รัฐบาลไทยเล็งดึงดูดนักลงทุน สนับสนุนไทยขึ้นเป็น EV Hub ของภูมิภาค ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบร่างยกเว้นภาษีชิ้นส่วน EV สำคัญ 9 อย่าง เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้มากขึ้น ชิ้นส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีมีตั้งแต่ แบตเตอรี่ มอเตอร์ขับเคลื่อน ชาร์จเจอร์ อินเวอร์เตอร์ และชิ้นส่วนสำคัญอีกหลายอย่าง
ร่างจากกระทรวงการคลัง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่งผ่านเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีรายละเอียดว่าชิ้นส่วนรถ EV ที่นำเข้ามาในไทยในระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2568 หรือในช่วง 2 ปีกว่านี้ จะได้รับการยกเว้นภาษี
แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อนำเข้ามาแล้ว จะต้องนำไปประกอบ/ผลิตรถไฟฟ้าหรือเรือไฟฟ้าให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี (นับตั้งแต่วันที่นำเข้ามา) สามารถขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 6 เดือน และหากไม่สามารถนำชิ้นส่วนไปประกอบให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ต้องส่งชิ้นส่วนนั้นออกไปนอกประเทศ หรือเสียภาษีตามปกติ
โดยชิ้นส่วนรถและเรือไฟฟ้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี มีทั้งหมด 9 รายการ ตามนี้
- แบตเตอรี่ (battery)
- มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (traction motor)
- คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
- ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS)
- ระบบควบคุมการขับขี่
- ออนบอร์ดชาร์ทเจอร์ (on-board charger)
- ดี ซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter)
- อินเวอร์เตอร์ (inverter) รวมถึง พีซียู อินเวอร์เตอร์ PCU inverter
- รีดักชัน เกียร์ (reduction gear)
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบร่างเว้นภาษีเงินอุดหนุนที่บริษัทผลิตรถไฟฟ้าได้รับไปจากรัฐด้วย ไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตรงนี้เค้าคิดมาแล้วว่าจะทำให้รัฐเสียรายได้ไปราว 8,600 ล้านบาท แต่ก็จะได้ผลประโยชน์คุ้มค่าตอบแทน
แปลว่าตอนนี้ ฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ก็จะได้แรงช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้ารถ EV มีราคาถูกลงมาได้อีกขั้น เพราะทั้งชิ้นส่วนสำคัญที่นำเข้ามาก็ได้รับการเว้นภาษี ส่วนเงินช่วยที่ได้รับจากรัฐก็ไม่ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน แถมจะยังช่วยดึงดูดนักลงทุนให้สนใจเพิ่มการผลิตด้วยครับ
ลดภาษีเพื่อการผลิต แล้วอะไหล่สำหรับซ่อมแซมบำรุงรักษาตามระยะ ได้รับการลดภาษีด้วยไหม หรือคิดภาษีเต็มอ่ะครับ เดี๋ยวจะข่าวที่ค่าซ่อมพอ ๆ กับซื้อรถใหม่