ไม่กี่วันก่อน ประธาน OnePlus ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ โดยมีประเด็นที่ได้รับความสนใจว่า OnePlus ไม่คิดจะขยายการอัปเดตระบบ Android ให้ยาว 7 ปีแบบ Samsung เพราะมองว่าฮาร์ดแวร์ลากไม่ไหว นานไปแบตก็เสื่อม – ซึ่งดูเหมือนคำให้สัมภาษณ์นี้จะไปสะกิดต่อมของ Miquel Ballester ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Fairphone เข้าจัง ๆ ล่าสุดจึงได้มีการออกมาคอมเมนต์ตอบโต้ในประเด็นดังกล่าว

ความเดิมตอนที่แล้ว OnePlus ไม่คิดเดินตามรอย Samsung

Kinder Liu ซีโอโอและประธานของ OnePlus บอกว่าการอัปเดตระบบปฏิบัติการ 4 เวอร์ชันแบบที่ OnePlus ทำ เป็นอะไรที่สมเหตุสมผลกว่าการอัปเดต 7 ปีแบบ Samsung และ Google เนื่องจาก OnePlus ทำการทำสอบแล้วว่าในกรอบเวลานี้ มือถือยังเอาอยู่ และคนส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนมือถือกันทุก 4 ปีโดยเฉลี่ย พร้อมยกตัวอย่างว่าหากเปรียบสมาร์ทโฟนเป็นแซนด์วิช โดยที่ตัวเครื่องเป็นขนมปัง ซอฟต์แวร์คือไส้ใน แล้วคนปรุงบอกว่าแซนด์วิชนี้จะยังกินได้ในอีก 7 ปี ข้างหน้า อาจฟังดูดี แต่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเนื้อขนมปังจะยังไม่ขึ้นราหลังผ่านไป 4 ปี (เครื่องอืด)

Fairphone มองต่าง ข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ไม่ใช่ข้ออ้าง

Ballester ได้ยกข้อความข้างต้นมาใช้ในการตอบโต้ Liu โดยบอกว่าตนเองในฐานะ ‘คนทำขนมปัง’ มองว่าผู้ผลิตมือถือไม่ควรนำข้อจำกัดของอุปกรณ์มาเป็นข้ออ้างในการอัปเดตซอฟต์แวร์ และยกตัวอย่างกรณี Fairphone 2 ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2015 และพึ่งได้รับการอัปเดตซอฟต์แวร์ติดต่อกันเกือบ 8 ปี (พึ่งหมดระยะซัปพอร์ตไปเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา) ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเปรียบเป็นขนมปัง ก็ไม่ได้ขึ้นราแบบที่ Liu บอก

ความคิดเห็นของ Ballester สอดคล้องกับที่ Mishaal Rahman กูรูและนักข่าวสาย Android ชื่อดัง เคยให้ความเห็นไว้เมื่อตอน Android 14 ออกมาใหม่ ๆ (ถ้าผมจำไม่ผิดนะ) ว่าจริง ๆ แล้วการอัปเดตซอฟต์แวร์ในมือถือ Android นั้นไม่ได้มีข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ ข้อจำกัดหลัก ๆ อยู่ที่ผู้ผลิตมือถือเองต่างหาก ที่จะเลือกอัปเดตหรือไม่อัปเดต

นอกจากนี้ Ballester ยังพูดถึงประเด็นเรื่องแบตเตอรี่ที่ Liu บอกว่าแบตจะเสื่อม ทำให้เครื่องไปต่อไม่ไหว โดย Ballester แนะนำว่า OnePlus รวมถึงผู้ผลิตมือถือค่ายอื่น ควรออกแบบมือถือให้ถอดเปลี่ยนแบตได้ซะก็สิ้นเรื่อง

Fairphone คือใคร

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีบางคนยังงงว่า Fairphone คือใคร มาจากไหน ทำไมความคิดเห็นของประธาน OnePlus จึงไปสะกิดต่อม Fairphone ทั้งที่ในการให้สัมภาษณ์ไม่ได้มีการเอ่ยถึง Fairphone โดยตรง

Fairphone คือแบรนด์มือถืออินดี้ ที่ทำตลาดภายใต้คอนเซปต์ ‘มือถือรักษ์โลก’ โดยมีจุดขายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ยกตัวอย่างแนวทางบางส่วนที่น่าสนใจ เช่น

  • ออกแบบมือถือให้แกะซ่อมง่าย ใช้แค่ไขควงมาตรฐาน และไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านงานซ่อม
  • เปลี่ยนอะไหล่เฉพาะส่วนได้ในลักษณะโมดูลาร์
  • มีอะไหล่ขายยาวนาน
  • แบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนได้
  • ตัวเครื่องผลิตจากวัสดุรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด
  • ใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต 100%
  • อัปเดตซอฟต์แวร์ยาวนาน ทั้งระบบปฏิบัติการและแพตช์ความปลอดภัย

Fairphone นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการขยายการอัปเดตซอฟต์แวร์ Android ให้ยาวนาน เพียงแต่ Fairphone ไม่ใช่แบรนด์กระแสหลัก (ขายเฉพาะในโซนยุโรปบางประเทศ และช่องทางการทำตลาดที่จำกัด) เลยอาจไม่ได้สร้างอิมแพกต์ได้แบบที่ Samsung ทำ แต่ Fairphone ก็ยึดมั่นในคอนเซปต์รักษ์โลกอย่างเหนียวแน่นเสมอมา และในฐานะตัวตั้งตัวตีที่พยายามผลักดันเทรนด์มือถือรักษ์โลกมาโดยตลอด คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักหาก Fairphone จะไม่ค่อยประทับใจกับความเห็นของ Liu สักเท่าไหร่

มือถือรุ่นปัจจุบันของ Fairphone คือ Fairphone 5 เปิดตัวเมื่อปี 2023 มาพร้อม Android 13 การันตีอัปเดตถึง Android 18 และแพตช์ความปลอดภัยอีก 8 ปี (จริง ๆ ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ปี แต่ตามที่การันตีอย่างเป็นทางการคือ 8 ปี)

มือถือจะกลับมาถอดแบตได้ในอนาคต

ปีที่แล้ว สหภาพยุโรปหรือ EU พึ่งผ่านมติกฎหมายอีกฉบับนอกเหนือจากกฎ Right to Repair ที่กำหนดให้ผู้ผลิตมือถือ ต้องออกแบบมือถือให้มีแบตเตอรี่ที่ถอดเปลี่ยนได้เพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นโลก ซึ่งมีแนวโน้มจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ตลาดมือถือในวงกว้าง แบบเดียวกับที่ EU บังคับใช้ USB-C เป็นพอร์ตมาตรฐานกลาง แต่กว่าที่กฎนี้จะมีผลบังคับใช้ ต้องรอกันจนถึงปี 2027 หรืออีก 3 ปีถัดจากนี้

ที่มา : Android Authority