Google Play Store ประกาศออกกฎใหม่สำหรับผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน บังคับห้ามมีโฆษณาขัดจังหวะประสบการณ์ของผู้ใช้งาน อย่างเช่นโฆษณาที่เด้งขึ้นมาแบบเต็มจอระหว่างใช้งาน หรือช่วงต้นเนื้อหา และโฆษณาเต็มจอที่กดปิดไม่ได้หลังจากเกิน 15 วินาทีไปแล้ว และยังเตรียมลงดาบกับแอปประเภทเลียนแบบแอปอื่น ๆ และแอปที่มีการสมัครบริการเสียเงิน แต่ว่ายกเลิกยากอีกด้วย

ปรับการโฆษณาไม่ให้รบกวนผู้ใช้

หลายคนคงเคยเจอโฆษณาในแอปพลิเคชันหลายตัวที่ใช้งานอยู่ดี ๆ ก็มี Ad เด้งพรวดขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว หรือขึ้นมาขัดจังหวะระหว่างการใช้งานจนทำให้รำคาญใจ แต่ก็ต้องทนใช้เพราะจำเป็นต้องใช้งานแอปเหล่านั้น แต่ต่อไปนี้ชาวผู้ใช้อย่างเรา ๆ คงไม่ต้องทนกับโฆษณาแบบนี้กันอีกแล้ว เพราะ Google Play ได้ออกมาประกาศประกาศนโยบายสำหรับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ มาตรฐานโฆษณาที่ดีกว่าด้านประสบการณ์ใช้งานแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Better Ads Standards – Mobile Apps Experiences) โดยมีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้ 

ห้ามโฆษณาคั่นแบบเต็มจอโดยไม่มีการเตือน

โฆษณาประเภทนี้จะโผล่มาในช่วงที่เราตั้งใจจะทำอย่างอื่นอยู่ เช่น โผล่มาระหว่างเพิ่งเริ่มเล่นเกมหรือช่วงต้นเริ่มเปิดดูเนื้อหาในแอพ และโฆษณาที่ขึ้นมาระหว่างก่อนหน้าจอการโหลดของแอพ โดย Google Play ห้ามโฆษณาประเภทนี้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ GIF และภาพนิ่ง เป็นต้น

ตัวอย่างโฆษณาเต็มจอที่เด้งขึ้นมาขัดจังหวะแบบไม่มีการเตือน

ตัวอย่างโฆษณาที่ขึ้นมาระหว่างช่วงต้นของการเปิดดูเนื้อหา

ห้ามโฆษณาเต็มหน้าจอที่กดปิดไม่ได้แม้ผ่านไปแล้ว 15 วินาที

โฆษณาประเภทนี้จะปรากฏขึ้นมาระหว่างการเล่นเกมโดยที่ไม่โชว์ปุ่มให้กดปิดเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 15 วินาที ซึ่งปกติแล้วในระหว่างการเล่นเกมนั้นจะได้รับอนุญาตให้มีการแสดงโฆษณาได้ แต่โฆษณาบางตัวกลับมีความยาวจนเกินไป ทำให้เสียอารมณ์ระหว่างการใช้งานแอปได้ นโยบายนี้จึงบังคับว่าต้องกำหนดให้กดปิดโฆษณาได้หลังผ่านไป 15 วินาที

ตัวอย่างโฆษณาระหว่างเกมที่ปิดไม่ได้แม้ผ่านไปแล้ว 15 วินาที

จะเห็นได้ว่านโยบายใหม่ของโฆษณาในแอปต่าง ๆ จะยังคงมีอยู่ได้ แต่จะต้องดูด้วยว่ามันจะไม่ขัดจังหวะการใช้งาน ก็นับได้ว่าเป็นการอัปเดตใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานดี ๆ ให้ผู้ใช้ไม่ต้องคอยสู้รบกับโฆษณาที่ขึ้นมาตอนทีเผลอ จนเบื่อหน่ายกันไปอย่างแต่ก่อนแล้ว 

แอปที่จงใจเลียนแบบแอปอื่น ๆ

ในอัปเดตนโยบายใหม่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการจัดการแอปที่แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ที่ในบางครั้งจะมีแอปบางตัวตีเนียนใส่ชื่อ คำอธิบาย และไอคอน ส่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าแอปพลิเคชันนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือถูกพัฒนาโดยบุคคลอื่น โดย Google Play แยกประเภทลักษณะพฤติกรรมเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภท

นักพัฒนาแอปที่แอบอ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือบริษัทอื่น

การแอบอ้างชนิดนี้คือการใช้ชื่อหรือคำอธิบายที่ทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่ามีความข้องเกี่ยวกับบุคคลอื่นทั้งที่ไม่เป็นความจริง

ตัวอย่างแอปที่แอบอ้างว่าเป็นทีมพัฒนาของ Google

 

แอปที่มีไอคอนและชื่อซึ่งแอบอ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับบริษัท/นักพัฒนาแอป/บุคคล/องค์กรอื่น

แอปที่ใช้โลโก้เป็นสัญลักษณ์ขององค์กร หรือหน่วยงานรัฐ, โลโก้เลียนแบบหน่วยงานธุรกิจอื่น ๆ เพื่อแอบอ้างว่าเป็นแอปอย่างเป็นทางการของธุรกิจ / องค์กรดังกล่าว

ตัวอย่างแอปที่ใช้ไอคอนเลียนแบบ หรือคล้ายคลึง

 

มีชื่อและไอคอนที่ดูคล้ายกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่แล้ว

แอปบางตัวจะมีการลอกเลียนแบบดีไซน์ของโลโก้ หรือตัวละครเข้ามาแล้วดัดแปลงเพิ่มเติมโดยยังคงให้ดูมีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่แล้วจนอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ตัวอย่างแอปที่ใช้ไอคอน หรือชื่อชวนให้สับสนกับแอปอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว

 

ต้องแจ้งข้อมูลการยกเลิกบริการให้ชัดเจน

อีกหัวข้อสำคัญในอัปเดตครั้งนี้ ก็ยังรวมไปถึงการที่แอปบางตัวที่ต้องมีการสมัครใช้บริการและเสียค่าบริการด้วย แต่อาจมีการปกปิดหรือจงใจทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถยกเลิกการสมัครสมาชิกได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น จะยเลิกสมาชิกต้องเข้าไปทำผ่านหน้าเว็บ, มีขั้นตอนการยกเลิกที่ยุ่งยาก เป็นต้น โดยกฎใหม่จะบังคับให้ผู้พัฒนาต้องใส่หน้ายกเลิกสมัครสมาชิกไว้ที่หน้าการตั้งค่าของแอป หรือมีลิงก์ไปที่หน้าการจัดการของ Google อย่างชัดเจน

จากนโยบายเหล่านี้จะเห็นได้ว่า Google เล็งเห็นปัญหาที่มีอยู่มาเนิ่นนานภายใน Play Store และพร้อมจัดการแอปพลิเคชันที่ปฏิบัติต่อผู้ใช้อย่างไม่ซื่อตรง และเพื่อให้ผู้พัฒนาได้มีเวลาแก้ไขกัน นโยบายเหล่านี้จะเริ่มทยอยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไปครับ…จริง ๆ ยังมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ ๆ ของ Google Play Store อีกเยอะเลย แต่ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายหลัก ๆ ที่น่าจะช่วยให้เราสามารถใช้งานแอปต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจและไม่ติดขัดครับ

 

ที่มา: Google, 9to5google