หลังจากที่มีการประชุมบอร์ด EV ไปเมื่อครั้งก่อน ได้มีการเห็นชอบในมาตรการ EV 3.5 หรือมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 ช่วงระยะเวลา 4 ปี ช่วยอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุด 1 แสนบาท/คัน ล่าสุดได้คอนเฟิร์มแล้วว่าจะไปต่อในมาตรการนี้และเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ม.ค. 2567

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการ EV 3.5 อุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้าสูงสุด 100,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 10,000 บาท/คัน และได้มีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดพร้อมทั้งเชิญค่ายรถยนต์ชั้นนำกว่า 30 ราย มาร่วมรับฟังมาตรการและสิทธิประโยชน์

มาตรการ EV 3.5 หรือ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 มีระยะเวลาการใช้งานยาวนานถึง 4 ปี เริ่มตั้งแต่ 2567 – 2570 โดยจะเริ่มใช้มาตรการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

รถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ในเงื่อนไข EV 3.5

ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าที่มาตรการจะครอบคลุม

  • รถยนต์ไฟฟ้า
  • รถกระบะไฟฟ้า
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ

  • เงินอุดหนุน
  • การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป
  • การลดอัตราภาษีสรรพสามิต

รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินสนับสนุน

เงินที่อุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

1.รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh 

  • ปีที่ 1 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท / คัน
  • ปีที่ 2 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน
  • ปีที่ 3 และ 4 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน

ลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40  (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568) และลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ขนาดแบตเตอรี่ 10-50 kWh 

  • ปีที่ 1 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
  • ปีที่ 2 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน
  • ปีที่ 3 และ 4 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน

ลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40  (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568) และลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

2.รถยนต์ไฟฟ้า ราคาเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท

ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้เพียงลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

3.รถกระบะไฟฟ้า (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท)

  • รถกระบะไฟฟ้า ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 0 ในปี 2567 – 2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569 – 2570

4.รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (เฉพาะผลิตภายในประเทศ ราคาไม่เกิน 150,000 บาท) 

  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 1 ในปี 2567 – 2570

การลดอัตราภาษีขาเข้า

  • มีการลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567 – 2568)
  • สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาเกิน 2 ล้าน แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะมีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

โดยกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (คือนำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570

สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยเข้าร่วมมาตรการ EV 3 แล้ว ก็ยังสามารถเข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 ได้อีก ซึ่งสามารถยื่นความประสงค์ขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดของแต่ละมาตรการ

คาดการณ์จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ EV 3.5

ทางกรมสรรพสามิตคาดการณ์ไว้ว่าในระยะ 4 ปี ตลอดมาตรการนี้อาจมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนประมาณ 830,000 คัน แบ่งออกเป็น รถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน และรถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน และคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 34,000 ล้านบาท

การขยายระยะเวลาจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ามาตรการ EV 3

นอกจากนี้ยังมีการขยายเวลาการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิในมาตรการ EV 3 ต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายใน 31 มกราคม 2567 (เดิมจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566) เพื่อให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าปลายปียื่นจดทะเบียนภายในปลายเดือนมกราคม 2567 นั่นเอง

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน