ก่อนที่จะยื่นภาษี หลายคนอาจมีคำถามหรือข้อสงสัยในใจว่า เอ๊…เราต้องมีค่าลดหย่อนอะไรบ้างนะ ซึ่งทางสรรพากรได้เปิดฟีเจอร์ที่ชื่อว่า My Tax Account เพื่อให้เราเข้าไปตรวจสอบย้อนหลังว่าปีที่ผ่าน ๆ มาเรายื่นภาษีอะไรยังไง ใส่ค่าลดหย่อนอะไรไปแล้วบ้าง จะได้หยิบมาคำนวนตัวเลขแบบซ้อม ๆ ก่อนยื่นภาษีจริงจากรอบปี 2566 นี้
วิธีเช็คข้อมูลเสียภาษีด้วยตนเอง
- เข้าไปที่เว็บของสรรพากร https://rd.go.th/
- เลือก My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี
- เข้าสู่ระบบ
- เลือกดูข้อมูลปีภาษี
- หากต้องการดูค่าลดหย่อน ให้เลือกไปที่ตรวจสอบข้อมูล
วิธีเข้าสู่ระบบ My Tax Account
ผู้ที่เคยยื่นภาษี แน่นอนว่าตัวระบบจะมีข้อมูลของเราอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบตามที่ตนเองเคย Log In ไว้ได้เลย แต่หากจำไม่ได้ ก็สามารถเข้าสู่ระบบได้ด้วยหลากหลายวิธี ได้แก่
- เข้าผ่านแอปพลิเคชัน ThaID
- เข้าผ่านแอปเป๋าตัง
- เข้าผ่านแอปธนาคาร
- เข้าผ่าน Tax SSO
- เข้าผ่าน RD ID
รายการค่าลดหย่อนที่แสดงใน My Tax Account
- ค่าลดหย่อนประเภทส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนประเภทการออมและการลงทุน
- ค่าลดหย่อนประเภทดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัยฯ
- ค่าลดหย่อนประเภทมาตรการช้อปดีมีคืน
- ค่าลดหย่อนประเภทเงินบริจาค
นอกจากนี้ทางระบบจะแสดงข้อมูลอื่น ๆ ของเราอย่างละเอียด ทั้ง ที่มาของรายได้ มีจำนวนเงินได้เท่าไหร่, หักภาษี ณ ที่จ่ายเท่าไหร่, อยู่ในประเภทไหน และรายได้ที่มีสิทธิเลือกใช้ในการคำนวนภาษี
และทางสรรพากรได้แจ้งไว้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับทางอิเล็กทรอนิกส์จนถึงวันที่แจ้งไว้เท่านั้น และการแสดงรายได้เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้มีเงินได้ หากข้อมูลรายได้ของของเรายังไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ก็สามารถปรับปรุงให้ถูกต้องครบถ้วนได้ในการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต
อะไรนำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง ?
ค่าลดหย่อนก็มีหลายแบบหลายประเภทมาก ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีค่าลดหย่อนที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถานะและสถานการณ์ ซึ่งค่าลดหย่อนแต่ละประเภทเราสามารถเตรียมตัวและเตรียมเอกสารได้ โดยมีรายการพื้นฐาน ดังนี้
ค่าลดหย่อนประเภทส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว – สิทธิ์พื้นฐานของผู้มีรายได้ทุกคน หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ทันที
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส – คู่สมรสจะต้องไม่มีรานได้และจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร – มีให้เลือกทั้ง บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้, บุตรบุญธรรม และ ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ซึ่งจะมีค่าลดหย่อนแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 30,000
- ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา – หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ได้ทั้งของตนเองและคู่สมรส รวมกัน 4 คน แต่บิดามารดา ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี รายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
- ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ – หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ผู้พิการต้องมีบัตรรับรองและรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และถ้าบิดามารดาเป็นผู้พิการก็จะได้ใช้สิทธิ 2 ส่วนเลย
ค่าลดหย่อนประเภทการออมและการลงทุน
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
- เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
- เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
- การลงทุนใน กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)
ค่าลดหย่อนประเภทดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัยฯ
- ดอกเบี้ยบ้าน – เป็นการนำดอกเบี้ยกู้ยืมเงินเพื่อสร้างบ้านมาหักค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนประเภทมาตรการช้อปดีมีคืน
- รายการซื้อสินค้าและบริการ ที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2566 ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งผู้มีเงินได้จะต้องเก็บรักษาหลักฐานไว้ยื่นทั้งในรูปแบบกระดาษและรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ค่าลดหย่อนประเภทเงินบริจาค (ตามเงื่อนไขของรัฐ)
- การบริจาคทั่วไป – ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า – การบริจาคให้โรงเรียน, โรงพยาบาล, องค์กรของรัฐต่าง ๆ เช่น สภากาชาด, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย เป็นต้น
- เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง – ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
และนีก็คือวิธีเตรียมตัวก่อนที่จะยื่นภาษีรอบปี 2566 ลองเข้ามาคำนวนกันพลาง ๆ ก่อนที่จะยื่นจริงกันได้ ส่วนรายละเอียดค่าลดหย่อนต่าง ๆ นี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเสาะหาเพื่อนำมาลดหย่อนในรอบปีล่าสุด และยังสามรถอิงเป็นข้อมูลสำหรับรอบปีถัดไปได้ด้วย ยังไงก็ลองเข้ามาเช็คกันดูนะคะ
อ้างอิงข้อมูล : Krungsri
Comment