ปัจจุบันพื้นที่เก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ SSD (Solid State Drive) กันเป็นมาตรฐาน เพราะถือเป็นอุปกรณ์ที่ “ต้องมี” สำหรับการใช้งานยุคนี้ หากยังใช้ HDD แบบเดิม บอกเลยว่าประสิทธิภาพจะช้าจนแทบใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะกับระบบ Windows และซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการการประมวลผลเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเครื่อง, โหลดโปรแกรม หรือสลับใช้งานหลายแอปพร้อมกัน SSD ที่มีความเร็วในการอ่าน/เขียนสูงกว่า HDD หลายเท่า ช่วยให้ทุกการทำงานลื่นไหล ไม่ต้องรอนาน ทำอะไรก็ทันใจ
SSD คืออะไร
SSD หรือ Solid State Drive เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีหน้าที่เหมือนกับ HDD (Hard Disk Drive) แต่มีความเร็วในการทำงานที่สูงกว่ามาก เพราะใช้หน่วยความจำ Flash Memory ในการเก็บข้อมูลผ่านประจุไฟฟ้าในเซลล์ ทำให้การอ่านและเขียนข้อมูลรวดเร็ว ต่างจาก HDD ที่ต้องพึ่งพาแผ่นจานหมุน ทำให้มีข้อจำกัดด้านความเร็ว
การใช้งาน SSD จึงเหมาะกับงานที่ต้องการความเร็ว เช่น ระบบปฏิบัติการ โปรแกรม และเกมต่าง ๆ นอกจากนี้ SSD ยังมีข้อดีในด้านความทนทานต่อแรงกระแทก เพราะไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายเมื่อมีการตกหล่นหรือสั่นสะเทือน อีกทั้งยังมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ทำให้ช่วยประหยัดพื้นที่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ก จึงเป็นตัวเลือกสำคัญในการอัปเกรดอุปกรณ์ในยุคปัจจุบัน

ข้อดีของ SSD
- ความเร็วสูงกว่าฮาร์ดดิสก์ (HDD) มาก ๆ – SSD มีความเร็วในการอ่าน/เขียนข้อมูลสูง ทำให้เปิดเครื่อง บูตระบบ ใช้งานทั่วไป และเปิดโปรแกรมได้เร็วขึ้นมาก
- ไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว – ลดโอกาสเสียหายจากการตกกระแทก และทำงานได้เงียบกว่าฮาร์ดดิสก์
- ประหยัดพลังงาน – ใช้พลังงานน้อยกว่าฮาร์ดดิสก์ ทำให้เหมาะกับโน้ตบุ๊กที่ต้องการประหยัดแบตเตอรี่
SSD 1 ตัว มีอะไรบ้าง
ใน SSD หนึ่งลูกมีองค์ประกอบสำคัญที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพดังนี้

- Print Circuit Board – แผงวงจรหลักที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อและรวมองค์ประกอบต่าง ๆ ของ SSD ให้ทำงานร่วมกัน
- Flash Memory – หน่วยความจำหลักที่ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบถาวร เป็นหัวใจสำคัญของ SSD
- Controller – ไมโครโปรเซสเซอร์ขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับ Flash Memory ผ่าน Computer Bus ทำหน้าที่ควบคุมการอ่านและเขียนข้อมูลให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- Cache – หน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลชั่วคราวในระหว่างที่ SSD เขียนข้อมูลลง Flash Memory ช่วยเพิ่มความเร็วในการประมวลผล
- Connection Interface – พอร์ตเชื่อมต่อที่ใช้ติดตั้ง SSD เข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ เช่น SATA หรือ PCI-Express ขึ้นอยู่กับประเภทและมาตรฐานของ SSD

ข้อเสียของ SSD
แม้ว่า SSD จะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน แม้ว่า SSD รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันจะทำให้ข้อเสียเหล่านี้น้อยลงมากแล้วก็ตาม โดยก่อนที่เราจะเลือกใช้ SSD สักตัวควรพิจารณาดังนี้
- ราคาแพงกว่าต่อความจุ แม้ราคาของ SSD จะถูกลงมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่เมื่อพิจารณาราคาต่อความจุ SSD ยังคงแพงกว่า HDD อยู่เกือบเท่าตัว ทำให้การเลือก SSD ที่มีความจุสูงอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการใช้เก็บข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมาก
- อายุการใช้งานที่สั้นกว่า SSD ใช้การเก็บข้อมูลผ่านประจุไฟฟ้าในเซลล์ Flash Memory ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะเสื่อมสภาพตามจำนวนครั้งที่มีการเขียนและลบข้อมูล การใช้งานที่หนักหรือบ่อยครั้งอาจทำให้อายุการใช้งานของ SSD ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อเทียบกับ HDD ที่มีโครงสร้างจานหมุนซึ่งมักมีอายุการใช้งานนานกว่า
- การกู้ข้อมูลทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ เมื่อ SSD พังหรือเสียหาย การกู้ข้อมูลกลับมาทำได้ยากมากหรืออาจทำไม่ได้เลย ในขณะที่ HDD ยังมีโอกาสที่จะกู้ข้อมูลกลับมาได้มากกว่า
- ไม่เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลระยะยาว ด้วยข้อจำกัดด้านอายุการใช้งานและความเสี่ยงที่เซลล์ Flash Memory จะเสื่อม การใช้ SSD สำหรับเก็บข้อมูลระยะยาว เช่น เอกสารสำคัญหรือไฟล์ที่ไม่ได้มีการใช้งานบ่อย อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก

SSD เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการความเร็วและประสิทธิภาพสูง แต่หากต้องการเก็บข้อมูลจำนวนมากในระยะยาว HDD อาจยังเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กว่า นอกจากนี้ ควรมีการสำรองข้อมูลอยู่เสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญหายของข้อมูลใน SSD
ประเภทของ SSD ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน SSD แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามการเชื่อมต่อ

1. SSD SATA
SSD SATA เป็น SSD รุ่นแรก ๆ ที่เริ่มมีขายในตลาด ถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่และคลาสสิกที่สุด ข้อดีของ SSD ประเภทนี้คือรองรับการใช้งานกับแทบทุกเครื่อง ไม่ต้องกังวลเรื่องความเข้ากันได้ เพียงแค่มีพอร์ต SATA ก็สามารถใช้งานได้ทันที
แต่ SSD SATA มีข้อจำกัดด้านความเร็ว เนื่องจากใช้เทคโนโลยี SATA 3 ที่มีแบนด์วิดท์สูงสุดเพียง 6 Gbps (ความเร็วใช้งานจริงไม่เกิน 600 MB/s) ซึ่งถือว่าเร็วกว่า HDD หลายเท่า แต่เมื่อเทียบกับ SSD ประเภทอื่นในปัจจุบัน ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ช้าที่สุด

อีกจุดที่ต้องพิจารณาคือราคาที่พอ ๆ กับ SSD M.2 PCIe ซึ่งให้ความเร็วสูงกว่าหลายเท่า ทำให้ SSD SATA อาจไม่คุ้มค่าสำหรับการอัปเกรดในยุคนี้ นอกจากนี้ ด้วยขนาด Form Factor แบบ 2.5 นิ้ว ทำให้เปลืองพื้นที่ติดตั้งโดยเฉพาะในโน้ตบุ๊กบางรุ่นที่ไม่ได้ออกแบบให้รองรับ SSD ขนาดนี้

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ SSD ที่มีขนาดเล็กลงจาก 2.5 นิ้วอีกรูปแบบหนึ่งคือ mSATA ที่ออกแบบมาให้กะทัดรัดขึ้น คล้ายกับ SSD M.2 แต่ใช้เทคโนโลยี SATA เช่นเดียวกับ SSD 2.5 นิ้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน mSATA ไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว เนื่องจากข้อจำกัดของ ความเร็วที่ต่ำกว่ามาตรฐาน NVMe และการที่ อินเทอร์เฟซ M.2 ได้รับการพัฒนาให้รองรับการใช้งานได้ดีกว่า
ข้อดี: ใช้งานได้กับคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กเกือบทุกรุ่น ติดตั้งง่าย
ข้อเสีย: ความเร็วต่ำกว่ามาตรฐาน SSD ปัจจุบัน ราคาต่อประสิทธิภาพอาจไม่คุ้มค่า

2. SSD PCIe
SSD PCIe เป็นต้นแบบของ SSD M.2 PCIe ที่ใช้กันในปัจจุบัน ก่อนที่อินเทอร์เฟส M.2 จะได้รับความนิยม SSD ที่ต้องการความเร็วสูงมักใช้ช่องเสียบ PCIe แบบเดียวกับการ์ดจอ เนื่องจาก PCIe มีแบนด์วิดท์สูงกว่า SATA มาก ทำให้สามารถอ่านและเขียนข้อมูลได้เร็วขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับคนที่อยากรู้ว่า Slot PCIe คืออะไรทำอะไรได้บ้าง
ทำไม SSD PCIe ส่วนใหญ่ใช้ x4 แทนที่จะเป็น x16
แม้ว่าทางเทคนิคจะสามารถออกแบบให้ SSD ใช้ PCIe x16 ได้เหมือนการ์ดจอ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ข้อจำกัดของคอนโทรลเลอร์ ปัจจุบันยังไม่มีคอนโทรลเลอร์ SSD ที่สามารถใช้แบนด์วิดท์ระดับ x16 ได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่ายิ่งความเร็วสูงขึ้น ความร้อนที่เกิดขึ้นก็มากขึ้น SSD ที่ใช้ x16 จะต้องการระบบระบายความร้อนที่ใหญ่แบบเดียวกับการ์ดจอ ทำให้กินพื้นที่การติดตั้งที่มาก และอาจทำให้อายุการใช้งานของ NAND ลดลงตามไปด้วย

โดยในปัจจุบันจะมีบางรุ่นที่อาจมี Interface การเชื่อมต่อสูงถึง x8 แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำ SSD 2 ตัว มาใส่ไว้บนการ์ดใบเดียวกัน แล้วทำ RAID มากกว่า เท่ากับว่าการเชื่อมต่อสูงสุดอยู่ที่ x4 อยู่ดี
พีซีรุ่นเก่าอยากใช้ SSD ทำไงดี
สำหรับพีซีรุ่นเก่าที่ไม่มีสล็อต M.2 สามารถใช้ใช้การ์ดแปลง M.2 NVMe เป็น PCIe แทนก็ได้ แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือใช้สล็อต PCIe ที่อาจจำเป็นสำหรับการ์ดอื่น และต้องตรวจสอบว่าการ์ดแปลงสามารถใส่ในเคสได้หรือไม่ ปัจจุบัน เมนบอร์ดส่วนใหญ่แม้แต่รุ่นราคาประหยัดมักมีสล็อต M.2 มาให้สำหรับ M.2 SSD อยู่แล้ว ทำให้การใช้ SSD PCIe แบบการ์ดแปลงลดความจำเป็นลง

ความเร็วของ SSD PCIe ขึ้นอยู่กับเวอร์ชันของ PCIe และจำนวนเลนที่ใช้งาน
- PCIe 3.0 x4: สูงสุด ~3,500 MB/s
- PCIe 4.0 x4: สูงสุด ~7,500 MB/s
- PCIe 5.0 x4: สูงสุด ~15,000 MB/s
ข้อดีและข้อเสียของ SSD PCIe
ข้อดีของ SSD PCIe คือมีความเร็วสูงกว่าทั้ง SATA SSD และ M.2 SATA SSD รองรับการใช้งานหนักและความจุขนาดใหญ่ และเหมาะสำหรับเวิร์กสเตชันและงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของ SSD PCIe คือราคาที่สูงกว่า M.2 SSD เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรุ่นท็อปที่มาพร้อมกับความจุสูงและประสิทธิภาพระดับสูง อีกทั้งยังมีชุดระบายความร้อนที่ใหญ่และจัดเต็มกว่าปกติ นอกจากนี้ SSD PCIe ยังต้องการพื้นที่ติดตั้งที่มากขึ้น ทำให้อาจไม่เหมาะกับเคสขนาดเล็กหรือเมนบอร์ดที่มีสล็อต PCIe จำกัด

3. SSD M.2
SSD M.2 ได้กลายเป็น SSD หลักที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ด้วยราคาที่ถูกลงกว่าช่วงแรกและความคุ้มค่าที่เหนือกว่า SSD รูปแบบอื่น ขนาดกะทัดรัด ติดตั้งง่าย และใช้งานได้กับพีซี โน้ตบุ๊ก รวมถึงเครื่องเล่นเกม
ในช่วงแรก SSD M.2 มีทั้งแบบ SATA และ PCIe NVMe แต่ปัจจุบัน M.2 SATA เริ่มลดบทบาทลง เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ความเร็วไม่สามารถเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ ต่างจาก M.2 NVMe ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นมาตรฐานหลัก สำหรับรุ่นที่มีความเร็วสูง อาจต้องใช้ชุดระบายความร้อนเพิ่มเติม ซึ่งเมนบอร์ดระดับกลางขึ้นไปในปัจจุบันมักแถมฮีตซิงค์มาให้เพื่อช่วยจัดการความร้อนอยู่แล้ว

มาตรฐานของ SSD M.2
แม้ว่า SSD M.2 จะมีรูปร่างคล้ายกัน แต่มีมาตรฐานอยู่ 2 แบบที่แตกต่างกัน และปัจจุบันเริ่มไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ เนื่องจากใช้คอนโทรลเลอร์คนละประเภท การเปลี่ยนจาก AHCI (SATA) มาเป็น NVMe ช่วยให้ SSD มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก ลดเวลาเข้าถึงข้อมูล และรองรับการอ่าน/เขียนพร้อมกันได้ดีกว่า AHCI ที่ถูกออกแบบมาสำหรับฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน

เดิมที SSD M.2 SATA และ M.2 NVMe สามารถใช้สล็อตเดียวกันได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ปัจจุบันเมนบอร์ดรุ่นใหม่หลายรุ่นรองรับเฉพาะ NVMe เท่านั้น เนื่องจาก SATA มีข้อจำกัดด้านความเร็วที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นไปได้มากกว่านี้ ดังนั้นก่อนติดตั้ง ควรตรวจสอบคู่มือเมนบอร์ดหรืออุปกรณ์ว่ารองรับ SSD M.2 แบบใดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความเข้ากันไม่ได้
- M.2 SATA: มีความเร็วเทียบเท่ากับ SATA ปกติ (~600 MB/s)
- M.2 NVMe: ความเร็วขึ้นอยู่กับเวอร์ชันของ PCIe ที่ใช้งาน
- PCIe 3.0 x4: สูงสุด ~3,500 MB/s
- PCIe 4.0 x4: สูงสุด ~7,500 MB/s
- PCIe 5.0 x4: สูงสุด ~15,000 MB/s

เมื่อเลือกซื้อ SSD M.2 นอกจากสเปกของ SSD เองแล้ว ควรตรวจสอบ Slot M.2 บนเมนบอร์ด ด้วย ว่ารองรับความเร็วสูงสุดได้แค่ไหน และเป็น PCIe เวอร์ชันไหน เช่น PCIe 3.0, 4.0 หรือ 5.0 และรองรับการทำงานแบบ x4 หรือไม่ เพราะบางเมนบอร์ดแม้ว่าจะมีหลายช่อง M.2 แต่ไม่สามารถวิ่งที่ความเร็วเท่ากันทุกช่อง เนื่องจากข้อจำกัดของชิปเซ็ตหรือการลดต้นทุนของผู้ผลิต ทำให้เมื่อเราซื้อ SSD มาใส่แล้ว ความเร็วที่ได้อาจจะไม่เต็มตามที่ผู้ผลิตเคลม

นอกจากความเร็วแล้ว รูปแบบของ Interface หรือ Slot บน SSD M.2 ก็มีความสำคัญ เพราะถึงแม้ SSD M.2 จะมีหน้าตาคล้ายกัน แต่ขั้วเชื่อมต่อ (Interface) มีความแตกต่างกัน โดยจะแบ่งตาม ตำแหน่งของช่องเว้า (notch) บนขั้วทองเหลือง
- B Key – มีช่องเว้าด้านซ้าย
- รองรับ PCIe x2 หรือ SATA
- มักใช้กับ SSD M.2 แบบ SATA
- ไม่สามารถใช้กับสล็อตที่รองรับเฉพาะ M Key
- M Key – มีช่องเว้าด้านขวา
- รองรับ PCIe x4 และ NVMe
- เป็นมาตรฐานหลักของ SSD M.2 แบบ NVMe
- B+M Key (Combo) – มีช่องเว้าทั้งสองด้าน
- สามารถใช้ได้ทั้งสล็อต B Key และ M Key
- ส่วนใหญ่มักเป็น SSD SATA หรือ PCIe x2

วิธีดูว่าเมนบอร์ดรองรับ Key แบบไหน
- ตรวจสอบใกล้ช่องเสียบ M.2 บนเมนบอร์ด มักจะมีระบุว่าเป็น B, M หรือทั้งสองแบบ
- หากไม่มีข้อมูลระบุ สามารถดูที่ SSD โดยดูตำแหน่งของช่องเว้า
- หากยังไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบคู่มืออุปกรณ์ก่อนซื้อ หรืองดเสียบ SSD แบบฝืน ๆ เพราะอาจทำให้ขั้วเสียหาย
SSD M.2 ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน PCIe 4.0 เป็นมาตรฐานหลัก ขณะที่ PCIe 5.0 กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดแต่ยังมีราคาสูงและยังไม่แพร่หลายมากนัก ด้าน PCIe 3.0 ยังคงมีจำหน่ายและเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าสำหรับผู้ใช้ทั่วไป แม้ SSD PCIe 5.0 จะให้ความเร็วสูง แต่ยังมีข้อจำกัดด้านราคาและความร้อน คาดว่าในอนาคตราคาจะลดลงและกลายเป็นมาตรฐานใหม่แทนที่ PCIe 4.0

ขนาดของ SSD M.2 (Form Factor)
แม้ว่า SSD M.2 จะมีหน้าตาคล้ายกัน แต่ก็มีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการออกแบบและการใช้งาน ขนาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ M.2 2280 เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในพีซีและโน้ตบุ๊ก
โดยทั่วไป SSD M.2 มีขนาดดังนี้
- M.2 2242: กว้าง 22 มม. ยาว 42 มม.
- M.2 2260: กว้าง 22 มม. ยาว 60 มม.
- M.2 2280: กว้าง 22 มม. ยาว 80 มม. (ขนาดมาตรฐาน)
- M.2 22110: กว้าง 22 มม. ยาว 110 มม. (มักใช้กับเซิร์ฟเวอร์หรือเวิร์กสเตชัน)

ประเภทของ NAND Flash ใน SSD
การเลือก SSD ไม่ได้ดูแค่ขนาดและอินเทอร์เฟสเท่านั้น แต่ยังต้องดูที่ประเภทของ NAND Flash ซึ่งเป็นชิปหน่วยความจำหลักที่ใช้เก็บข้อมูล โดยปัจจุบันมีอยู่หลายแบบ แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ TLC หรือ 3D NAND เนื่องจากมีความคุ้มค่าในด้านราคา ความเร็ว และความทนทาน
ประเภทของ NAND Flash
- SLC (Single-Level Cell) – เก็บข้อมูล 1 บิตต่อเซลล์ มีความเร็วสูงสุด ทนทานที่สุด แต่ต้นทุนสูงและใช้พื้นที่มาก จึงนิยมใช้ใน SSD ระดับอุตสาหกรรม
- MLC (Multi-Level Cell) – เก็บข้อมูล 2 บิตต่อเซลล์ เร็วและทนทานรองจาก SLC แต่มีราคาถูกกว่า นิยมใช้ใน SSD ระดับมืออาชีพและองค์กร
- TLC (Triple-Level Cell) – เก็บข้อมูล 3 บิตต่อเซลล์ มีราคาถูกลงและพื้นที่เก็บข้อมูลมากขึ้น เป็นประเภทที่พบได้มากที่สุดใน SSD สำหรับผู้ใช้ทั่วไป
- QLC (Quad-Level Cell) – เก็บข้อมูล 4 บิตต่อเซลล์ มีต้นทุนต่ำสุดและความจุสูง แต่ความเร็วและความทนทานต่ำกว่า TLC

3D NAND คืออะไร
3D NAND เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อลดข้อจำกัดของ NAND แบบเดิมที่เรียกว่า 2D NAND โดยเพิ่มความหนาแน่นของเซลล์หน่วยความจำด้วยการซ้อนเลเยอร์ขึ้นไปในแนวตั้ง แทนที่จะขยายในแนวราบ ทำให้สามารถเพิ่มความจุและความเร็วได้โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มากขึ้น

ปัจจุบัน SSD ส่วนใหญ่เป็น 3D NAND TLC เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่สมดุลระหว่างราคาและประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตชั้นนำ เช่น Kioxia และ WD กำลังพัฒนา NAND ที่มีจำนวนเลเยอร์มากกว่า 300-400 ชั้น ซึ่งจะช่วยให้ SSD มีความจุสูงขึ้นและใช้พลังงานน้อยลงในอนาคต
การเลือกใช้ NAND ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากต้องการ SSD ที่ทนทานและเร็ว ควรเลือก TLC แต่หากต้องการความจุในราคาที่ถูกลง QLC อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า
เลือก SSD แบบไหนดี
1. เช็คว่าเครื่องรองรับ SSD แบบไหน
- คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ครุ่นเก่า: โดยส่วนมากจะไม่มีพอร์ต M.2 ทำให้ต้องเลือกเป็น SSD แบบ SATA 2.5 นิ้ว
- คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่: ส่วนมากมักมาพร้อม Slot M.2 อย่างน้อย 1 ช่อง ทำให้สามารถใส่ SSD แบบ M.2 ได้
- ส่วนจะใส่ SATA หรือ NVMe ต้องเช็กดูว่าเครื่องรองรับแบบไหน ผ่านหน้าเว็บของผู้ผลิตเมนบอร์ด หรือโน้ตบุ๊ก

2. อย่าดูแค่ตัวเลขความเร็วอ่าน/เขียน (Read/Write)
- ความเร็วสูงสุด Sequential Read/Write ในสเปกอาจไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าใช้งานจริงแล้วจะลื่นไหลเสมอไป
- Random 4K Read/Write สำคัญกว่า เพราะช่วยให้เปิดโปรแกรมหรือโหลดไฟล์เล็ก ๆ ที่เราใช้งานบ่อย ได้เร็วขึ้น
- ถ้า Sequential Read/Write ใกล้เคียงกัน ควรเลือกรุ่นที่มีค่า Random 4K Read/Write สูงกว่า

3. ดูค่า TBW (Total Bytes Written) เพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน
- TBW สูง หมายถึง SSD มีความทนทานกว่า ช่วยให้เวลาที่ใช้ไปนาน ๆ รู้สึกอุ่นใจกว่า
- TBW (Terabytes Written) คือจำนวนข้อมูลที่ SSD เขียนได้ก่อนหมดอายุ

4. เลือกแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ
แบรนด์ดังที่ได้รับความนิยม เช่น Kingston, WD, Sandisk, Samsung เพราะเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ มีผู้ใช้งานเยอะ ไม่ใช่แบรนด์โนเนมไม่มีมาตรฐาน หรือความน่าเชื่อถือน้อย
5. ความจุที่ควรเลือก
- 512GB ขึ้นไป: สำหรับใช้งานทั่วไป งานเอกสาร ท่องเว็บ ไม่ได้เน้นเก็บข้อมูลมาก
- 1TB หรือมากกว่า: เหมาะกับคนที่เล่นเกม ตัดต่อวิดีโอ หรือเก็บไฟล์ขนาดใหญ่

5. ความเร็วและอินเทอร์เฟซที่แนะนำ
- ควรเลือก SSD แบบ NVMe PCIe 3.0 หรือใหม่กว่า (เช่น PCIe 4.0)
- ความเร็วอ่าน/เขียนควรอยู่ที่ 3,000 MB/s หรือสูงกว่า เพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องการความเร็วสูง
6. ราคาและความคุ้มค่าในปี 2025
- SSD 512GB ราคาอยู่ที่ ประมาณ 1,200-1,800 บาท (ขึ้นอยู่กับรุ่นและโปรโมชั่น)
- SSD 1TB ราคาอยู่ที่ ประมาณ 2,000-3,000 บาท (ขึ้นอยู่กับรุ่นและโปรโมชั่น)
- SSD 2TB ราคาอยู่ที่ ประมาณ 3,500-5,000 บาท (ขึ้นอยู่กับรุ่นและโปรโมชั่น)

รุ่น SSD ที่แนะนำในปี 2025
SATA 2.5″ (เหมาะสำหรับอัปเกรดคอมเก่า)
256GB
เหมาะสำหรับลง Windows และโปรแกรมพื้นฐาน ใช้สำหรับท่องเว็บและทำงานทั่วไป เหมาะกับเครื่องที่ยังใช้ HDD ควบคู่กัน
512GB
ใช้งานได้ครอบคลุมขึ้น ลงเกมและเก็บข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง สามารถใช้เป็นไดรฟ์หลักได้ แต่พื้นที่อาจเต็มในระยะยาว

M.2 NVMe (เหมาะสำหรับเครื่องใหม่และต้องการความเร็วสูง)
512GB
ใช้งานได้ทุกอย่าง ลงเกมและเก็บข้อมูลได้พอประมาณ เหมาะสำหรับใช้งานเป็นไดรฟ์หลัก แต่พื้นที่อาจไม่พอในระยะยาว
- T-FORCE Z44A5 ตัวคุ้ม
- KINGSTON KC3000 ตัวแรง

1TB
ความจุมาตรฐานของปี 2025 ใช้งานได้ทุกอย่าง ลงเกม AAA หลายเกม และเก็บข้อมูลได้มากขึ้น
- KINGSTON NV3 ตัวคุ้ม
- WD Black SN770 ตัวกลาง
- KINGSTON FURY RENEGADE ตัวแรง
- Samsung 990 Pro ตัวเทพ

2TB
เหมาะสำหรับคนที่ลงเกมเยอะ หรือใช้สำหรับงานที่ต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสูง ใช้งานได้แบบไดรฟ์หลักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่
- KLEVV CRAS C910 ตัวคุ้ม
- Samsung 990 Pro ตัวเทพ

SSD กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้รวดเร็วและลื่นไหลขึ้น ไม่ว่าจะอัปเกรดเครื่องเก่าหรือประกอบเครื่องใหม่ การเลือก SSD ที่เหมาะสมจะช่วยให้เราได้ประสิทธิภาพที่คุ้มค่าที่สุด หวังว่าข้อมูลในบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ตัดสินใจเลือก SSD ได้ถูกใจ เหมาะสมกับการใช้งาน และทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ของคุณเร็วแรงขึ้นกว่าเดิม
ที่มา : computermesh
ภาพ : samsung pugetsystems kingston pcper
Comment