เศรษฐกิจย่ำแย่ มิจฉาชีพยิ่งระบาดหนัก หาช่องว่างฉวยโอกาสหลอกลวง ไม่เว้นแม้แต่การกู้เงิน โดยทำผ่านหลายช่องทาง ทั้ง SMS ไลน์ เฟสบุ๊ก แอปเงินกู้ และโทรศัพท์ โดยใช้ข้อความชวนเชื่อ เช่น กู้ง่ายได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ ซึ่งทำให้หลายๆ คนหลงเชื่อแล้วถูกหลอก ดังนั้น เราจะมาแนะนำวิธีตรวจสอบว่าแอปเงินกู้ หรือเงินกู้ออนไลน์ ที่ติดต่อมานั้น ถูกกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่
ในปัจจุบันนี้ การกู้เงินทำได้ง่ายมากๆ สามารถกู้เงินผ่านทางออนไลน์ได้ มีทั้งแอปและเว็บไซต์ เต็มไปหมด มีทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย โดยล่าสุด กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. ได้เผยว่าขณะนี้ มี แอปกู้เงินนอกระบบ ชื่อว่า “แฮปปี้ตัง” และ “สินเชื่อฉับไว” ข่มขู่เรียกดอกเบี้ยโหด โดยทั้ง 2 แอปนี้ มีอยู่บน Play Store อีกด้วย
ขั้นตอนการหลอกลวงของคนร้าย
- สร้างเว็บไซต์ หรือแอปให้กู้เงินใน play store โดยสิ่งสำคัญของเว็บไซต์หรือแอปกู้เงินดังกล่าว คือ “ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์/บัญชีโซเชียลที่บันทึกไว้ในเครื่อง”
- มีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ว่ากู้ง่าย ได้เงินจริง แล้วให้โหลดแอป และกดยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลเบอร์โทรในโทรศัพท์
- กู้เงินมา 3,000 บาท แต่ได้จริง 1,800 บาท และต้องคืนภายใน 7 วัน เมื่อชำระหมด กลับโอนมาให้อีก (โดยไม่ได้ขอกู้) พร้อมดอกล่วงหน้า และให้ใช้คืนภายใน 7 วัน
- หากไม่ชำระหนี้ ทีมงานของแก๊งเงินกู้โทรข่มขู่ สร้างความเดือนร้อนรำคาญ ทั้งตัวของผู้กู้เอง และบุคคลอื่นๆ ที่ผู้กู้บันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้ และขู่ว่าจะนำสำเนาบัตรไปกู้เงินต่อ
**อย่าอนุญาตให้แอปใดๆ เข้าถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ในเครื่องเรา เพราะจะสร้างความรำคาญให้กับคนที่เรารู้จัก และอาจควบคุมเครื่องเราได้
วิธีตรวจสอบแอปเงินกู้ถูกกฎหมาย หรือบริษัทได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศ
1.เข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.bot.or.th/th/license-loan.html
2.เช็ครายชื่อผู้ได้รับอนุญาต เสิร์จแอปหรือชื่อของบริษัทที่เราต้องการทราบ
3.หากพบชื่อ แสดงว่าเป็นแอปที่ถูกกฎหมาย
4.หากเสิร์จไม่เจอ แสดงว่าแอปหรือบริษัทนั้นๆ ผิดกฎหมาย อาจโดนโกงก็เป็นได้
สิ่งที่ต้องทำ . . . เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำขั้นตอน หากหลงเชื่อโอนเงินและตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้ว ให้ทำตามขั้นตอนดังนี้
- ตั้งสติ รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบที่สุดเท่าที่มี
- แจ้งความ นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ
- ติดต่อธนาคาร หลังจากทำการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ให้ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งอายัดยอดเงินบัญชีของมิจฉาชีพ
- แจ้งความดำเนินคดี ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ
- แจ้งเบาะแสที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)
- สายด่วน 1599 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ได้ที่นี่ >> แจ้งเบาะแส ออนไลน์
- กรณีเงินกู้นอกระบบ ติดต่อศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
- สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ได้ที่นี่ >> ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ
พวก Store ก็ไม่ลบนะ (ทั้งสองค่ายเลย) ขนาดโฆษณาในเฟสเกลื่อนๆ ยังไม่แบนกันเลย ไม่รู้ทำไรกันอยู่
รีพอร์ตแล้ว รีพอร์ตอีก ทำไปก็เท่านั้น บอกว่าไม่ผิดนโยบายๆๆ
คือต้องโทษคนที่ไปกู้ด้วยนะครับ พวกรายละเอียดเค้าก็บอกไว้อยู่
แต่ผมมีคนรู้จักที่เคยทำงานให้สินเชื่อฉับไว เค้าก็บอกนะว่าส่วนมากพวกที่กู้ๆส่วนนึงมาจากการต้องการเงินไปหมุนในเวปพนัน หรือ เห็นAds เด้งในเกมส์พนัน แล้วอยากได้เงินมาปั่นต่อ ทั้งนี้ทั้งนั้นเค้าจะไม่มีนโยบายแจ้งตำรวจจับผู้กู้ และประจานไม่ได้ ส่วนผู้กู้สามารถเบี้ยวชำระหนี้ได้ แต่เค้าจะโทรตามคนรอบข้าง(จากการให้ยินยอมคอนแทค)
ฉะนั้นจะมีผู้กู้ที่เซียนๆ ที่เค้าจะนิยามว่า นักบิด(เบี้ยวเงิน)
โดยที่
1 ซื้อซิมใหม่
2 ล้างเครื่องไม่ให้มีเบอร์เพื่อนๆเหลืออยู่
3 กู้เงิน แล้วก็ไม่จ่าย แค่นี้พวกนั้นก็จะทำงานกันยากแต่มันจะตามจากบัตร ปชช อยู่ดี