หลังจากที่รัฐบาลประกาศเตรียมแจกเงินเยียวยาผู้ทำประกันสังคมตามมาตรา 33, 39 และ 40 ผ่านระบบ พร้อมเพย์ (promptpay) ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน ตอนนี้ก็มีข้อมูลออกมาเยอะมาก ทำให้ใครหลายคนอาจจะงง ๆ สับสนกันอยู่ว่าแล้วเราควรทำอย่างไรดี ได้เงินเท่าไร มีเงื่อนไขอะไรยังไงบ้าง ทีมงานจึงได้จัดทำบทความนี้สรุปขึ้นมาหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ โดยรายละเอียดจะมีอะไรบ้างมาดูกันครับ
เงินเยียวยาผู้ทำประกันสังคมมาตรา 33 ได้กี่บาท ?
สำหรับเงินเยียวยาส่วนนี้จะได้เฉพาะกิจการธุรกิจและลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการล็อคดาวน์ทั้งหมด 13 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และ พระนครศรีอยุธยา ที่ประกอบอาชีพใน 9 กลุ่มกิจการคือ
- ก่อสร้าง
- ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
- กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ
- การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์
- การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
- กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
- กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
รายละเอียดและเงื่อนไขผู้รับเงินเยียวยา ม.33 ที่เข้าเกณฑ์
- ลูกจ้างที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 เบื้องต้นจะได้รับเงินเยียวยา คนละ 2,500 บาท (ได้ทุกคนเป็นเงินจากรัฐบาล)
- กรณีถูกเลิกจ้าง พักงาน หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว จะได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ สูงสุด 7,500 บาท (ได้เฉพาะคนที่ขาดรายได้ และต้องส่งประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ตรงเงินนี้เป็นเงินที่ได้จากประกันสังคม)
- นายจ้าง (บริษัท, ห้างร้าน, ผู้ประกอบการ) จะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน (สูงสุดไม่เกิน 200 คน)
ภาพตัวอย่างการตรวจสอบสิทธิ์
- เช็คตรวจสอบสิทธิ์รับเงินเยียวยา ม.33 ออนไลน์ได้ : ที่นี่
- เงินเยียวยาจะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน เริ่มโอน วันที่ 6 สิงหาคม 2564
เงินเยียวยาผู้ทำประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ได้กี่บาท ?
ในส่วนนี้จะเป็นกลุ่มของอาชีพฟรีแลนซ์หรืออาชีพอิสระ ซึ่งหากเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 อยู่แล้ว ก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ซึ่งหากมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดถึงจะได้รับเงินเยียวยา เบื้องต้นคือต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ใน 13 จังหวัด (เหมือน ม.33)
- ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เข้าบัญชีอัตโนมัติ (วิธีการเช็คสิทธิ์ออนไลน์เหมือน ม.33 ยังไม่มี)
- เงินเยียวยาจะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน เริ่มโอน วันที่ 6 สิงหาคม 2564
สมัครประกันสังคมมาตรา 40 ทำอย่างไร ?
หากใครที่เป็น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ยังไม่ได้สมัครหรืออยู่ในประกันสังคมมาตราใดเลย และอยากสมัคร ม.40 เพื่อรับเงินเยียวยา จำเป็นต้องสมัครก่อนวันที่ 30 ก.ค. 2564 เท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา โดยสามารถสมัครได้ที่ ร้าน 7-11, บิ๊กซี, ธกส., เครือข่ายประกันสังคม หรือเข้าไปสมัครในเว็บไซต์ได้ : ที่นี่
เงื่อนไขการสมัคร ม.40 เบื้องต้น
- เป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 15 – 65 ปี
- ไม่เป็นลูกจ้างในบริษัท หรือมีนายจ้าง หรือเป็นผู้ประกันตน ม.33
- ไม่เป็นผู้จ่ายประกันสังคมแบบสมัครใจ หรือเป็นผู้ประกันตน ม.39
- ไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
วิธีสมัครพร้อมเพย์ผูกเลขบัตรประชาชนทำอย่างไร ?
จริง ๆ ใครที่ใช้แอปธนาคารอยู่ก็น่าจะมีบัญชี พร้อมเพย์ กันครบทุกคนแล้ว แต่ต้องบอกก่อนว่าในการโอนเงินเยียวยาของรัฐบาลครั้งนี้จะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่โอนพร้อมเพย์ที่ผูกเก็บเลขเบอร์มือถือ โดยวิธีการสมัครมีพร้อมเพย์มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- ต้องมีบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อผู้รับเงินเยียวยาก่อน
- ไปที่ธนาคารให้พนักงานทำการผูกบัญชีนี้กับเลขบัตรประชาชนของเรา
- หรือหากไม่อยากทำผ่านธนาคารสามารถทำผ่านแอป mobile banking, internet banking, ตู้ ATM หรือ call center ก็ได้เช่นกัน
ขั้นตอนการสมัครพร้อมเพย์ของแต่ละธนาคาร
- ธนาคารกรุงเทพ BBL : คลิกที่นี่
- ธนาคารกรุงไทย KTB : คลิกที่นี่
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา Krungsri : คลิกที่นี่
- ธนาคารกสิกรไทย KBank : คลิกที่นี่
- ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB : คลิกที่นี่
- ธนาคารออมสิน GSB : คลิกที่นี่
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย CIMB : คลิกที่นี่
- ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต TTB : คลิกที่นี่
- ธนาคารทิสโก้ TISCO : คลิกที่นี่
- ธนาคารไทยเครดิต TCR : คลิกที่นี่
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.): คลิกที่นี่
- ธนาคารยูโอบี UOB : คลิกที่นี่
- ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ LH Bank : คลิกที่นี่
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ GH Bank : คลิกที่นี่
- ธนาคารอิสลาม iBank : คลิกที่นี่
ย้ายบัญชีพร้อมเพย์ จากธนาคารเก่าไปใหม่ ทำอย่างไร
ในกรณีที่ต้องการย้ายบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนจากธนาคารเก่าไปธนาคารใหม่ เจ้าของบัญชีจำเป็นต้องยกเลิกการผูกพร้อมเพย์จากธนาคารเก่าก่อน แล้วค่อยไม่สมัครกับธนาคารใหม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้บนแอป mobile banking โดยไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคาร ยกเว้นแต่บางธนาคารอาจจะทำไม่ได้ หรือผู้ใช้ลองทำผ่านแอปแล้วไม่ผ่านหรือทำไม่เป็น ทำไม่ได้จริง ๆ ก็สามารถถือสมุดบัญชีกับบัตรประชาชนไปที่ธนาคารให้พนักงานทำให้ก็ได้ เช่นกันครับ
เปลี่ยนเบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์เป็นเลขบัตรประชาชน ทำอย่างไร
วิธีการนี้ก็จะเหมือนกับวิธีการแรกคือจำเป็นต้องยกเลิกการผูกพร้อมเพย์จากเบอร์มือถือก่อน แล้วค่อยทำการผูกเป็นบัตรประชาชนเข้าไปใหม่ ซึ่งสามารถทำได้บนแอป mobile banking โดยไม่จำเป็นต้องไปสาขาครับ
สรุปแบบสั้นๆ
ช่องทางการติดต่อสำนักงานประกันสังคม
คนที่จะได้รับเงินเยียวยาคือต้องประกอบอาชีพอยู่ใน 13 จังหวัดที่ล็อคดาวน์, อยู่ใน 9 กลุ่มกิจการข้างต้น และ ต้องเป็นผู้ทำประกันสังคมมาตรา 33, 39 และ 40 ด้วยถึงจะได้รับเงินเยียวยา ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่งนี้คือจะไม่ได้รับเงินเยียวยานะครับ ซึ่งคนที่ได้จะค่อนข้างจำกัดและกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตที่มีการล็อคดาวน์เท่านั้น
โดยเงินเยียวยาจะเริ่มโอนเข้าวันแรกพร้อมกันคือ 6 สิงหาคม 2564 และ เงินจะเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน เท่านั้น
- ม.33 ลูกจ้าง ได้คนละ 2,500 บาท (ได้เพิ่มอีก 50% ของรายได้ไม่เกิน 7,500 บาท หากถูกเลิกจ้าง)
- ม.33 นายจ้าง ได้ 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน (สูงสุดไม่เกิน 200 คน)
- ม.39 และ ม.40 ได้คนละ 5,000 บาท
ที่มา : bangkokbiznews (1,2,3) / thansettakij / brighttv / thairath
Thailand Only !!!
ดูวุ่นวาย
ก็คือเงินรัฐไม่มีแล้ว เลยต้องเข้ามาเอาเงินประกันสังคมไปจ่าย แต่จะเข้าาไปเอาเงินกองทุนประกันสังคมไปจ่ายให้ ประชาชนนอกประกันสังคมโต้งๆ ก็ไม่ได้ เลยต้องให้คนที่อยากรับเงิน ต้องเข้ามาเป็นผู้ประกันตน สรุปการช่วยเหลือนี้ไม่ใช้เงินภาษี แต่เป็นเงินกองทุนประกันสังคม จากมนุษย์เงินเดือน
นายจ้าง ม.33 ต้องเอาหน้าบุ๊คแบงค์ไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมด้วย ก่อนวันที่ 19 ที่ผ่านมา -*-
เพิ่งเห็นจดหมายเมื่อวันก่อนไปยื่นไม่ทันละ -..-