[บทความนี้แอบมีสาระและยาวมาก]
และแล้วในที่สุด Google ก็เริ่มทำการแก้ปัญหาเรื่องของ Fragmentation ที่เป็นปัญหาสุดฮอตฮอตฮิตสำหรับผู้ใช้ Android สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ Fragmentation นั้นมันก็คือความหลากหลาย(ที่มากเกินพอดี) ของทั้ง Hardware และ Software บนระบบปฏิบัติการนี้ที่เปิดให้ทุกคนทุกค่ายสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็คือค่ายมือถือต่างๆไม่จำเป็นต้องมาลงทุนสร้าง OS ของตัวเองมากมาย มี Application เสริมรองรับการใช้งาน จะใช้อุปกรณ์ชิ้นใดๆก็ได้ตามแต่ที่ต้องการ จะทำการปรับแต่งซอร์สโค้ดเพิ่มความสามารถอะไรให้เข้าไปเองก็ทำได้เช่นกัน แต่ในทางกลับกัน การที่มีคนนำไปใช้ได้มากมายนี้ ก็ทำให้เกิดความหลากหลาย และเกิดปัญหาในการเขียนโปรแกรมให้รองรับอุปกรณ์และซอฟท์แวร์เหล่านี้ตามมาด้วยนั่นเอง

ปัญหาที่เด่นชัดที่สุดจาก Fragmentation ที่เราสามารถได้เห็นกันคือ
1. เรื่องการอัพเดทเฟิร์มแวร์ – เสียงบ่นและเรียกร้องจะออกมาแทบจะทันทีเมื่อมีการออกอัพเดทเฟิร์มแวร์ให้สู่ผู้ใช้ “จะได้อัพหรือเปล่า” “เมื่อไหร่จะได้ซักที” “ทำไมไม่ยอมอัพให้”
2. เรื่องการใช้งาน software – เฟิร์มแวร์เราต่ำกว่าที่ต้องการเล่นไม่ได้ หาโปรแกรมในมาร์เก็ตไม่เจอ แสดงผลผิดเพี้ยน ฯลฯ
3. ความสมบูรณ์ของ Rom ในแต่ละค่าย – ทำไมแอนดรอย์ค่ายนี้มันรีสตาร์ทบ่อยจัง เล่นแล้วหน่วงหรือกระตุกตลอดเวลา หนังดูได้บ้างไม่ได้บ้าง ฟีเจอร์ของค่ายนี้มีแต่อีกค่ายนึงไม่มี

ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงแค่ด้านผู้ใช้เท่านั้นไม่ได้รวมถึงฝั่งนักพัฒนา และปัญหาเหล่านี้ก็มีที่มาและที่ไป เดี๋ยวจะมาตอบให้อีกทีครับ กลับเข้ามาสู่ข่าวก่อน

ทาง Google เค้าก็ทราบถึงปัญหานี้ดี และก็รู้ว่าเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน ซึ่งก็มีข้อจำกัดหลายๆอย่างที่ทำให้เค้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ในที่สุดถ้าไม่ตัดสินใจทำอะไรเลยก็คงจะไม่ไหวแล้วจึงได้เริ่มออกนโยบาย “Anti-Fragmentation” ออกมาเพื่อควบคุมให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟ์ทแวร์ดำเนินการไปในทางเดียวกันมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีการเซ็นสัญญากันในส่วนนี้ไปเรียบร้อยกับเหล่าผู้ผลิต CPU ที่จะควบคุมให้การเรียกชุดคำสั่งเป็นไปในทางเดียวกันและง่ายต่อนักพัฒนามากขึ้น

แล้วดราม่ามันเกิดตรงไหน และปัญหามันคืออะไร
หลังจากที่มีข่าวนี้ออกมา ก็มีหลายๆสำนักข่าวออกมาตีรวนเรื่องของการให้ไลเซนส์ “non-fragmentation clauses” ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับเหล่าค่ายผู้ผลิตมือถือต่างๆ (ที่ต้องใช้คำว่าเข้าใจเพราะหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่มีจริงๆ มีเพียงข่าวเดียวที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาคือทาง Bloomberg ที่ใช้คำกล่าวอ้างว่ามีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือบอกมาอีกที) ที่จะบีบให้แต่ละค่ายนั้นมีอิสระในการออกแบบและพัฒนา User Interface ของตนได้น้อยลงกว่าเดิม และยังต้องส่งโค้ดเข้าไปให้ทาง Google นั้นตรวจสอบก่อนอีกด้วย สร้างความไม่พอใจให้แก่ค่ายต่างๆมากมาย รวมถึง Facebook ที่มีข่าวลือว่าจะออกโทรศัพท์มาโดยใช้พื้นฐานจาก Android OS นั่นเอง และการกระทำเช่นนี้คนก็มองว่ามันขัดกับความที่บอกว่า Android เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดหรือไม่ และดราม่าก็เริ่มต้นจากตรงนี้ ด่าสวดกันยกใหญ่ไปให้ทั่วกัน

มาลองวิเคราะห์เป็นข้อๆไปกันดูครับ
1. เรื่องแรกเลยคือเรื่อง non-fragmentation clauses มันมีความเป็นไปได้ขนาดไหน
– สิ่งแรกที่ผมอ่านเลยคือจริงเหรอ?? พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วก็เจอแต่เรื่อง Anti-Fragmentation ที่ทำการเซ็นสัญญาไปแล้วกับทั้ง ARM, MIPS, Texus ซึ่งข่าวก่อนหน้านี้จาก digitime ก็เคยโจมตีว่าจะทำแค่เพียงกับ ARM เจ้าเดียวซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงเพราะทาง MIPS ก็ได้ให้สัมภาษณ์แก้ให้แล้ว และถึงแม้ว่า non-fragmentation clauses นี้เป็นจริง Google มีการจำกัดในส่วนของการออกแบบ UI เองเมื่อไหร่ ก็มีโอกาสที่ค่ายมือถือต่างๆจะไม่อยากเอาด้วยกับทาง Google ต่อนักเนื่องจากจะไม่สามารถสร้างความแตกต่างของแต่ละแบรนด์ได้เลย และยังต้องมาทำราคาตบกันเองอีก ถ้ามีการจำกัดจริงน่าจะเป็นในเรื่องของการแก้ไขโค้ดระบบหลักเลยมากกว่า เช่น การพัฒนาฟีเจอร์บางตัวเพิ่มที่แม้แต่ Android แท้ๆมันยังไม่สามารถทำได้ (เช่นตัว text selection ที่เราเห็นบน Galaxy S ซึ่งทาง Samsung ทำออกมาให้ได้ใช้ตั้งแต่ Froyo และทาง Android เพิ่งมาเพิ่มให้ตอน Gingerbread) และที่ขัดใจเป็นพิเศษสำหรับข่าวนี้ ที่มันดูเลื่อนลอยพิกลหาข้อมูลเพิ่มเติมได้น้อยมาก แต่ละเว็บที่พยายามตีข่าวนี้ก็มีที่มาจาก Bloomberg เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ยังไงต้องคอยติดตามกันว่าสุดท้ายจะเป็นไปตามที่เค้าได้เขียนไว้หรือไม่ครับ

2. หากต้องการใช้ Google Services ต้องทำการส่งโค้ดให้ตรวจก่อน
– เรื่องนี้ก็ต้องดูที่รายละเอียดลึกๆว่าตรวจขนาดไหนอย่างไร เพราะมันก็มองได้สองด้านอยู่ อย่างด้านที่ไม่ดีบอกว่า Google ปิดกั้นเกินไปนั้นก็อาจจะใช่ แต่มันก็คือนโยบายในการใช้งานบริการของ Google ที่ต้องการควบคุมคุณภาพและประสบการณ์ใช้งานของ Android ที่ไม่ใช่ว่าโทรศัพท์กากๆที่ไหนก็สามารถนำเอา Google Services ไปใช้ได้ และมันก็เป็นสิทธิ์ของทาง Google ที่จะออกนโยบายนี้ ถ้าไม่อยากทำตามก็ไม่ต้องใช้ มีบริการอื่นๆให้เลือกอีกมากมาย และยังสามารถดึงซอร์สโค้ดของระบบปฏิบัติการไปใช้ได้เหมือนเดิม

3. Android จะไม่ใช่ OpenSource อีกต่อไป
– หลังจากที่เริ่มมีดราม่าเรื่องที่ AOSP ของ Honeycomb ยังไม่ได้ปล่อยออกมาให้ได้โหลดมาใช้งานกันซักที ทั้งๆที่เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วนั้น ทาง Andy Rubin ก็เคยได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า “มันยังไม่พร้อมที่จะปล่อยออกมาให้ได้ใช้กันเพราะมันยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งถึงแม้จะว่ามีการเอาไปขายแล้วก็จริง แต่บางส่วนเช่น การเอาไปใช้กับโทรศัพท์ก็ยังไม่การันตี กลัวว่าจะได้รับประสบการณ์อันเลวร้ายตอบกลับมา” อันนี้ก็น่าคิดว่ามีเหตุมีผลขนาดไหน ผมก็คงไม่กล้าที่จะไปฟันธงหรอกว่า Google จะไม่ทำการทรยศคนทั่วไป ถอด Android ออกจากการเป็น OpenSource หรือไม่ ก็ได้แต่ติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปมากกว่าว่า Google จะ “be Evil” อย่างที่หลายๆคนกลัวรึเปล่า แต่ถ้าคิดจะทำจริงก็จะเรียกว่าเป็นการกลืนน้ำลายครั้งใหญ่และเชื่อว่า Google จะเสียแฟนไปอีกหลายกลุ่มกันเลยทีเดียว

สรุปส่งท้าย ไม่ว่าเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร แต่งานนี้ผมสนับสนุนให้ Google จัดการไปตามใจเถอะ ยังดีกว่าที่ปล่อยให้ปัญหา Fragmentation มันเกิดขึ้นไปเรื่อยๆและไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเดินทางใดเข้าใจว่ายังไงก็โดนด่าอยู่ดี แต่ทางเลือกที่เค้าจะไปนั้นถูกหรือผิดผลลัพธ์มันก็จะออกมาให้ได้เห็นเองเร็วๆนี้

[ไร้สาระจาก April Fools Day มาเลยขอจัดหนักๆให้ได้อ่านกัน ถ้าเกิดว่าใครมีข้อมูลเพิ่มเติมส่วนใดหรือข้อโต้แย้ง ก็เชิญมาเม้นท์ข้างล่างกันได้เต็มที่เลยครับ]

sources:
Do Not Anger the Alpha Android by Bloomberg
Google Holds Honeycomb Tight by Bloomberg
MIPS Releases Statement on Google’s UI Crackdown by AndroidGuys
MIPS Q&A on Android Anti-fragmentation

images courtesy:
http://www.visionmobile.com/blog/2010/05/the-many-faces-of-android-fragmentation/
http://www.businessweek.com/magazine/content/11_15/b4223041200216.htm