มือถือ Pixel จาก Google เริ่มได้รับความสนใจจากชาวไทยมากขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะตอนที่โฆษณาของ Apple กลายเป็นดราม่า จนถูกยกไปเทียบกับโฆษณา Pixel 7 ที่ถ่ายทำในไทยไปเมื่อ 2 ปีก่อน ประจวบเหมาะกับการที่ Pixel 9 พึ่งเปิดตัวในเดือนนี้พอดี กระแสก็ยิ่งทวีความแรง ทว่า ประเด็นสำคัญคือ ‘เครื่องหิ้ว’ ยังเป็นเพียงทางเลือกเดียวในตอนนี้ เพราะกูเกิลไม่เคยเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการในไทย – ทาง DroidSans จึงถือโอกาสนี้ พาทุกคนมาไขข้อข้องใจว่า Pixel เครื่องหิ้ว กับการใช้งานในไทย เป็นอย่างไรในปัจจุบัน และมีข้อจำกัดอะไรที่ควรทราบบ้าง หากอยากจะเข้าวงการ

รองรับภาษาไทยไหม

มือถือ Pixel รองรับภาษาไทยทุกรุ่น ที่สำคัญคือ กูเกิลแปลชื่อเมนู ข้อความ หรือคำอธิบายในระบบ ออกมาได้ดีกว่ามือถือหลาย ๆ ค่ายในตลาดด้วยซ้ำไป

ใช้ 5G และ VoLTE ได้ไหม

ตั้งแต่ Pixel 6 เป็นต้นมา มือถือ Pixel ทุกรุ่น สามารถใช้งาน 5G และ VoLTE ในไทยได้แล้ว โดยความเร็วขึ้นอยู่กับความแรงของสัญญาณ เช่นเดียวกับมือถือค่ายอื่น ๆ ส่วนรุ่นที่ต่ำกว่านี้ลงไป หากอยากใช้ 5G จำเป็นต้องรูตเครื่องเพื่อลงโมดูลปลดล็อก หรืออาจมีคัสตอมรอมบางตัวที่รองรับ แต่ทั้งสองวิธีนี้คงไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเท่าไหร่นัก

ทำ eSIM ได้ไหม

มือถือ Pixel รองรับ eSIM และสามารถเปิดใช้งาน eSIM ในไทยได้ ทั้ง AIS, True และ dtac ตั้งแต่รุ่น Pixel 3 ขึ้นไป แต่ทั้งนี้อาจมี Pixel บางโมเดลที่เครื่องเป็นเวอร์ชันซิมเดี่ยว รองรับแค่ nano-SIM อย่างเดียว ดังนั้นเพื่อความชัวร์ แนะนำให้ตรวจสอบกับคนขายก่อนซื้อ

ส่วนกรณีเปิดใช้งาน eSIM ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งานบางรายอาจพบว่าพนักงานปฏิเสธที่จะทำ eSIM ให้ ด้วยเหตุผลคือ มือถือ Pixel ไม่ได้วางขายในไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่มีรายชื่ออยู่ในอุปกรณ์ที่รองรับ eSIM ของทางเครือข่ายฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ประเด็นนี้เริ่มซาลงไปมากในช่วงหลัง โดยเฉพาะศูนย์บริการฯ ในกรุงเทพฯ ที่หลายคนแจ้งตรงกันว่าไม่มีปัญหาแล้ว

ใช้แอปธนาคารได้ไหม

แอปธนาคารบนมือถือ Pixel สามารถใช้งานได้ทุกแอป เต็มระบบ ฝาก ถอน โอน จ่าย ยกเว้น Krungthai NEXT ที่จะไม่สามารถสแกนหน้าได้ กรณีผูกบัญชีกับเครื่องครั้งแรก จนกว่าจะติดต่อกับทางธนาคารโดยตรงเพื่อปลดล็อก หลังจากนั้นสามารถใช้งานได้ตามปกติทุกฟังก์ชัน

หาซื้อที่ไหน

มือถือ Pixel หาซื้อได้ง่ายสุดที่ช่องทางออนไลน์ ทั้งแอปช็อปปิง และหน้าเว็บหรือหน้าเพจของร้านที่หิ้วมาขาย ซึ่งมีให้เลือกหลายร้าน กรณีที่เป็นร้านตู้ อาจมีให้เห็นได้บ้าง แต่ไม่เยอะนัก (คงไม่มีใครอยากเสี่ยงสต็อกสินค้า)

ควรซื้อเครื่องโมเดลไหน

มือถือ Pixel รุ่นหลัง ๆ จะมีด้วยกัน 3 หรือ 4 โมเดลขึ้นไป โมเดลที่เป็นที่นิยมในไทยคือ US (SIM-free) หรือเครื่องไม่ติดล็อก และโมเดล Global ปกติร้านจะมีระบุชัดเจน ถ้าไม่มี ควรถามก่อนเสมอ

นอกจากนี้ โมเดล JP ก็สามารถใช้งานในไทยได้ปกติเช่นกัน โดยเครื่อง JP มีข้อดีคือ ราคาถูกกว่าโมเดล US (SIM-free) และ Global และรองรับ FeliCa สามารถผูกกับบัตร Suica ได้ เหมาะสำหรับคนที่เดินทางไปญี่ปุ่นบ่อย แลกมากับการที่ไม่สามารถปิดเสียงชัตเตอร์ได้ ตามกฎหมายของญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้เสียงดังอะไรมากนัก

ส่วนโมเดลที่ไม่แนะนำคือ US (Verizon) เพราะไม่สามารถปลดล็อก bootloader ได้ หากในอนาคตอยากแฟลชไปใช้งานคัสตอมรอมตัวอื่น ก็จะไม่สามารถทำได้ และปกติก็จะไม่มีร้านไหนนำเครื่องโมเดลนี้มาขายอยู่แล้ว เว้นแต่จะเป็นเครื่องมือสอง ที่บ่อยครั้งพบเป็นเครื่องที่บายพาสมา แล้วนำมาขายในราคาถูกมาก ๆ ซึ่งวิธีการได้มานั้นสุดแต่จะคาดเดา โดยเครื่องประเภทนี้จะกลับมาติดล็อกทุกครั้งหลังคืนค่าโรงงาน และหากเป็นเครื่องที่ขโมยมา วันดีคืนดีอาจโดนสั่งรีโมตล็อกเครื่องจากระยะไกล ซึ่งก็มีให้เห็นมาแล้ว

อยากเข้าวงการ ควรเริ่มที่รุ่นไหน

Pixel 6 เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนอยากเริ่มเข้าวงการ เพราะยังหาซื้อง่ายอยู่ ทั้งมือหนึ่งมือสอง และราคาเริ่มต้นค่อนข้างเป็นมิตรกับกระเป๋าเงิน แต่จะเป็นการดีกว่าหากขยับไป Pixel 7 หรือ Pixel 7a เพราะราคาไม่ได้ห่างกันมากนัก ในขณะที่ซอฟต์แวร์ยังไปต่อได้ถึง Android 16 ในปีหน้า ส่วนรุ่นที่ต่ำกว่านี้ ตั้งแต่ Pixel 5 และ Pixel 5a ลงไป ไม่แนะนำเท่าไหร่ เหตุผลคือ

  • ไม่มีรุ่นไหนได้รับการอัปเดตระบบปฏิบัติการแล้ว
  • ไม่มีมือหนึ่งขายแล้ว หรือต่อให้มีก็หายาก และแพง
  • เปิดตัวมานานหลายปี ป่านนี้แบตคงเสื่อมไม่เหลือ
  • ชิปเซตและฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ไม่ทันสมัยเท่ารุ่นใหม่

เครื่องเสีย ซ่อมที่ไหน

ถ้าอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ประเด็นนี้คงไม่น่ากังวลเท่าไหร่นัก ตอนนี้มีร้านตู้หลายร้านที่รับซ่อมมือถือ Pixel แล้ว (อาจต้องนำอะไหล่ไปเอง แท้ – เทียบ ตามสะดวก) แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัด คงต้องสอบถามดูเป็นรายกรณี

อีกเคสคือ ร้านที่ขายมือถือ Pixel บางร้าน อาจมีบริการรับส่งเครื่องไปซ่อมกับกูเกิลโดยตรงที่ประเทศต้นทาง โดยลูกค้าเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ข้อดีคือ หากเป็นอาการเสียที่อยู่ภายในประกัน และระยะการรับประกัน อาจไม่ต้องเสียเงินค่าซ่อมแม้แต่บาทเดียว

ระวังเครื่องรีเฟอร์บิช

มือถือ Pixel เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีเครื่องรีเฟอร์บิชจากจีนขายกันเกลื่อน บางคนอาจเต็มใจที่จะซื้อ เพราะราคาถูกกว่าเครื่องปกติหลายพันบาท แม้งานซ่อมจะดูไม่ค่อยมีมาตรฐานมากนัก (สังเกตจากคอมเมนต์รีวิว) ได้เครื่องดีก็ดีไป ได้เครื่องแย่ก็มาปวดหัวทีหลัง

แต่ปัญหาคือ ร้านที่รับเครื่องพวกนี้มาขายต่อ บางร้านตีเนียนว่าเป็นเครื่องมือหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม ทำให้ลูกค้าที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อเครื่องรีเฟอร์ฯ ตั้งแต่แรกอาจเกิดความเข้าใจผิด จึงควรเลือกซื้อกับร้านที่ไว้ใจได้ ส่วนวิธีสังเกตเครื่องรีเฟอร์ฯ เบื้องต้น มีดังนี้

  • ถาดซิมไม่มีหมายเลข IMEI
  • อาจมีสติกเกอร์บาร์โค้ด IMEI และ SKU แปะที่หลังเครื่อง
  • กล่องไม่เนี้ยบ ฟอนต์สกรีนไม่ตรง ไม่ชัด สีเข้มแปลก ๆ
  • อุปกรณ์เสริมในกล่อง ไม่ตรงยี่ห้อ
  • ราคาถูกผิดปกติ
มีสติ๊กเกอร์แบบนี้ = เครื่องรีเฟอร์บิชจีน

ยังได้สิทธิ์ Google Photos อัปโหลดรูปไม่จำกัดอยู่ไหม

มีเฉพาะ Pixel รุ่นแรกที่ได้สิทธิ์อัปโหลดภาพขึ้น Google Photos แบบไม่จำกัดตลอดชีพ ทั้ง High Quality และ Original ส่วนรุ่นถัดจากนั้น ได้สิทธิ์อัปโหลด High Quality ไม่จำกัดจนถึง Pixel 5 เป็นรุ่นสุดท้าย หรือกล่าวอีกทางคือ ตั้งแต่ Pixel 5a เป็นต้นมา ไม่มีรุ่นไหนได้สิทธิพิเศษอะไรแล้ว (มีบางรุ่นที่เคยได้ แต่ก็เป็นแบบจำกัดเวลา ซึ่งตอนนี้ก็เกินเวลาไปหมดแล้ว ตีซะว่าไม่มี)

รุ่นคุณภาพการอัปโหลด
High QualityOriginal
Pixel / Pixel XLไม่จำกัดตลอดชีพไม่จำกัดตลอดชีพ
Pixel 2 / Pixel 2 XLไม่จำกัดตลอดชีพรวมกับพื้นที่ของ Drive
Pixel 3 / Pixel 3 XL
Pixel 3a / Pixel 3a XL
Pixel 4 / Pixel 4 XL
Pixel 4a / Pixel 4a XL
Pixel 5
Pixel 5a เป็นต้นไปรวมกับพื้นที่ของ Drive

ดูสเปค Pixel แต่ละรุ่น

สรุป

มือถือ Pixel ในไทย ยังมีข้อจำกัดใหญ่ ๆ สองประการ ประการแรกคือ ไม่มีวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่มีเครื่องจริงให้ลองจับลองเล่น (ร้านขายมือสอง บางร้านอาจยอมให้ลอง) ประการถัดมาคือ ไม่มีศูนย์บริการฯ อาจต้องทำใจเรื่องความไม่สะดวกในการซ่อม และการที่ไม่มีพนักงานคอยให้บริการหลังการขาย

หากไม่นับสองข้อนี้ ในภาพรวมแล้ว มือถือ Pixel ก็สามารถใช้งานในไทยได้เกือบจะปกติสมบูรณ์ 100% โดยมีฟีเจอร์ยิบย่อยบางอย่างเท่านั้นที่กูเกิลล็อกโซน ยังไม่เปิดให้ใช้งาน แต่โดยทั่วไปก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรบ้าง เช่น ฟีเจอร์สภาพอากาศในแอป Clock เป็นต้น