เหล่านักวิจัยจาก Google แผนกเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ค้นพบวิธีใหม่ในการตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจของผู้ป่วย โดยการใช้ระบบ AI แบบ machine learning เพื่อสแกนบริเวณด้านหลังของดวงตาและทำการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจของผู้ป่วยคนนั้นได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวมีความแม่นยำพอๆ กับวิธีปกติที่แพทย์ทั่วไปใช้เลยนะ

ระบบ AI ดังกล่าว อย่างที่บอกไปแล้วว่ามีความแม่นยำในการตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้แม่นยำพอๆ กับวิธีทางการแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ระบบ AI ดังกล่าว จะใช้เวลาในการวิเคราะห์ที่ไวกว่า และง่ายกว่ามาก เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการเจาะเลือดคนไข้ แถมเจาะเลือดเสร็จแล้วก็ต้องนำเลือดไปผ่านกระบวนการทางการแพทย์อีกรอบ ถึงจะเอาเลือดนั้นมาตรวจได้

การทำงานของ AI ตัวนี้ จะมีทีมแพทย์ที่คอยป้อนข้อมูลด้านสุขภาพร่างกายของคนไข้กว่า 300,000 คน เพื่อให้ AI นำไปวิเคราะห์ต่อ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนั้นรวมไปถึงการสแกนลูกตาของคนไข้ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ทั้งอายุ, ความดันเลือด, พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ฯลฯ เพื่อทำการวิเคราะห์หารูปแบบของผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และจดจำข้อมูลนั้นไว้ใช้ในเปรียบเทียบและวิเคราะห์ผู้ป่วยคนอื่นต่อไป ว่ามีรูปแบบเดียวกันกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจก่อนหน้านี้ที่เคยบันทึกเอารึเปล่า โดยการใช้วิธีดังกล่าวมีความแม่นยำถึง 70% ในขณะที่การใช้วิธีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความแม่นยำที่ 72% ซึ่งต่างกันแค่นิดเดียวเท่านั้นเอง

ส่วนการสแกนลูกตาของผู้ป่วยเพื่อหาความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจด้วย AI นี้ จริงๆ อาจจะฟังดูเหลือเชื่อไปหน่อย แต่ความจริงแล้วบริเวณด้านหลังลูกตาเป็นจุดรวมเส้นเลือดมากมายที่สามารถบอกถึงสุขภาพของคนคนนั้นได้เลยนะ

ด้านซ้ายคือภาพถ่ายบริเวณหลังดวงตาปกติ ภาพขวาคือภาพที่ระบบ AI ของ Google ทำการวิเคราะห์เส้นเลือด และความดันเลือด 

แต่ถึงยังไงความคิดที่ว่าระบบ AI จะสามารถเข้ามาแทนที่หมอจริงๆ ได้ ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาและเก็บรวบรวมข้อมูลอีกเป็นหลายสิบปี ส่วนในปัจจุบันและเร็วๆ นี้ ระบบ AI ทางการแพทย์ยังคงเป็นได้แค่เพียงผู้ช่วยสำหรับเหล่าแพทย์จริงๆ ให้ทำงานได้ง่ายและเร็วขึ้นเท่านั้น

 

ที่มา : Theverge