เรียกว่าช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกคนไม่มีใครไม่รู้สึกร้อน แต่เคยสังเกตไหมว่าความร้อนที่เรารู้สึกมักจะร้อนกว่าตัวเลขที่ขึ้นในแอปมาก โดยตามปกติแล้วในแอปสภาพอากาศจะมีอุณหภูมิทั้งหมด 2 ค่าหลัก ๆ คืออุณหภูมิ (Temperature) และรู้สึกเหมือน (Feels Like) ทำให้หลายคนสงสัยว่าความหมายของ Feels Like คืออะไรกันแน่ วันนี้เราพาไปหาคำตอบกัน

ทำไมเราถึงรู้สึกร้อนกว่าที่พยากรณ์อากาศบอก

หลายคนน่าจะเคยเจอกับสภาพอากาศที่รู้สึกว่าร้อนมากเกินกว่าที่พยากรณ์อากาศบอก เช่น ตอนนี้อุณหภูมิอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส แต่รู้สึกร้อนอย่างกับ 50 องศาเซลเซียส ร้อนอย่างกับอยู่ในเตาอบ หรือตัวเลขอุณหภูมิก็ไม่ได้สูงมาก แต่ทำไมรู้สึกว่าร้อนเหมือนออกไปตากแดด

อุณหภูมิกับความรู้สึกร้อน-เย็นต่างกันยังไง

เหตุผลเพราะอุณหภูมิของอากาศ กับ ความรู้สึกร้อน-เย็น ที่ผิวหนังสัมผัสได้ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ได้สัมพันธ์กันแบบตรงไปตรงมาขนาดนั้น อุณหภูมิเป็นค่าที่แสดงถึงระดับพลังงานจลน์ของอนุภาคสสาร ทั้งดิน น้ำ อากาศสิ่งของต่าง ๆ เราสามารถวัดค่าพลังงานออกมาเป็นตัวเลข เช่น เซลเซียส ฟาเรนไฮต์ ฯลฯ

ในขณะที่ความรู้สึกร้อน-เย็น เป็นเรื่องของการรับรู้ (perception) ที่สมองตีความจากประสาทสัมผัสที่ถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การถ่ายเทพลังงานระหว่างวัตถุที่มีอุณหภูมิแตกต่างจากร่างกายทำให้เรารู้สึกร้อน-เย็นขึ้นมา แต่ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของร่างกายกับอุณหภูมิอากาศไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อความรู้สึกร้อน-เย็น

ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้เรื่องนี้เลยได้มีการกำหนดค่าที่เรียกว่า Feels Like ขึ้นมา โดยอ้างอิงจากค่าดัชนีความร้อน เพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ดัชนีความร้อน (Heat Index) คืออะไร

ดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่ร่างกายคนหรือสัตว์รู้สึกได้ในขณะนั้น (Apparent Temperature) ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร ซึ่งต่างกับอุณหภูมิอากาศที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ทั่วไป โดยเป็นการนำอุณหภูมิของอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ มาทำการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น 

เนื่องจากร่างกายของคนหรือสัตว์ ระบายความร้อนด้วยเหงื่อ ดังนั้นถ้าความชื้นสูง เหงื่อก็ไม่สามารถระเหยได้ หรือขับเหงื่อไม่ออก เนื่องจากไอน้ำในอากาศอิ่มตัว ความร้อนก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานจะเกิดอันตรายได้ แบ่งเป็น 4 แบบดังนี้

ใช้ในที่ร่มเท่านั้น ถ้ากลางแจ้งออกแดดให้บวกอุณหภูมิขึ้นอีก 8 องศาเซลเซียส

อันตรายจากดัชนีความร้อน

การจัดหมวดหมู่ดัชนีความร้อนผลกระทบทางร่างกาย
เฝ้าระวัง27-31 องศาเซลเซียสอ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
เตือนภัย32-41 องศาเซลเซียสเกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
อันตราย41-54 องศาเซลเซียสมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
อันตรายมากมากกว่า 54 องศาเซลเซียสเกิดภาวะลมแดด หรือ Heatstorke มีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในล้มเหลว และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน

วิธีตรวจสอบดัชนีความร้อน ตรงที่เราอยู่ร้อนแค่ไหน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าความร้อนที่กำลังเผชิญอยู่นั้นอยู่ที่กี่องศากันแน่ มีการแจ้งเตือนภัยเหตุการณ์อากาศร้อนจัดหรือเปล่า ทำให้ประเมินอันตรายที่จะเกิดขึ้นไม่ถูก โดยวิธีตรวจสอบที่ง่ายที่สุดให้ทำตามนี้

  1. เปิดบริการตำแหน่งในอุปกรณ์
  2. ไปที่ google.com
  3. แล้วพิมพ์ตรงช่องค้นหาว่า “อากาศวันนี้” ก็จะขึ้นอุณหภูมิตำแหน่งที่เราอยู่ขึ้นมา หรือเปิดแอปสภาพอากาศในโทรศัพท์พร้อมให้สิทธิ์การเข้าถึงตำแหน่ง (GPS Location) ก็ได้เหมือนกัน
  4. ให้สังเกตว่ามีแจ้งเตือนอากาศร้อนที่เป็นอันตรายหรือไม่
  5. ถ้าอยากเทียบค่าดัชนีความร้อนด้วยเอง ให้อ้างอิงตามตารางข้างบนก็ได้เช่นกัน

ดังนั้นสำหรับค่าความชื้นสัมพัทธ์ของประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาคเฉลี่ยอยู่ที่ 60-90% ทำให้ความร้อนที่ร่างกายรู้สึกได้มักจะสูงกว่าที่เราดูในแอปมือถือแน่นอน คือร้อนแบบเท่าทวีคูณ ยังไงก็อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการออกกลางแจ้งในเวลาเที่ยง-บ่าย ที่มีความร้อนสูงที่สุดของวัน 

ที่มา : weather wiki กรมอุตินิยมวิทยา