ในการประชุมบอร์ด EV ชุดล่าสุดที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในมาตรการ EV3.5 หรือ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 ช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) อุดหนุนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงสุด 1 แสนบาท / คัน ตามแต่ละประเภทและขนาดของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผย นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าร่วมเป็นประธานในการประชุมในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30

ในการเห็นชอบมาตรการในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งครอบคลุมรถยนต์นั่งทั่วไป รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามแต่ละประเภทและขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินสนับสนุน

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน

  • รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000-100,000 บาท / คัน
  • รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท / คัน

รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน

  • รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000-100,000 บาท / คัน

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท

  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000-10,000 บาท / คัน

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะยังมีการรือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

และสำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป หรือ CBU ในช่วง 2 ปีแรก (ช่วงปี 2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรนำเข้า 40% ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทจะมีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ค่ะ

ตั้งเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ โดยให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 คือถ้าหากนำเข้า 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 2 คัน และในปี 2570 จะเพิ่มเงื่อนไขเป็นนำเข้า 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 3 คัน ต่อไป

และกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบนำเข้าและผลิตในไทย จะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ด้วย

พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 ที่จากเดิมจะต้องจดทะเบียนภายใน 31 ธ.ค. 2566 ขยายเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค. 2567 เผื่อใครที่มาดูและซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในงาน Thailand International Motor Expo ที่จัดในเดือน ธ.ค. 2566 จะได้ยื่นจดทะเบียนทันภายใน ม.ค. 2567 นั่นเอง