รัฐสภายุโรปได้ร่างกฎใหม่เกี่ยวกับการโฆษณาความทนทานของอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งมือถือ และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้รับประโยชน์แบบเต็ม ๆ ซึ่งกฎใหม่นี้จะห้ามทั้งการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับความคงทนของอุปกรณ์, ให้อิสระในการซ่อมด้วยอะไหล่ที่ไม่ได้มาจากศูนย์ รวมถึงยังห้ามผู้ผลิตจงใจวางยาให้สินค้าเสียหลังหมดประกันด้วย
ห้ามโฆษณาเกินจริง
กฎที่รัฐสภายุโรปกำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ จะห้ามไม่ให้ผู้ผลิตโฆษณาเรื่องความคงทนของสินค้าเกินจริงโดยเด็ดขาด เว้นแต่ทางผู้ผลิตจะมีข้อมูล, หลักฐาน หรือได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน และหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้มาเพื่อใช้อ้างอิง อย่างในวงการมือถือก็มีเรื่องของแบตเตอรี่ ที่หลายแบรนด์ชอบเคลมว่าสามารถชาร์จได้สูงสุดเป็นจำนวนรอบ Cycle จนกว่าแบตจะเสื่อม
นอกจากเรื่องความทนทานแล้ว ยังห้ามไม่ให้แบรนด์ต่าง ๆ โฆษณาเรื่องการใช้วัสดุรักษ์โลก ใช้วัสดุย่อยสลายได้ ผลิตในกรรมวิธีที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือมีการชดเชยคาร์บอนในการผลิต หากไม่มีหลักฐานมาประกอบกับคำโฆษณาด้วย
ห้ามวางยา
กฎที่ว่านี้ยังห้ามไม่ให้ผู้ผลิตออกแบบอุปกรณ์โดยจงใจให้สินค้าชำรุดทันทีที่หมดประกัน (หรือที่เรามักได้ยินว่าโดนวางยา หรือระเบิดเวลานั่นเอง) อีกทั้งยังห้ามไม่ให้ผู้ผลิตล็อกฟีเจอร์ในอุปกรณ์ต่าง ๆ หากใช้อะไหล่เทียบ หรืออะไหล่ที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจะครอบคลุมในส่วนของอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ อย่างหัวชาร์จ และสายชาร์จ ที่จะต้องใช้งานได้เหมือนกันทุกอุปกรณ์ ห้ามจำกัดฟีเจอร์ หรือความเร็วในการชาร์จไว้ให้เฉพาะแบรนด์ของตัวเอง
ทั้งนี้ผู้ผลิตจะต้องแจงรายละเอียดราคาอะไหล่ ค่าซ่อมแซมต่าง ๆ ระบุระยะเวลาประกัน การขยายระยะเวลาประกัน และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการซ่อมให้ชัดเจนก่อนที่ผู้บริโภคจะทำการซื้อสินค้าด้วย ซึ่งกฏเหล่านี้จะทำให้ผู้ผลิตมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่คุณภาพดี และมีความทนทานมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังช่วยให้สินค้าต่าง ๆ ง่ายต่อการซ่อมด้วยตัวเองด้วย
ณ ตอนนี้ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเห็นชอบร่างกฎหมายที่ว่านี้แล้ว หลังจากนี้รัฐสภายุโรป และประเทศสมาชิก EU จะร่วมกันเจรจา ปรับแก้เนื้อหาในร่างกฎหมายครั้งสุดท้ายเร็ว ๆ นี้
ที่มา: GSMArena, European Parliament
ไทยน่าเอาอย่างบ้างนะ เพราะบางยี่ห้อนี่พอหมดประกันเครื่องก็จะเดี้ยงเหมือนกัน
ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมประเทศเขาถึงพัฒนาแล้ว
สมเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลักดันสิทธิผู้บริโภค
ใส่ใจผู้บริโภคมาก