกครั้งนึง

ในการทดสอบครั้งนี้ จะเป็นการทดสอบ MicroSD Card ล้วนๆ เพราะจุดประสงค์คือจะเอาไปทดสอบเวลาใช้งานกับโทรศัพท์ ซึ่งจะใช้แต่ MicroSD Card เท่านั้น และอีกอย่างนึงคือ MicroSD Card สามารถใส่ตัวแปลงไปใช้เป็น SD Card ได้ทุกตัว เลยทำให้ MicroSD Card เป็นที่นิยมมากกว่า เพราะใช้งานได้ทั้งสองแบบ

ก่อนจะเริ่ม มาดูตารางอันนี้กันก่อนครับ ความหมายในตารางนี้ ให้เข้าใจก่อนกว่าทั้ง SD Card และ MicroSD Card ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกอย่างเป๊ะ ยกเว้นขนาดเท่านั้นที่ต่างกันนะครับ

*ขอบคุณรูปจาก www.sdcard.org

สรุปตามตารางนะครับ ชื่อเรียกว่า SD, SDHC หรือ SDXC ขึ้นอยู่กับความจุ

  • SD ความจุไม่เกิน 2GB
  • SDHC ความจุ 2GB-32GB
  • SDXC ความจุมากกว่า 32GB ขึ้นไป

ก่อนจะซื้อการ์ดควรจะดูว่าอุปกรณ์ของเรารับแบบไหนได้ก่อนนะครับ

ส่วนเรื่องความเร็วของ MicroSD Card นอกจากจะขึ้นอยู่ความหน่วยความจำที่ใช้แล้วแล้วยังขึ้นอยู่กับความเร็วบัสที่สนับสนุนด้วยนะครับ (Bus Speed) โดยที่แบบ Normal Speed ความเร็วจำกัดอยู่ที่ 12.5 MB/s, High Speed ความเร็วจำกัดอยู่ที่ 25 MB/s, UHS-I ความเร็วจำกัดอยู่ที่ 104 MB/s และแบบสุดท้าย มาตรฐานใหม่สุด UHS-II ความเร็วจำกัดอยู่ที่ 312 MB/s

แบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นแบบ UHS-I และตอนนี้จะหา MicroSD Card ที่เป็น UHS-II ได้ยากมาก และถึงแม้ว่าเราจะหา MicroSD ที่เป็น UHS-II มาได้แล้ว แต่ถ้าอุปกรณ์ไม่สนับสนุน เราก็ยังสามารถเอามาใช้ได้นะครับ แต่ก็จะใช้ได้ที่ความเร็วเทียบเท่ากับ UHS-I เท่านั้น (ณ วันที่ทดสอบปัจจุบัน เมษายน 2559 ยังไม่มีโทรศัพท์เครื่องไหนสนับสนุน MicroSD แบบ UHS-II) รวมไปถึง Card Reader ที่สนับสนุน Bus UHS-II ก็ยังหาไม่ได้ง่ายๆเช่นกัน

จุดต่างระหว่าง Normal Speed/High Sped/UHS-I และ UHS-II

เราจะไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่าว่า MicroSD ที่เราซื้อมานั้นเป็นแบบบัส Normal Speed, High Speed หรือ UHS-I เพราะจำนวนพินที่อยู่ด้านหลังเหมือนกันทุกอย่าง แต่ถ้าเป็น UHS-II จำนวนพินด้านหลังจะมากกว่าอีก 1 แถวตามรูปครับ

ดังนั้นถ้าเราเห็น MicroSD Card ที่จำนวนพินมากกว่า 1 แถวตามรูป แสดงว่าเป็น UHS-II นะครับ (ถ้าไม่ใช่พินหลอก) แต่จนถึงตอนนี้ (พฤษภาคม 2016) ยังไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นไหนรองรับการ์ด UHS-II

 

รอบนี้มีรุ่นไหนมาทดสอบบ้าง

มาดูรายชื่อของ MicroSD ที่เอามาทดสอบในครั้งนี้พร้อมกับราคาและแหล่งที่ซื้อกันครับ (ขนาดความจุที่ใช้ทดสอบจะเป็นความจุ 32GB ทั้งหมดครับ)

1. Strontium 32GB MicroSDHC UHS-1 NITRO 466X Card (SRN32GTFU1C) ราคา 540 บาท ซื้อผ่าน Lazada

2. Strontium 32GB MicroSDHC UHS-1 U3 NITRO Plus (SRP32GTFU1C) ราคา 890 บาท ซื้อผ่าน Lazada

3. Toshiba 32GB Micro SD Exceria ราคา 399 บาท ซื้อผ่าน Lazada

4. Samsung 32GB EVO Micro SD ราคา 389 บาท ซื้อผ่าน Lazada

5. Samsung 32GB EVO Plus Micro SD ราคา 549 บาท ซื้อผ่าน Lazada

6. Samsung 32GB Pro Micro SD ราคา 899 บาท ซื้อผ่าน Lazada

7. Samsung 32GB Pro Plus Micro SD ราคา 1,299 บาท ซื้อผ่าน Lazada

8. Lexar 32GB Micro SD High Performance ราคา 499 บาท ซื้อผ่าน Lazada

9. Lexar 32GB Micro SD 633x ราคา 799 บาท ซื้อผ่าน Lazada

10. Lexar 32GB Micro SD Professional 1000x [UHS-II] ราคา 1,499 บาท ซื้อผ่าน Lazada

 

11. Lexar 32GB Micro SD Professional 1800x [UHS-II] ราคา 3,000 บาท ซื้อผ่าน http://www.lexar.com

12. Transcend microSDXC/SDHC Class10 UHS-I 400x ราคา 480 บาท ซื้อผ่าน Memory Today

13. Transcend microSDHC Class10 UHS-I 600x (Ultimate) ราคา 940 บาท ซื้อผ่าน Memory Today

14. Transcend microSDXC/SDHC Class10 UHS-I U3 633x (Ultimate) ราคา 980 บาท ซื้อผ่าน Memory Today

15. Apacer 32GB Micro SD Class 10 ราคา 289 บาท ซื้อผ่าน JIB

16. Kingston 32GB Micro SD Class 4 ราคา 280 บาท ซื้อผ่าน JIB

17. Kingston 32GB Micro SD Class 10 (White) ราคา 290 บาท ซื้อผ่าน JIB

18. Kingston 32GB Micro SD Class 10 (Gold) ราคา 550 บาท ซื้อผ่าน JIB

19. Sandisk 32GB Micro SD Ultra Class 10 (White) ราคา 330 บาท ซื้อผ่าน JIB

20. Sandisk 32GB Micro SD Ultra Class 10 (Red) ราคา 440 บาท ซื้อผ่าน JIB 

 

21. Sandisk 32GB Micro SD Extreme U3 ราคา 749 บาท ซื้อผ่าน JIB

22. Sandisk 32GB Micro SD Extreme Pro U3 ราคา 1,150 บาท ซื้อผ่าน JIB

23. Remax 32GB Micro SD Speed Flash Class 10 ราคา 259 บาท ซื้อผ่าน Remax

24. Sony 32GB Micro SD Highspeed 70M ราคา 640 บาท ซื้อผ่าน Lazada

25. Sony 32GB Micro SD Highspeed 95M ราคา 766 บาท ซื้อผ่าน Lazada

*ราคาอ้างอิงช่วงเดือนมีนาคม 2559

 

เปรียบเทียบความจุของ MicroSD Card แต่รุ่น

MicroSD Card ที่เอามาทดสอบในครั้งนี้จะใช้ความจุ 32GB ทั้งหมด แต่ว่าความจุที่ใช้งานได้ของแต่ละการ์ดไม่เท่ากัน โดยความจุจริงๆ ของการ์ดแต่ละรุ่นตรวจสอบออกมาได้ดังนี้

จะเห็นว่าความความจุไม่ได้ต่างกันเยอะมาก แต่ก็มีผลเหมือนกัน โดยความต่างของการ์ดที่ความจุมากที่สุดกับน้อยที่สุดนั้น ต่างกันอยู่ถึง 1,487,405,056 Byte หรือเท่ากับประมาณ 1.39GB เลยทีเดียว

และถ้าดูจากตัวเลข หลายคนอาจจะงงว่าทำไมไม่มีตัวไหนความจุถึง 32GB เลย เหตุผลเพราะว่าหน่วยที่ใช้คำนวณจำนวน GB ไม่เท่ากัน เพราะผู้ผลิตหน่วยความจำทุกบริษัทในโลกนี้จะนับว่า 1GB เท่ากับ 1,000,000,000 Byte เพราะเป็นตัวเลขที่ง่ายต่อการจำ แต่ว่าคอมพิวเตอร์จะมองว่า 1GB เท่ากับ 1,073,741,824 Byte (1,024 MB และ 1 MB = 1,024 KB และ 1 KB=1,024  Byte) ดังนั้นในมุมมองผู้ผลิต 32GB จะเท่ากับ 32,000,000,000 Byte หรือคอมพิวเตอร์จะมองว่าเป็น 29.8GB เท่านั้นครับ

 

วิธีการทดสอบ

ทางเราทำการทดสอบความเร็วทั้งบน PC และ Smartphone 

โดยบน PC จะใช้โปรแกรม CrystalDiskMark 5.1.2 โดยอ่าน MicroSD Card ผ่าน Card Reader ของ Lexar (Support UHS-II) และทดสอบทั้งอ่านและเขียนแบบต่อเนื่อง โดยใช้ไฟล์ขนาด 1GB และแบบสุ่ม โดยใช้ไฟล์ขนาด 4K แล้วอ่านและเขียนจนได้ขนาดไฟล์รวม 1GB

ส่วนบน Smartphone จะทดสอบบน Samsung Galaxy S7 edge โดยใช้โปรแกรม A1 SD Bench ในทดสอบความเร็วอ่านและเขียนไฟล์แบบต่อเนื่องครับ

ผลทดสอบความเร็ว MicroSD Card บนคอมพิวเตอร์

1. ความเร็วในการอ่านบน PC แบบไฟล์ต่อเนื่อง

จะเห็นว่า Lexar ที่เป็นความเร็วบัสแบบใหม่ (UHS-II) จะได้ความเร็วที่กระโดดออกมาจากความเร็วบัสแบบเดิมๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหน่วยความจำด้วยว่าจะเร็วขนาดไหน เพราะจะเห็นได้ว่าถึงจะเป็น UHS-II เหมือนกัน ความเร็วที่ได้ก็ยังต่างกันอยู่เยอะ ส่วนพวก UHS-I แบบที่เราใช้กันอยู่ ตัวที่เร็วที่สุดก็คือ Sandisk Extreme Pro แต่ก็มีหลายๆตัวที่ความเร็วสูสีกันมาก ส่วนตัวที่ช้าที่สุดก็คือ Kingston ที่เป็น Class 4 ตัวเดียวของการทดสอบนี้

2. ความเร็วในการเขียนบน PC แบบไฟล์ต่อเนื่อง

Lexar Professional 1800x (UHS-II) ตัวแรงก็ทำความเร็วกระโดดออกมาจากกลุ่มได้อีกครั้ง แต่รอบนี้จะเห็นว่า Lexar 1000x ที่เป็น UHS-II อีกตัวนึง กลับทำความเร็วสู้หลายๆตัวไม่ได้ ส่วน Sandisk Extreme Pro ก็ยังทำได้ดีอีกครั้ง โดยมันเร็วที่สุดในกลุ่ม UHS-I

3. ความเร็วในการอ่านไฟล์บน PC แบบไฟล์ขนาดเล็ก 4K แบบสุ่ม (ไม่ต่อเนื่อง)

การทดสอบนี้เป็นการทดสอบแบบสุดขั้ว โดยจะเป็นการทดสอบการอ่านไฟล์ขนาดเล็กจำนวนมากๆ และทำการอ่านไฟล์แบบไม่ต่อเนื่อง จะเห็นว่าความเร็วในการอ่านจะตกลงอย่างชัดเจน ซึ่งในการใช้งานจริงๆแล้ว คงไม่ได้มีการอ่านไฟล์ในลักษณะนี้เท่าไหร่นัก เพราะชนิดไฟล์บนโทรศัพท์ของเรามักจะเป็นภาพและเพลง ซึ่งขนาดไฟล์จะใหญ่กว่านี้เป็นร้อยเท่าพันเท่าครับ แต่ก็ทดสอบมาให้ดูกันเป็นข้อมูลเสริมครับ

4. ความเร็วในการเขียนไฟล์บน PC แบบไฟล์ขนาดเล็ก 4k แบบสุ่ม (ไม่ต่อเนื่อง)

การทดสอบนี้ก็เป็นการทดสอบแบบสุดขั้วเหมือนข้อข้างบน แต่เป็นการเขียนไฟล์แทน

 

ผลการทดสอบความเร็ว MicroSD Card บนสมาร์ทโฟน

5. ความเร็วในการอ่านไฟล์บนโทรศัพท์แบบต่อเนื่อง

จะเห็นว่าความเร็วบัสแบบ UHS-II ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะทุกวันนี้โทรศัพท์ยังไม่มีเครื่องไหนสนับสนุนความเร็วบัสนี้ครับ (ทดสอบบน Samsung Galaxy S7 edge) แล้วตัวที่เร็วที่สุดก็คือ Sandisk Extreme Pro อีกครั้ง แต่หลายๆตัวก็ทำความเร็วได้เร็วไม่แพ้กันเท่าไหร่นะครับ ส่วน Class 4 ช้าที่สุดตามเคย

6. ความเร็วในการเขียนไฟล์บนโทรศัพท์แบบต่อเนื่อง

Lexar 1800x ทำได้ดีที่สุด โดย Sandisk Extreme Pro ตามมาติดๆแบบห่างกันแค่เส้นผม ส่วนตัวอื่นๆก็ค่อยๆลดกันลงไป แต่รอบนี้มี Class 10 อยู่ตัวนึงที่ทำได้ช้ากว่า Class 4 นิดนึงครับ

 

สรุปแล้วเราควรจะซื้อตัวไหน

ถ้าตอบแบบในมุมของการทดสอบ แน่นอนว่าเร็วที่สุดย่อมดีที่สุดและเผื่ออนาคตได้ยิ่งดี ในกรณีนี้มีอยู่สองตัวที่โดนเด่นแทบจะทุกการทดสอบคือ  Lexar Professional 1800x (UHS-II) และ Sandisk Extreme Pro แต่ทั้งสองตัวนี้ก็มีราคาสูง และในมุมมองของผู้ใช้หลายๆกลุ่มอาจจะมองว่าไม่คุ้มค่า ทางเราก็เลยทำตามรางความคุ้มค่าขึ้นมา

ตารางความคุ้มค่า

วิธีการเราจะเอาความเร็วที่ได้เป็น MB ต่อวินาที เอามาหารกับราคา ออกมาเป็นความเร็วว่าได้กี่ MB ต่อ 1 บาทที่จ่ายออกไป ตารางที่ออกมาได้ดังนี้ครับ

1. การอ่านไฟล์บน PC

2. การเขียนไฟล์บน PC

3. การอ่านไฟล์บน Smartphone

4. การเขียนไฟล์บน Smartphone

ตารางนี้จะเป็นตารางที่บอกว่าแต่ละ 1 บาทที่จ่ายออกไป จะได้ความเร็วกลับมากี่ MB ซึ่งตารางนี้จะผันแปรมากกับราคาตลาด ในกรณีที่มีตัวไหนเปลี่ยนแปลงราคา เช่นราคาที่ซื้อได้ถูกลง จะมีผลต่อตารางนี้ทันที ถือว่าเอาไว้ดูประกอบไว้ช่วยในการตัดสินใจละกันครับ

ปล. แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าความเร็วของการ์ดและราคาประหยัดนั่นก็คือ คุณภาพของการ์ด ใช้แล้วไม่พังง่าย ข้อมูลไม่หาย และก็อย่าลืมดูการรับประกันนะครับ