Google เป็นหนึ่งในผู้ผลิตมือถือกลุ่มแรก ๆ ที่แสดงท่าทีสนับสนุนกฎ right to repair ของสหภาพยุโรปและบางรัฐในอเมริกา จากการเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถซื้ออะไหล่ไปซ่อมมือถือเองได้โดยไม่ตัดประกัน แต่คำว่า ‘อะไหล่’ ในที่นี้ หมายถึง ‘อะไหล่แท้’ เพียงอย่างเดียว เพราะ Google มีกฎที่ระบุว่า บริษัทจะไม่ส่งมือถือคืน หากตรวจพบว่ามือถือเครื่องนั้น ๆ เคยผ่านการซ่อมด้วยอะไหล่เทียบมาก่อน ซึ่งอาจเป็นกฎที่ทำให้หลายคนต้องประหลาดใจไปตาม ๆ กัน
[อัปเดต 7 มิถุนายน 2024] ล่าสุด Google เปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารข้อกำหนดการใช้งานและการซ่อมในส่วนที่เป็นประเด็นแล้ว โดยเปลี่ยนใหม่เป็น
"Unauthorized Parts: If You send a Device containing non-Google-authorized parts for repair, in certain situations (e.g., safety), Service Provider may not be able to repair Your Device. Service Provider will return Your Device except when health or safety requirements prevent us from doing so. If Service Provider can’t return Your Device, Google will work with You on next steps."
ซึ่งก็เป็นไปตามที่แจ้งไว้ตั้งแต่วันก่อน คือ Google หรือผู้ให้บริการซ่อมจะไม่เก็บมือถือของลูกค้าไว้แล้ว แต่จะส่งคืนแทน (เนื้อหาเดิมอ่านต่อที่ด้านล่าง)
[เนื้อหาเดิม 5 มิถุนายน 2024 ] เดิมที Google ประกาศกฎนี้ออกมาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2023 แล้ว แต่ที่พึ่งมาเป็นประเด็นเพราะยูทูบเบอร์ Louis Rossmann พึ่งสังเกตเห็น จากนั้นเว็บไซต์ Android Authority จึงนำมาเสนอเป็นข่าวไปเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยข้อความที่ระบุในเอกสารคือ
"Unauthorized Parts: You will not send in a Device containing non-Google-authorized parts – if You do, Your Device will not be returned to you."
ต่อมา เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นบนเว็บบอร์ด Reddit ซึ่ง Google ก็ถูกวิจารณ์ไปพอสมควร และมีการโยงไปถึงเคสของ Samsung กับ iFixit ที่พึ่งเกิดไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน รวมถึงกรณีของ Apple ที่เกิดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว กับความพยายามในการบล็อกไม่ให้ใช้อะไหล่เทียบด้วยเทคนิคต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ล่าสุด Google ชี้แจงกับ Android Authority บอกว่า กฎนี้มีไว้เพื่อความปลอดภัยของตัวลูกค้าเอง แต่ Google ก็ยินดีจะเปลี่ยนกฎใหม่ให้มีความเหมาะสมกว่าเดิม และจะไม่ยึดมือถือลูกค้าไว้แล้ว แต่อาจปฏิเสธการซ่อม หรือส่งคืน ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า Google ยังเป็นบริษัทที่สนับสนุนแนวทาง self-repair ตามเดิม โดยจะมีการอัปเดตข้อกำหนดการให้บริการและการซ่อมในเร็ว ๆ นี้ (ตอนที่เขียนข่าวอยู่นี้ ยังไม่มีการอัปเดต)
จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจแสดงให้เห็นว่านโยบาย right to repair ในปัจจุบันยังมีจุดให้ต้องปรับปรุงอยู่อีกมาก และทาง Android Authority ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า โปรแกรม self-repair ของค่ายต่าง ๆ ที่ประกาศออกมา ก็เหมือนเป็นแค่การแสดง ดังสำนวนไทยที่ว่า ‘ปากว่าตาขยิบ’ ต่อหน้าพูดอย่างหนึ่ง แต่ลับหลังกลับทำอีกอย่างหนึ่ง
ที่มา : Android Authority
กฎ right to repair มันไม่ครอบคลุมในไทยใช่ไหมครับ หรือเพราะตลาดบ้านเรามันเล็กจนเค้าเมิน
ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศครับ ผู้ผลิตมีหน้าที่แค่ทำตาม ถ้าไม่มีกฎมารองรับ เข้าใจว่าปกติก็ยึดตามแนวทางเดิมกันหมด คือ แกะเครื่อง = ประกันขาด
อย่างของ Apple ประเทศไทย ก็เขียนชัดเจนว่าห้ามดัดแปลงเครื่องเองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลูกค้าใช้อะไหล่เทียบ แล้วมีสิทธิ์อะไรไปยึดของลูกค้าล่ะ ก็ซ่อมตามหน้าที่แล้วส่งกลับมาสิ หรือถ้ากลัวมีปัญหาก็ปฏิเสธการซ่อมแล้วส่งกลับเลย ไปยึดของเค้าทำไม