สืบเนื่องจากประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวหาทรูว่า ‘ทรูรื้อถอนสถานีฐาน เหลือแต่เสาดัมมี ทำเน็ตอืด สวนทางค่าบริการแพง’ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 และทรูได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในวันถัดมานั้น – ความคืบหน้าล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสภาผู้บริโภค ได้ชวนให้ผู้บริโภคชวนทำแบบสำรวจในหัวข้อ ‘ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม’ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะยื่นส่งให้ กสทช.พิจารณาแก้ปัญหา และผลักดันเป็นนโยบายต่าง ๆ ต่อไป
สรุปประเด็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทรู กรณีควบรวมดีแทค
ข้อกล่าวหาของผู้บริโภคต่อทรูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้
- ทรูไล่รื้อถอนสถานีฐาน เหลือแต่เสาดัมมี
- ทรูถอดกล่องรับสัญญาณดีแทคออก ทำเน็ตอืดกว่าเดิม
- ทรูจงใจฮั้วราคาเอไอเอส
- ทรูไม่มีการลดค่าบริการเฉลี่ย 12% ตามคำสั่ง กสทช.
เกี่ยวกับสองประเด็นแรก ทรูชี้แจงว่าไม่ได้ลดจำนวนสถานีฐาน เพียงแต่ลดเสาที่ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสัญญาณกวนกันเอง ส่วนกล่องรับสัญญาณเตรียมย้ายไปเสาใหม่ เพื่อทำระบบโครงข่ายเดียว หรือ Single Grid หากทำสำเร็จจะช่วยให้เน็ตเร็วขึ้นสูงสุด 110% นอกจากนี้ ทรูยังยืนยันด้วยว่าไม่เคยมีการฮั้วราคากับทางเอไอเอสตามที่ถูกกล่าวหา
อย่างไรก็ดี ประเด็นการลดเพดานค่าบริการเฉลี่ย 12% ภายใน 90 วัน นับจากประกาศควบรวมวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ไม่ได้มีการเอ่ยถึงในแถลงการณ์จากทรูนั้น ทาง กสทช.ให้ชี้แจงว่า “ผู้ประกอบการได้ส่งข้อมูลการลดค่าบริการเฉลี่ย 12% แล้ว และกำลังจะนำเสนอขึ้นสู่คณะกรรมการ กสทช.ภายในเดือนพฤศจิกายน พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภค รวมถึงจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ผู้ประกอบการควรชี้แจงแก่ผู้บริโภคด้วย”
ขอแรงผู้บริโภคทำแบบสำรวจ เพื่อส่งเป็นหลักฐานให้ กสทช.
หลังมีกระแสข่าวว่าผู้ใช้บริการหลายราย ถูกลดความเร็วเน็ตโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยเกิดขึ้นหลังทรูควบรวมดีแทค ทาง กสทช.มองความเป็นไปได้สองทาง คือ
- ผู้ให้บริการไม่ได้แอบลดความเร็วเน็ต แต่มีผู้ใช้งานเยอะขึ้น
- ผู้ใช้บริการใช้โปรเน็ตราคาถูกเป็นจำนวนมาก จึงดึงสัญญาณกันเอง
พร้อมกันนี้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นประธานคณะอนุฯ ติดตามผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ คาดว่าจะรู้ข้อเท็จจริงก่อนปีใหม่
นพ.สรณ บอกว่า “ต้องมีเอกสารมายืนยันได้ว่าค่าโทรแพงขึ้นจริงหรือคุณภาพสัญญาณแย่ลงจริง เพราะการเป็น กสทช.ไม่สามารถตอบได้ตรงนี้ ต้องมีข้อมูลเข้ามาสนับสนุน จะยึดเอาความรู้สึกไม่ได้”
ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิผู้บริโภค ร่วมกับสภาผู้บริโภค จึงชวนชาวเน็ตทำแบบสำรวจออนไลน์ผ่าน Google Forms เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะยื่นส่งให้ กสทช.พิจารณาแก้ปัญหา และผลักดันเป็นนโยบายต่าง ๆ ต่อไป ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น
สามารถร่วมทำแบบสำรวจได้ที่ forms.gle/bwnNQpcYBvtKhao38 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยผลสำรวจจะมีการเผยแพร่ช่วงต้นเดือนธันวาคม จากนั้น สภาผู้บริโภคจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคแบบ focus group และจะมีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคทุกพื้นที่ต่อไป
Comment