จนถึงตอนนี้ชาวไทยที่ติดตามข่าวสารด้านสมาร์ทโฟนก็น่าจะรู้จักแบรนด์ Honor กันดีในระดับนึงแล้ว ว่าเป็นแบรนด์ลูกของทาง Huawei ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ซึ่งแน่นอนว่าสงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกาที่ยังคงลากยาวมาถึงปัจจุบัน Honor ก็ไม่รอดลูกหลงนี้ไปด้วย จนหลายคนก็สงสัยว่า Honor จะเป็นยังไงในปี 2020 นี้ มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันครับ
โดยข้อมูลในบทความนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์พิเศษกับทางคุณโอว อี้เหว่ย, ประธานบริหารออเนอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มีการอ้างอิงเอาไว้ให้ครับ
ทำความรู้จัก Honor
Honor ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 หรือราว 6 ปีที่แล้ว มี Huawei เป็นเจ้าของ ภายใต้กลยุทธ์การทำแบรนด์คู่ เพื่อครอบครองตลาดให้ครบทุกช่วง จะมีสินค้าที่ขายเป็นสมาร์ทโฟนในช่วงแรก และต่อมาก็เริ่มขยายเป็นอุปกรณ์สวมใส่ รวมถึงโน๊ตบุ๊คพีซีด้วย โดยทำตลาดมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นเป็นหลัก ต่างจากหัวเว่ยที่จะเน้นความหรูหรามีระดับ ดูภูมิฐาน รวมถึงราคาที่สูงกว่า ทำให้หลายคนจะเข้าใจว่า Honor เป็นแบรนด์ที่ Huawei ปั้นขึ้นมาเพื่อสู้ศึกสงครามราคาในตลาดสมาร์ทโฟนที่การแข่งขันสูง วิธีการก็จะไม่ต่างจากค่ายอื่นนัก โดยจะเน้นราคาที่เข้าถึงคนได้ทุกระดับ ให้เกิดการบอกกันปากต่อปาก มากกว่าเน้นเทงบลงในด้านการตลาดและโฆษณารวมถึงจำกัดช่องทางจำหน่ายที่จะเน้นออนไลน์เป็นหลัก และนำส่วนต่างนี้ไปเพิ่มสเปคและความคุ้มค่าต่างๆลงไปในผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น
Honor vs Huawei ต่างกันอย่างไร?
- แบรนด์จะดูวัยรุ่น และเป็นทางการน้อยกว่า
- ราคาที่ประหยัดกว่า เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
- เน้นการบอกต่อมากกว่าทุ่มงบโฆษณา
- เน้นขายบนออนไลน์มากกว่าตามร้านค้า
เราไม่สามารถครองตลาดด้วยการมีเพียงแค่แบรนด์เดียวได้
คุณโอว อี้เหว่ย, ประธานบริหารออเนอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นเกี่ยวกับกลยุทธ์แบรนด์คู่เพื่อครองตลาด
อย่างไรก็ดีทางผู้บริหารของ Honor ก็ได้บอกว่าในอนาคตเราจะได้เห็น Honor สร้างความแตกต่าง เน้นที่ตัวแบรนด์ให้ชัดเจน เริ่มสร้างดีไซน์ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก รวมถึง UX/UI ให้มีเอกลักษณ์ต่างออกจากเจ้าอื่น รวมถึง Huawei ให้มากขึ้นด้วย ปัจจุบัน Honor นอกเหนือจากสมาร์ทโฟนแล้ว ก็ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ด้านอุปกรณ์สวมใส่ – IoT มาวางจำหน่ายในประเทศแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเป็น Smart band ที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งของ Lazada เมื่อช่วงเทศกาล 11.11 ที่ผ่านมา
ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-อเมริกา
เรียกว่าเป็นเรื่องราวแห่งปี 2019 เลยก็ว่าได้สำหรับ สงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกา ที่มีการดำเนินนโยบายด้านการค้าทั้งการขึ้นภาษีหรือจำกัดสินค้าของทั้งสองประเทศ และตัวที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในเหล่าผู้บริโภคก็คงไม่พ้นการแบนบริการ Google Mobile Services (GMS) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ Android ทุกเครื่อง (อ่านต่อ) ไม่ให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei นำไปใช้ได้ และแน่นอนว่า Honor ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือ ก็ต้องโดนหางเลขไปด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่าสมาร์ทโฟนบางรุ่นจากทาง Honor ในอนาคตจะไม่มี GMS ให้ใช้ กล่าวคือ ไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์เหมือนแอนดรอยด์รุ่นอื่น ยี่ห้ออื่นนั่นเอง ทำให้นอกจากการแข่งขันด้านการตลาดและราคาอันแสนดุเดือดในตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันแล้วแบรนด์อื่นยังมีแต้มต่อเหนือ Honor ในเรื่องนี้อีกด้วย
แต่ไม่ใช่ว่าปีนี้ Honor ไม่มีโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่มี GMS มาให้เราได้จับจองกัน เพราะตามแผนแล้วจะยังคงได้เห็นการทยอยปล่อยสมาร์ทโฟนที่มี GMS อยู่อีกสักพักหนึ่ง ที่สเปคคล้ายเดิม แต่ยังสามารถใช้งาน GMS ได้อยู่ ระหว่างที่สร้าง Huawei Mobile Service (HMS) ขึ้นมาให้บริการทดแทน ที่ในปัจจุบันฟีเจอร์ต่างๆ เริ่มทำตาม GMS ขึ้นมาได้เรื่อยๆ จนทีมพัฒนา HMS เคลมว่าจะใช้งานได้ดีเทียบเท่า GMS ในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ดีความท้าทายของ HMS ก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องฟีเจอร์ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือทำให้เหล่านักพัฒนาจากทั่วโลกหันมาสนใจ และทำบริการของตนให้รองรับได้เหมือนกับการใช้งาน GMS ซึ่งบริษัทผู้ผลิตแอปเหล่านี้ก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมพอสมควร สำหรับในประเทศไทยก็ได้มีการตอบรับจากเหล่านักพัฒนาหลายค่าย รวมถึงเหล่าธนาคารต่างๆ ที่พัฒนาแอปให้รองรับมากขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งก็คงต้องรอติดตามต่อไปว่าในปี 2020 นี้ HMS จะสามารถเติบโตขึ้นมาและสร้างการยอมรับให้หมู่ผู้ใช้ได้ดีขึ้นแค่ไหน
Honor เปิดกลยุทธ์ 1+8+N รับปี 2020
ด้วยสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป Honor ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลยุทธ์ให้สามารถเติบโตขึ้นได้ นอกจากที่จะโฟกัสไปยังสมาร์ทโฟนแล้ว ก็จะยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เราจะได้เห็นกันเพิ่มเติมจาก Honor อีกเพียบในปีนี้ ซึ่งได้แก่กลยุทธ์ 1+8+ N ทางคุณโอเว่น ได้เล่าถึงรายละเอียดเอาไว้ดังนี้
1+8+N strategy
“1” หมายถึง “สมาร์ทโฟน” อุปกรณ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ทั้งหมด ใช้ควบคุม ตรวจสอบ หรือสั่งงานอุปกรณ์อื่น ๆ นั่นเอง ซึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เราจะยังได้เห็นสมาร์ทโฟนแรง ๆ ราคาเด็ด ๆ จาก Honor ออกมาเรื่อย ๆ ในปีนี้อย่างแน่นอน
“8” หมายถึง “อุปกรณ์ภายในบ้านหรือผลิตภัณฑ์ IoT ทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่
- โทรทัศน์
- ลำโพง
- อุปกรณ์สวมใส่
- โซลูชั่นในรถยนต์
- แว่นตา
- หูฟัง
- พีซี
- แท็บเล็ต
“N” หมายถึง “เน็ตเวิร์ค” ซึ่งในที่นี้หมายถึงเครือข่ายและพาร์ทเนอร์ในด้านต่างๆ ที่จะทำให้เกิด Smart Office, Smart Home, Fitness, Entertainment and Smart Travels ขึ้นมาได้ โดยจะไม่ได้มีเพียงสินค้าและบริการของ Huawei หรือ Honor เท่านั้น แต่รวมไปถึงพาร์ทเนอร์รายอื่นอีกด้วย
“Huawei มีการลงทุนในด้านการวิจัยนวัตกรรมกว่า 17 พันล้านเหรียญในปี 2019”
คุณโอว อี้เหว่ย, ประธานบริหารออเนอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้สัมภาษณ์ เมื่อธันวาคม 2019
โดยทาง Honor จะมีแต้มต่อเหนือคู่แข่งในด้านการวิจัยค้นคว้า ซึ่งใช้ร่วมกันกับ Huawei ที่ลงทุนในด้านวิจัยนวัตกรรมสูงมาก ในปี 2019 ปีเดียว ก็ลงทุนไปไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงมีเทคโนโลยีด้าน 5G ที่เร็วกว่าคู่แข่ง ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศที่มีการเริ่มใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการ มักจะมีอุปกรณ์ของ Huawei ไปร่วมลงเครือข่ายด้วยเสมอ รวมถึงอุปกรณ์ Network ของ Huawei ก็เป็นอุปกรณ์หลักที่ถูกใช้ในประเทศจีน จนทำให้ประเทศจีนมีเครือข่าย 5G ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
Honor ในประเทศไทย
ปัจจุบัน Honor แม้ว่าจะเข้ามาในประเทศไทยหลายปีแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับหลายคน ส่วนหนึ่งก็มาจากที่มุ่งเน้นทำตลาดด้านออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร Honorในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็คือคุณโอว อี้เหว่ย ที่เคยสร้างผลงานเด่นเอาไว้มากมาย ทั้งแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมือถือให้หัวเว่ยในโปแลนด์ได้มากกว่า 20% จนขึ้นเป็นที่ 2 ในตลาดในปี 2013 และต่อมาก็ย้ายไปประจำที่รัสเซีย ในตำแหน่งประธานผู้บริหารของ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสิเนสกรุ๊ป หรือทั้ง Huawei และ Honor เลย โดยใช้กลยุทธ์การตลาดแบบแบรนด์คู่ จนทำให้แบรนด์ขึ้นเป็นอันดับ 3 ในตลาด ก่อนที่จะย้ายเข้ามาประจำภูมิภาคนี้ในปี 2019 ซึ่งกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ก็คือ 1+8+N ตามที่บอกไปข้างต้น ซึ่งก็คงต้องรอติดตามว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ Honor เริ่มเป็นที่รู้จัก และสร้างยอดขายให้เพิ่มมากขึ้นได้ขนาดไหน ในปีที่แบรนด์เพื่อนร่วมชาติหลายเจ้า รวมถึง Huawei เองต่างก็เตรียมนำเอาอุปกรณ์ IoT ที่ไม่ต่างจากของ Honor เข้ามาทำตลาดในบ้านเราเช่นกัน และยิ่งเจอปัญหาสงครามการค้าก็น่าจะยิ่งทำให้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับแบรนด์นี้ไม่น้อยเลย
ดีครับ จะได้มีทางเลือกเยอะครับ 🙂 🙂