นับเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว หลังจากที่ dtac ผ่านช่วงเวลาวิกฤติขาดแคลนคลื่น จนได้รับกลับเพิ่มเข้าไปในพอร์ทจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 2300MHz, 1800MHz และปิดท้ายด้วย 900MHz จนถึงปัจจุบันมีการสร้างสถานีเพิ่มเติมถึง 21,146 สถานี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากและเร็วที่สุดในประเทศ แต่ยังไม่หยุดขยายเพิ่ม รับคลื่นยังต้องดีกว่านี้ เพื่อให้ตามความคาดหวังของผู้ใช้
ความเร็วดาวน์โหลดพุ่งอันดับหนึ่งเหนือคู่แข่งจากการจัดอันดับของ nPerf
สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดที่สุดหลังปรับปรุงเครือข่ายก็ว่าได้ เมื่อบริการทดสอบความเร็วในระดับสากลอย่าง nPerf ได้ประกาศออกมาว่า dtac มีพัฒนาการด้านความเร็วในการดาวน์โหลดและอัตราการใช้งานสำเร็จดีที่สุดใน 3 เครือข่าย โดยได้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 21.04 Mbps และอัตราการใช้งานสำเร็จดี่ที่สุดที่ 92.88% ซึ่งส่วนนึงที่ตัวเลขได้มากขนาดนี้ก็เพราะจำนวนผู้ใช้ต่อคลื่นที่ดีแทคถือครองอยู่มีจำนวนที่มากกว่าเครือข่ายอื่นนั่นเอง
คะแนนความพึงพอใจต่อบริการดีขึ้นเท่าตัว แต่รับยังไม่ดีพอ
จากการเปิดเผยข้อมูลของคุณประเทศ ตันกุรานันท์, CTO ของทางดีแทค บอกว่าในปัจจุบันทางทีมได้มีการสำรวจถึงความพึงพอใจต่อคุณภาพเครือข่าย พบว่ามีการตอบรับในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่า ซึ่งก็น่าจะสะท้อนจากเรื่องความเร็วดาวน์โหลดข้างต้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทางดีแทคจะหยุดการพัฒนาเครือข่าย คุณประเทศ ทราบดีถึงปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเรื่องเน็ตเวิร์ค และกำลังพยายามแก้ไขให้ถูกจุด ถึงแม้ว่าตัวเลขการวัดผลจะออกมาในเชิงบวกแต่ก็รู้ว่าผู้ใช้ยังต้องการมากกว่านี้ และดีแทคก็ยังพัฒนาเพิ่มเติมได้อีก ยังต้องสร้างเน็ตเวิร์คให้ได้เท่าทันคู่แข่งอยู่ ดังนั้นทีมจึงจะทำความเข้าใจฟีดแบคของลูกค้ามากกว่าที่จะดู Network KPI (ตัวเลขการประเมิณคะแนนด้านเน็ตเวิร์ค) หรือสกอร์ทางเทคนิคต่างๆ แต่จะมีการเปลี่ยนให้ไปดูที่ความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก และที่สำคัญคือจะไม่ได้เน้นที่การดูค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ แต่มีการตรวจสอบตามแต่ละบริเวณไปเพื่อการปรับแต่งให้ดีที่สุดอีกด้วย
รับคลื่น 700MHz เพิ่มมาอีกคลื่น เสริมความครอบคลุม
เรื่องของความเร็วในการดาวน์โหลด ทุกวันนี้ดีแทคน่าจะสอบผ่านสำหรับการใช้งานทั่วไป แต่ที่หลายๆคนอยากเห็นการพัฒนาที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องความครอบคลุมของสัญญาณ หากใครเดินทางข้ามจังหวัด ท่องเที่ยวไปตามสถานที่สำคัญๆ หรืออยู่บริเวณรอยต่อของสัญญาณน่าจะรับทราบถึงปัญหากันดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ข้อจำกัดของคลื่นในช่วงก่อนหน้า แต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางกสทช. ได้ทำการจัดสรรคลื่นความถี่ ใหม่ นำเอาช่วงคลื่น 700MHz ที่ใช้งานกันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ดึงกลับมาให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใช้แทน และดีแทคก็เป็นหนึ่งในค่ายที่เข้าไปประมูลและรับใบอนุญาตมา โดยได้ช่วงคลื่นความถี่ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz ในราคา 17,584 ล้านบาท ซึ่งคลื่น 700MHz นี้จัดเป็นช่วงคลื่นความถี่ต่ำ การตั้งสถานีฐานเพื่อขยายความครอบคลุม หนึ่งเสาจะกว้างขึ้นกว่าคลื่นความถี่สูงอย่าง 2100 หรือ 2300 MHz เป็นเท่าตัว ดังนั้นคลื่นชุดนี้น่าจะช่วยลดปัญหาพื้นที่อับสัญญาณลงไปได้เป็นอย่างดี
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเสพย์เนื้อหาออนไลน์เพิ่มขึ้นมหาศาล
นอกจากนี้ดีแทคยังมีการเปิดเผยความน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้งานดาต้าผ่านโทรศัพท์มือถือของไทยอยู่ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา คนไทยมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเมื่อราวไตรมาส 2 ของปี 2017 ผู้ใช้งานดีแทคมีการใช้ดาต้าต่อคนต่อเดือนราว 5-6GB แต่มาถึงปัจจุบัน ไตรมาส 2 ของปี 2019 ผู้ใช้มีการขยับตัวขึ้นมาใช้ดาต้าสูงถึง 11-12GB ต่อคนต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 400MB เลยทีเดียว ซึ่งก็มาจากพฤติกรรมการเสพย์เนื้อหาที่ดูเป็นคลิปวิดีโอ ไลฟ์สด หรือหนังยาวๆกันมากขึ้นนั่นเอง
จากการสำรวจของ Hootsuite ซึ่งทำวิจัยในเรื่องพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย บอกว่าในหนึ่งวันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 9 ชั่วโมง 11 นาที โดยใช้งานแชทและโซเชียลมีเดีย ราว 3 ชม. 11 นาที และดูวิดีโอรวมทุกช่องทางราว 3 ชม. 44 นาที และฟังเพลงอีกราว 1 ชม. 30 นาที จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตต่อคนสูงขึ้นขนาดนี้
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ น่าจะพอการันตีได้ว่าดีแทคมีการพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงทำให้ทุกอย่างดีขึ้น มีการมองเห็นปัญหาและยอมรับ พร้อมทั้งทุ่มเทแก้ไขอย่างเต็มที่ ไม่ได้จะถอยหนีไปไหนอย่างที่เคยมีข่าวลือ ซึ่งถ้าเกิดว่าไปสอบถามผู้ใช้งานหลายคนที่ทุกวันนี้ยังใช้ดีแทคอยู่ต่างก็มีความสุขดีกับการใช้งานในเครือข่ายใบพัดสีฟ้า โดยเอกลักษณ์อย่างนึงที่ผู้ใช้ดีแทคต่างพูดถึงแบรนด์ และทำให้ไม่ยอมย้ายไปไหน ก็คือภาพความเป็นแบรนด์ที่ดูสบายๆ มีความจริงใจ เฟรนด์ลี่เป็นกันเอง และนี่ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งอย่างแรกที่ทางดีแทคสามารถกู้กลับมาได้หลักจากพยายามพลิกต่างไปอยู่หลายปี และวันนึงในอนาคตอันใกล้นี้ ก็หวังว่าเราจะได้เห็นดีแทคกลับมาแข็งแกร่งในเรื่องของสัญญาณ ผู้ใช้สามารถคุยได้ว่าเครือข่ายดีแทคครอบคลุมใช้งานได้ทั่วแบบไม่เคอะเขินกัน เหมือนแบบในอดีตนะ .. 🙂
การบริการ/คลื่นสัญญาณ | จำนวนสถานีฐาน ณ ไตรมาส 2/2562 |
2G | มากกว่า 10,000 |
3G คลื่น 2100 MHz และ คลื่น 850 MHz | มากกว่า 37,000 |
4G คลื่น 1800 MHz 2100 MHz และ 2300MHz* | มากกว่า 47,000 |
จำนวนรวมสถานีฐาน | มากกว่า 90,000 |
* ภายใต้บริการ Roaming ของ บมจ. ทีโอที
(อัพเดท) จำนวนคลื่นความถี่ที่แต่เครือข่ายมีครอบครอง และจำนวนผู้ใช้ต่อสเปคตรัม (8/2019)
ขอความนิ่งด้วยนะครับ 🙂 🙂
ทรูกับ ais เค้าไปกันไกลแล้ว ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าจริงๆ ต้องยอมรับ แต่ก็รีบๆนะครับ ผมจะได้ย้ายกลับมาซะที
2G 10,000 สถานีฐานนี่คลื่น 850/900 ใช่มั้ย
เมื่อไหร่จะเอามาทำ 4G
2G 10,000กว่าต้นคือ 2G 1800 ครับ ถ้านับแบบซื่อๆ บื้อๆเลย 4G 1800 ก็จะเท่ากับ 2G 1800
850 ส่วนมากอยู่บนเสา 2G 1800เดิมหมด 555+
700 รอช่อง 3คืนหลังมีนาปีหน้า แล้วย้ายทีวีดิจิม่อนลงมาที่ความถี่ต่ำลง ถึงจะใช้งานได้
900 เห็นว่ายัง… เห็นว่าเริ่มลง(และได้ใช้ มั้ง)ปลายปี แล้วปีหน้าได้ใช้ 700 ก็เพิ่มบนเสาเดียวกันได้เลย หึหึ
ดาวน์โหลดเร็วมากครับ แค่ไม่มีสัญญานเฉยๆ
จริงๆ คิดว่าสองค่ายนั้นเร็วกว่านะ Ais จำนวนคนใช้เยอะ ส่วน true เอาไปเปิดซิมเทพ 4g unlimited หมด
ยอมรับว่าแรง แต่ไม่มีสัญญาณ 555+
ใช้มาตั้งแต่แรกเลย และไม่คิดจะย้ายไปค่ายไหน ชอบตรงใช้ง่ายโปรเยอะนี่แหละ
เสาบนหลังดาดฟ้า รง. ผมพึ่งตั้งเสร็จเมื่อวานเลย มาติดต่อตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วหายไปเลย มาปีนี้เห็นว่าเปลี่ยนทีมงานใหม่ ดำเนินการแค่ 2 เดือน นับจากวันมาติดต่อเสนอเช่าที่ ถือว่าเร็วเลย