จากเหตุวิกฤต COVID-19 เรียกได้ว่าทั่วโลกได้รับผลกระทบกันหมด ซึ่งทางรัฐบาลของประเทศไทยเองก็เล็งเห็นถึงความทุกข์ร้อนของประชาชน จึงได้จัดโครงการให้รับเงินเยียวยาคนละเดือน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ผ่านเวบ เราไม่ทิ้งกัน.com แต่ยังเกิดความสับสนในรายละเอียดต่างๆ ทำให้หลายคนเดินทางไปเปิดบัญชีใหม่เพื่อรอรับเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นลองมาดูสรุปข้อมูลการรับเงินเยียวยากันดีกว่าว่า วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน มีอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ใครสามารถรับเงินได้บ้าง ?

  • ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน
  • ต้องประกอบอาชีพ “แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรืออาชีพอิสระ” ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม (ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33)
  • ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 (อาชีพอิสระที่ส่งประกันสังคมเอง)
  • ต้องไม่เป็นผู้มีสถานะนักเรียนหรือนักศึกษา ณ วันลงทะเบียน
  • ต้องไม่เป็นอาชีพ ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ อาชีพเกษตรกร หรือว่างงานอยู่แล้ว (กรณีเป็นเกษตรกรรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว)

คนที่มีประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้รับเงินเยียวยาด้วยไหม?

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าประกันสังคมมีเงินรองรับอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเข้าไปลงทะเบียนในโครงการนี้นะครับ รายละเอียดตามนี้

  • กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจ่ายเงินเดือนให้ 50% (ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท) สูงสุด 6 เดือน (180 วัน)
  • กรณีรัฐสั่งหยุด ประกันสังคมจ่ายเงินเดือนให้ 50% (ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท) สูงสุด 3 เดือน (90 วัน)

*เว้นแต่ว่าหากผู้ประกันตนมีคุณสมบัติไม่ครบที่จะได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคม สามารถเข้าร่วมโครงการรับเงิน 5,000 บาทได้ เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองก่อน

การรับเงินชดเชยกรณีประกอบอาชีพอิสระ

  • ถ้าประกอบอาชีพอิสระ แต่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม และเลือกรับเงินชดเชยจาก “เราไม่ทิ้งกัน” หากมีเงินชดเชยภาคเกษตรกรรมจะไม่สามารถรับได้ เพราะถือว่ารับไปแล้วจากโครงการนี้
  • ถ้าประกอบอาชีพอิสระ ไม่ต้องกรอกข้อมูลนายจ้าง แต่ให้ต้องกรอกข้อมูลสถานประกอบการให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจจริง และรัฐบาลจะมีการตรวจสอบจากฐานข้อมูลเอง
  • กรณีเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถลงทะเบียนได้ แต่ต้องเข้าเงื่อนไขกับทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด

วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน

วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน

  • เริ่มเปิดลงทะเบียนวันเสาร์ที่ 28 มี.ค 2563 เวลา 18.00 น. โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ : http://www.เราไม่ทิ้งกัน.com (ไม่ต้องไปธนาคาร)

วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน

  • เตรียมข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน, ข้อมูลส่วนบุคคล, บัญชีธนาคาร, ข้อมูลการประกอบอาชีพ, ข้อมูลนายจ้าง (กรณีมีนายจ้าง) และโทรศัพท์มือถือให้เรียบร้อยสำหรับรอรับรหัส OTP (One Time Password) นะครับ ที่สำคัญอย่าลืมอ่านเงื่อนไข พร้อมกับติ๊กถูกลงในช่อง “ตกลงและยอมรับตามเงื่อนไข” ด้วย

วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน

  • โปรดกรอกข้อมูลตามความเป็นจริง โดยเมื่อทำอะไรทุกอย่างเสร็จแล้ว ระบบจะส่ง OTP มาให้ผ่านทางเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไปนะครับ เบื้องต้นบางคนอาจจะรอนานนิดนึง

วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน

  • เมื่อได้รหัส OTP และกรอกอะไรเสร็จหมดเรียบร้อย ระบบจะขึ้นว่าได้รับข้อมูลการลงทะเบียนเรียบร้อย พร้อมกับจะแจ้งผลยืนยันผ่านทาง SMS และ Email ที่ลงทะเบียนไว้หลังจากตรวจสอบข้อมูลเสร็จสิ้น **หมายความว่าต้องรอระบบตรวจสอบก่อนนะครับ ยังไม่ได้แปลว่าจะได้รับเงินเยียวยา จนกว่าจะได้รับการยืนยันผ่านทาง SMS หรือ Email ที่ลงทะเบียนไว้**

วิธีลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน

  • ระบบจะใช้เวลาตรวจสอบสักระยะหนึ่ง หากผ่านเกณฑ์ จะมีการส่ง SMS ยืนยันว่าเราสามารถได้รับเงินเยียวยาจากโครงการนี้

ต้องไปเปิดบัญชีธนาคารไหม? จะได้รับเงินอย่างไร?

ย้ำกันให้อีกทีว่าไม่ต้องไปธนาคารนะครับ เพราะหากเรามีการผูกเลขบัตรประชาชนกับบัญชีธนาคารในระบบพร้อมเพย์อยู่แล้ว เงินจะโอนเข้าบัญชีให้ได้เลย

  • เงินชดเชย 5,000 บาท จะได้รับหลังจากได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้มิสิทธิ์ในโครงการแล้ว เร็วที่สุดคือ 7 วันทำการ (อาจล่าช้ากว่านั้นได้อีก)
  • เราสามารถเลือกใ้โอนเข้าบัญชีธนาคารใดก็ได้ หรือ บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนก็ได้เช่นกัน

หลังจากดูเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ โดยรวมของโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” แล้ว จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขที่กำหนดค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่ใครจะลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 5,000 บาทก็ได้ ซึ่งแน่นอนหากมองด้วยใจที่เป็นกลางจะรู้สึกได้เลยว่าโครงการนี้รัฐบาลต้องการที่จะช่วยเหลือคนที่จะเดือดร้อนจากเหตุวิกฤต COVID-19 จริงๆ

ก็หวังว่าโครงการนี้จะไม่มี คนหัวใส คนไม่เดือดร้อน แต่แอบเข้ามาลงทะเบียนเอาเงินไปใช้ เหมือนเมื่อตอนบัตร ATM คนจนนะครับ และต้องระวังพวกโดเมนแอบอ้างอีกด้วย

 

ที่มา : mof, thairath, สถานีข่าวกระทรวงการคลัง