เชื่อว่าหลายคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป เมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มสังเกตเห็นฝุ่นสะสมในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นที่หน้าจอ คีย์บอร์ด หรือเคสเครื่อง ภายนอกที่สามารถทำความสะอาดได้ง่ายๆ แต่สำหรับด้านในเครื่อง หลายคนอาจละเลยเพราะมองว่าทำยาก ไม่รู้วิธีทำ หรือกลัวทำผิดจนเครื่องเปิดไม่ติด การทำความสะอาดด้านในอย่างถูกวิธีไม่เพียงช่วยให้เครื่องดูเหมือนใหม่ แต่ยังช่วยลดอุณหภูมิ ลดเสียงรบกวน และยืดอายุการใช้งานอีกด้วย
ถึงแม้ว่าฝุ่นอาจไม่ได้สร้างอันตรายทันที แต่การปล่อยสะสมไว้นานๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของเครื่องได้ นอกจากนี้ ฝุ่นและสิ่งสกปรกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้งานโดยไม่รู้ตัว วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีทำความสะอาดคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปง่าย ๆ ด้วยตัวเองกัน บอกเลยว่าทำเสร็จแล้วจะช่วยให้เครื่องของเราจะสะอาดเหมือนใหม่แน่นอน
อุปกรณ์ที่จำเป็น
ก่อนเริ่มต้นการทำความสะอาด เราควรเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นดังต่อไปนี้
- ไขควงขนาดต่าง ๆ สำหรับการถอดชิ้นส่วนต่างๆ
- ทิชชู่ สำหรับเช็ดคราบสกปรกต่าง ๆ
- ผ้าแห้งและผ้าเปียก (หมาด ๆ) สำหรับการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ
- แปรง สำหรับใช้ปัดฝุ่นตามซอกมุม เช่นแปรงสีฟัน แปรงทางสี ผู้กัน แปรงแต่งหน้า ใช้ได้หมด
- ยางลบ ใช้ทำความสะอาดคราบออกจากหน้าสัมผัสโลหะ
- หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นละอองระหว่างการทำความสะอาด
- น้ำยา Contact Cleaner สำหรับใช้ทำความสะอาดคราบสกปรก ตามหน้าสัมผัสทางไฟฟ้า Slot และผงวงจรต่าง ๆ (ควรเลือกรุ่นที่ไม่มีสารทำละลาย Solvent เพื่อป้องกันความเสียหายกับวัสดุพลาสติก)
- ซิลิโคน สำหรับเปลี่ยนบน CPU
- Cotton Buds สำหรับซอกซอนทำความสะอาดจุดเล็กๆ
- ไม้จิ้มฟันหรือตะเกียบ เอาไว้ขัดใบพัดลมไม่ให้หมุนตอนเป่าฝุ่น
- เครื่องเป่าลม สำหรับเป่าฝุ่นที่สะสมอยู่ในเครื่อง
ขั้นตอนการทำความสะอาด
เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ให้ดำเนินการทำความสะอาดตามลำดับดังนี้
วิธีทำความสะอาดแบบง่าย
เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากแกะชิ้นส่วนในตัวเครื่องมากนัก
- เริ่มต้นด้วยการปิดเครื่อง ถอดปลั๊กไฟ แล้วใช้ไขควงถอดฝาเคสออก หากเป็นฝากระจก ควรทำความสะอาดด้วยผ้าเปียกและผ้าแห้ง 1 รอบ แล้วเก็บในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันกระจกแตก
- ทำความสะอาดฝุ่นภายนอกเครื่องด้วยผ้าเปียกและผ้าแห้ง 1 รอบ
- ถอดแผ่นฟิลเตอร์กันฝุ่นทุกส่วนออกมาทำความสะอาดและถอดฝาปิดหน้าเครื่องหรือด้านบนออก (ถ้าทำได้)
- ทำไม้จิ้มฟันหรือจะเกียบไปขัดตามพัดลมจุดต่าง ๆ ในเครื่อง หรือใช้มือจับใบพัดลมแทนก็ได้ เพื่อป้องกันพัดลมหมุนและเกิดไฟย้อนกลับ
- เป่าฝุ่น ใช้เครื่องเป่าลมไล่ฝุ่นที่สะสมในส่วนต่างๆ ของเครื่อง เช่น เมนบอร์ด พัดลม และการ์ดจอ (ก่อนทำควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นด้วย)
- แผ่น Fillter กันฝุ่นหรือชิ้นส่วนของเคสคอมที่ถอดออกได้ ถ้าไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถนำไปล้างน้ำได้เลย แต่ต้องตากให้แห้งก่อนประกอบกลับ หรือจะใช้ผ้าเช็ดก็ได้เช่นกัน
- ใช้แปรงปัดทำความสะอาดในส่วนต่าง ๆ
- ประกอบชิ้นส่วนที่ถอดแแกมากลับคืนที่เดิม เอาไม้จิ้มฟันตามจุดต่าง ๆ ออก เปิดเครื่องใช้งานต่อได้ทันที
วิธีทำความสะอาดขั้น Advance
เหมาะสำหรับคนที่อยาทกทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม
- ถอดการ์ดจอ ทำความสะอาดการ์ดจอด้วยการเป่าลมหรือใช้แปรงปัดฝุ่น หากซอกเล็กเกินไป ใช้ Cotton Buds ทำความสะอาด
- สำหรับการ์ดจอที่หมดประกันแล้ว สามารถแกะมาทำความสะอาดทีละชิ้นหรือทาซิลิโคนใหม่ก็ได้
- แกะพัดลมมาทำความสะอาดทุกตัว ด้วยผ้าหมาด ๆ หรือใช้ Cotton Buds ทำความสะอาดซอกเล็ก ๆ
- ทำความสะอาด Heat Sink ถอด Heat Sink ออกมาเป่าฝุ่นหรือเช็ดคราบซิลิโคน หากสามารถถอดพัดลมออกได้ ให้นำ Heat Sink ที่เป็นโลหะไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปล้างน้ำและตากให้แห้งก่อนประกอบ
- ทำความสะอาด CPU ใช้น้ำยา Contact Cleaner ฉีดคราบซิลิโคนเก่าออก และใช้ทิชชู่เช็ดให้สะอาด
- ทำความสะอาดเมนบอร์ด ใช้แปรงปัดฝุ่นที่สะสมอยู่ตามจุดต่าง ๆ บนเมนบอร์ด หรือใช้น้ำยา Contact Cleaner ฉีดทำความคราบต่าง ๆ
- ทำความสะอาดแรม ใช้ยางลบถูทำความสะอาดบริเวณขั้วทองเหลืองหน้าสัมผัสของแรม หรือจะใช้ Contact Cleaner ฉีดทำความสะอาดก็ได้เช่นกัน
- ทำความสะอาด Power Supply ด้วยการเป่าฝุ่น หรือจะถอดตัว Power Supply ออกมาทำความสะอาดภายนอกก็ได้
- ทำความสะอาด Hard Disk ใช้ผ้าหมาดเช็ดรอบ ๆ อย่างระมัดระวังไม่ให้โดนแผงวงจร และใช้แปรงปัดฝุ่นที่ติดอยู่ตามซอกออก
- เก็บงานด้วยผ้าและแปรง ทำความสะอาดฝุ่นที่เหลือด้วยผ้าหมาดและแห้ง และใช้แปรงปัดฝุ่นอีกรอบ
- ทาซิลิโคนใหม่
- ประกอบชิ้นส่วนกลับคืนที่
- จัดสายไฟให้เรียบร้อย
- ทดลองเปิดใช้งาน
ข้อควรระวังในการทำความสะอาดและซ่อมบำรุงอุปกรณ์
- ห้ามใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของ แอลกอฮอล์ กับส่วนที่เป็น พลาสติก หรือ ยาง เพราะอาจทำให้วัสดุเสื่อมสภาพได้
- ควรทำความสะอาดในพื้นที่ที่มี อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดการสะสมของกลิ่นสารเคมีหรือฝุ่นละออง
- สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทำงาน เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- ต้อง ถอดปลั๊กไฟ ทุกครั้งก่อนเริ่มทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุง เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าช็อต
- ห้ามให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดนน้ำ เพราะอาจทำให้วงจรเสียหายได้
- สำหรับชิ้นส่วนที่สามารถโดนน้ำได้ เช่น ฮีตซิงค์หรือเคส ต้องแน่ใจว่า แห้งสนิท ก่อนนำมาประกอบกลับคืน
กรณีที่ประกอบกลับคืนแล้วเครื่องเปิดไม่ติด
- ให้ถอดอุปกรณ์ออกมาเช็กทีละชิ้น โดยเฉพาะ แรม ซึ่งมักเป็นสาเหตุหลัก
- ลอง Clear CMOS เพื่อรีเซ็ตการตั้งค่า BIOS และตรวจสอบว่าเครื่องกลับมาทำงานได้หรือไม่
ประโยชน์ของการทำความสะอาดคอมพิวเตอร์
- ลดอุณหภูมิและความร้อนสะสม ช่วยให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
- ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ภายใน ลดการสึกหรอและปัญหาเสียหาย
- ลดเสียงรบกวนจากพัดลม ทำให้การใช้งานเงียบและสบายขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เครื่องเย็นลง Boost Clock ทำงานได้ต่อเนื่อง
- ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและฝุ่น
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงระยะยาว
- ช่วยให้พื้นที่ทำงานดูสะอาดและน่าใช้งาน
เพียงเท่านี้ เพื่อน ๆ ก็จะได้คอมพิวเตอร์ที่สะอาดเหมือนใหม่ พร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยยืดอายุการใช้งาน แต่ยังทำให้เราใช้คอมพิวเตอร์ต่อได้อย่างสบายใจอีกด้วย การทำความสะอาดคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปหรือโน๊ตบุ๊กอย่างสม่ำเสมอไม่เพียงช่วยลดปัญหาการระบายความร้อนและการทำงานของฮาร์ดแวร์ แต่ยังทำให้เครื่องดูสะอาดน่าใช้และอยู่กับเราได้นานขึ้นด้วยนะ
หลายปีหลัง ผมใช้แต่ notebook แต่ก้อยังต้องมีการทำความสะอาดพัดลม cpu เหมือนกัน