Google ปล่อยอัปเดต Android 14 QPR2 Beta 1 สำหรับมือถือตระกูล Pixel ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังมีฟีดแบ็กจากกลุ่มผู้ใช้งานตรงกันว่า ‘การอัปเดตรอบนี้ใช้เวลาติดตั้งน้อยลงกว่าเดิมมากอย่างสังเกตได้’ ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าเป็นผลมาจากการที่ Google เปลี่ยนอัลกอริทึมการบีบอัดไฟล์ใหม่ จาก G4 แบบเดิม เป็น LZ4

ก่อนจะเข้าประเด็น LZ4 และ G4 ต้องเล่าก่อนว่ามือถือ Pixel ของ Google ใช้วิธีการอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ A/B system update หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า seamless update ข้อดีคือ การอัปเดตจะทำงานอยู่ในเบื้องหลัง ส่งผลให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานมือถือต่อไปได้ตามปกติขณะดำเนินการ ไม่ต้องรอดูหุ่นยนต์ Android นอนหงายท้องเหมือนค่ายอื่น

แต่ถึงแม้ seamless update จะเป็นแนวคิดที่ฟังดูดี แต่ที่ผ่านมาในทางปฏิบัติแล้ว วิธีการนี้มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ มันใช้เวลานานกว่าการอัปเดตแบบปกติมาก แม้แต่การอัปเดตแพตช์ความปลอดภัยเล็ก ๆ ขนาดไม่กี่ MB ยังอาจกินเวลาได้ถึง 25 – 45 นาที หรือนานกว่านั้น ซึ่งผู้ใช้งานบางส่วนคงไม่ประทับใจเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ดี ด้วยอัลกอริทึมการบีบอัดไฟล์แบบ LZ4 ที่ Google เริ่มนำมาทดลองใช้งานครั้งแรกกับ Android 14 QPR2 Beta 1 สามารถย่นระยะเวลาการอัปเดตลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้เวลาเพียง 5 – 15 นาที

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Artem Russakovskii ผู้ก่อตั้ง APKMirror อธิบายว่าระหว่างการอัปเดต Android ต้องมีการบีบอัด ‘บล็อกขนาดเล็ก’ นับพันรายการ ซึ่งวิธีการแบบเดิมจะมีการเขียนไฟล์ขนาด 4KB แยกกัน 200 ไฟล์ ในขณะที่วิธีการใหม่จะดำเนินการแบบคู่ขนาน โดยรวมไฟล์ 4KB เหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นก้อนเดียวขนาด 800KB

สำหรับอุปกรณ์ Pixel ที่ได้ประโยชน์จาก LZ4 มีด้วยกัน 7 รุ่น ตามรายชื่อด้านล่าง และรวมถึงรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวในอนาคต

  • Pixel 7
  • Pixel 7 Pro
  • Pixel 7a
  • Pixel 8
  • Pixel 8 Pro
  • Pixel Fold
  • Pixel Tablet

Google อธิบายว่า LZ4 เป็นการบีบอัดไฟล์แบบไม่สูญเสียข้อมูล ให้ความเร็วบีบอัดสูงกว่า 500 MBps และสามารถปรับสเกลได้ด้วยซีพียูแบบมัลติคอร์ โดย Mishaal Rahman กล่าวเสริมว่า Google ใช้ซีพียู ‘คอร์กลาง’ ของชิปเซต Tensor มาช่วยประมวลผล แลกกับการที่มือถือจะกินแบตกว่าปกติเล็กน้อยขณะอัปเดต

Russakovskii บอกว่าผู้ผลิต Android รายอื่นสามารถนำอัลกอริทึม LZ4 ไปใช้งานกับมือถือของตนได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไม Pixel รุ่นเก่า ๆ ตั้งแต่ Pixel 6 ลงไปถึงยังใช้อัลกอริทึม G4 แบบเก่าอยู่

ที่มา : Artem Russakovskii | Mishaal Rahman | Google