ในยุคที่โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เปิดตัวใหม่ในทุกปี ทำให้ผู้ใช้อย่างเรา ก็เปลี่ยนสินค้าเหล่านี้บ่อยขึ้น ซึ่งต่างกับสมัยก่อนที่กว่าจะเปลี่ยนเครื่องทีใช้กันจนพัง ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมในอุปกรณ์หนึ่งชิ้นก็มีส่วนประกอบของสารอันตรายหลายอย่าง เช่น โลหะหนัก หรือสารเคมี ดังนั้น เมื่อไม่ใช้งานแล้ว ก็ควรจะกำจัดให้ถูกวิธีด้วย แต่ก็มีหลายคนที่นึกไม่ออกว่าต้องทำยังไง ทำที่ไหน วันนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้แล้ว
1. ขายมือสอง
วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่พอจะได้เงินค่าเครื่องกลับคืนมาบ้าง แม้ว่าอาจจะไม่มากนักก็ตาม ซึ่งเราอาจจะเอานำไปขายตามร้านที่รับซื้อของเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น ร้านตู้มืถือ ร้านรับซ่อมมือถือ หรือร้านรับซ่อมคอมตามห้างไอที
โดยร้านเหล่านี้จะนำเครื่องของเราไปแยกชิ้นส่วนเพื่อเป็นอะไหล่ใช้กับเครื่องอื่น ๆ ที่นำมาซ่อม หรือนำเครื่องเก่าเราไปซ่อมเพื่อขายเป็นเครื่อง Refurbished มือสองในลำดับถัดไป
แต่ถ้าใครพอขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook Marketplace เว็บ kaidee.com หรือ Shopee ก็อาจจะได้ราคาที่ดีกว่าขายให้ร้านรับซ่อมก็ได้ ส่วนวิธีการซื้อขายต่อรอง อันนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ถ้าใครนึกไม่ออกว่าตอนขายควรลงรายละเอียดสินค้าอะไรบ้าง เราได้สรุปมาให้ตามนี้เลย
เทคนิคการขายของมือสองทางออนไลน์
- ถ่ายรูปสินค้า พร้อมป้ายชื่อกระดาษที่เขียนด้วยมือ เพื่อยืนยันว่าของที่ขายนั้นเป็นรูปจริง ไม่ได้แอบอ้าง
- ถ่ายรูปสินค้าหลาย ๆ มุม
- สำรวจตลาดว่าคนอื่นขายของชิ้นนี้ตั้งชื่อว่าอะไร เพื่อให้สินค้าของเราถูกค้นหาได้ง่าย
- กรอกรายละเอียดสินค้าในฟอร์ม เช่น ชื่อสินค้า ราคา ประกัน สภาพสินค้า รายละเอียดการนัดรับ
แต่วิธีการนี้อาจจะต้องมีเวลาไปส่งพัสดุ และควรใจเย็นเล็กน้อยหากต้องการขายให้ได้ราคาที่อยากขาย เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยลงขายของมือสอง พบว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในการหลีกเลี่ยงการต่อราคา
2. Trade in เครื่องเก่าแลกใหม่
หนึ่งในช่องทางการขายสินค้ามือสองที่พักหลังมานี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในบ้านเราเลยทีเดียว เพราะค่ายมือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต่างก็ออกโปรโมชัน Trade in ที่ให้ราคารับซื้อเครื่องจากเราในราคาที่เร้าใจมากกว่าเดิม เพื่อนำไปเป็นส่วนลดราคาเครื่องใหม่
ต้องบอกว่าโครงการ Trade in ลักษณะนี้มีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะส่วนมากมักจะตีราคาเครื่องที่เราเอาไป Trade ไม่สูงโดนใจเรา ทำให้เราเลือกที่จะนำไปขายเป็นมือสองมากกว่า
แต่การเข้าโครงการลักษณะนี้มีข้อดีเรื่องของความสะดวก เพราะไม่ต้องไปหาคนรับซื้อเครื่องมือสองจากเรา สามารถทำได้ครบจบในที่เดียว และเรายังกลับบ้านพร้อมเครื่องใหม่ได้เลย แม้ว่าราคาที่ได้จะน้อยกว่าการขายเองก็ตาม
ตัวอย่างโครงการ Trade-in
Apple Trade In เป็นโครงการที่ทาง Apple มีมานานแล้ว โดยเราสามารถนำอุปกรณ์เก่า เช่น iPhone iPad Macbook Apple Watch และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปขอแลกเป็นส่วนลดสำหรับใช้ซื้อเครื่องใหม่ได้ หรือจะเอาไว้เป็นส่วนลดการซื้ออะไรก็ได้ในร้าน Apple Store โดยสามารถทำได้ทั้งแบบออนไลน์ และที่หน้าร้าน Apple Store ดังนี้
Apple Trade In ออนไลน์
- ประเมินราคาของเครื่องเก่า
- ล้างเครื่องให้เรียบร้อย
- ส่งไปรษณีย์
Apple Trade In หน้าร้าน
- ล้างเครื่องให้เรียบร้อย
- พนักงานจะเป็นผู้ประเมินราคาให้เรา
ทั้งนี้ถ้าอุปกรณ์เราไม่มีมูลค่าเหลือแล้วเราสามารถส่งให้ Apple ช่วยทำไปรีไซเคิลได้แบบฟรี ๆ ด้วย ส่วนรายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้เลย
3. บริจาค
ขั้นตอนถัดไป ถ้าคอมพิวเตอร์หรือมือถือของเรามีมูลค่าที่ต่ำมาก จนแทบจะไม่เหลือมูลค่าแล้ว แต่ยังสามารถใช้งานได้ปกติ อย่าเพิ่งทิ้ง เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ของที่อาจจะหมดมูลค่าสำหรับเราแล้ว อาจจะยังมีมูลค่ากับคนอื่นก็ได้
หนึ่งในทางเลือกในการส่งต่ออุปกรณ์เหล่านี้มีมากมายหลายโครงการ หลายมูลนิธิ ที่จะเป็นตัวกลางช่วยส่งต่อไปยังผู้ที่เห็นมูลค่าในของเก่าของเรา โดยผมได้ยกตัวอย่างมาคร่าว ๆ ประมาณนี้
กทม. โครงการ คอมเก่าสู่คนใหม่ เรียนรู้ไกลไม่สิ้นสุด
โครงการนี้เป็นโครงการของทาง กทม. ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาที่เปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเครื่องเก่าที่เราไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังสภาพดี ยังพอเปิดติดใช้งานได้ เพื่อส่งต่อให้นักเรียนในสังกัดโรงเรียน กทม.
สเปคโน้ตบุ๊กที่รับบริจาค
- เป็นโน้ตบุ๊กที่สภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
- หน้าจอ คีย์บอร์ดไม่ชำรุด และมีอะแดปเตอร์ครบถ้วน
- มี RAM ไม่น้อยกว่า 4 GB
- มี HDD หรือ SSD ความจุไม่น้อยกว่า 16 GB
- รองรับ Wi-Fi
- มี USB ที่ใช้งานได้อย่างน้อย 1 ช่อง
- กล้อง ลำโพง และไมโครโฟนใช้งานได้ปกติ
- แบตเตอรี่ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 60 นาที
จากนั้นเครื่องจะถูกนำไปลงโปรแกรมใหม่เป็น ChromeOS Flex เพื่อใช้ในสื่อการเรียนการสอน Google Classroom หรือแม้แต่เครื่องที่เสียแล้วเปิดไม่ติด ก็สามารถบริจาคได้เช่นกัน ทางทีมงานจะรับไปซ่อมแซมให้ใช้งานได้ก่อนส่งมอบ ทั้งนี้โครงการไม่รับบริจาคเครื่องคอมตั้งโต๊ะเดสก์ท็อปนะ
บริจาคได้ที่ไหน
สามารถเข้าไปกรอกฟอร์มได้ที่ digitalclassroom.bangkok.go.th ได้เลย จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่มารับเครื่องถึงหน้าบ้าน หรือจะนำไปบริจาคที่สำนักงานเขตใกล้บ้านก็ได้เช่นกัน ตอนไปถึงให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องการบริจาคในโครงการนี้
มูลนิธิสวนแก้ว พระพยอม กัลยาโณ โครงการ “คุณไม่ใช้เราขอ”
ถ้าให้พูดถึงสถานที่รับบริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกถึงวัดสวนแก้วกัน โดยโครงการนี้เป็นความตั้งใจของ พระพยอม กัลยาโณ ที่เปิดรับบริจาคสิ่งของทุกอย่างที่เราไม่ได้ใช้แล้ว
โดยทางวัดจะนำสินค้าที่บริจาคไป กลับมาขายราคาถูกให้กับคนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้เข้ามาจับจ่ายซื้อสิ่งของต่างๆ ไปใช้ ถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือซื้อสินค้าราคาถูกไปประกอบอาชีพขายของมือสอง
บริจาคได้ที่ไหน
เราสามารถนำของที่ไม่ได้ใช้แล้วเข้าไปบริจาคโดยตรงได้เลยที่ วัดสวนแก้ว/ มูลนิธิสวนแก้ว 55/1 ม.1 ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 11140 Google Maps
หรือจะเรียกให้รถมารับของจากเราก็ได้เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าของที่มารับต้องมีจำนวนมากเพียงพอด้วยนะ
มูลนิธิบ้านนกขมิ้น โครงการเหลือขอ
โครงการนี้จะมีความคล้ายกับของวัดสวนแก้ว โดยเราสามารถบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้วหลายอย่าง รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพื่อนำไปมอบให้กับน้อง ๆ ในการอุปการะของมูลนิธิฯ หรือส่งต่อให้กับเด็กยากไร้ทั่วประเทศ
บริจาคได้ที่ไหน
เราสามารถนำของที่ไม่ได้ใช้แล้วเข้าไปบริจาคโดยตรงได้เลย ที่มูลนิธิบ้านนกขมิ้น 89/12 ซอยเสรีไทย 17 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240) Google Maps วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.
ถ้าไม่สะดวกจะส่งทางไปรษณีย์แทนก็ได้ ไปตามที่อยู่เดียวกับด้านบน หรือจะให้รถไปรับถึงหน้าบ้าน ในเขต กทม. และปริมณฑลโทร.02-375-5392 , 093-930-7738 , 094-940-0606
4.ทิ้งตามจุดรับ E-Waste
เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นใช้งานไม่ได้แล้ว เอาไปบริจาคก็ไม่มีใครรับแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการทิ้งนั่นเอง แต่การทิ้งที่ถูกต้อง ควรทิ้งในที่ถูกจัดไว้ เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จัดเป็นขยะอันตราย เนื่องจากมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบในหลาย ๆ ส่วน เช่น แบตเตอรี่ ที่ภายในมือสารเคมีอัตรายหลายตัว
ทิ้งที่ไหนดี
ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายที่ต่างออกโครงการเพิ่มจุดทิ้งขยะ E-Waste หลายแห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยเราได้คัดจุดใหญ่ ๆ มาให้แล้ว ดังนี้
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
หนึ่งในสถานที่ทิ้งขยะ E-Waste ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเรา และมีสาขาเยอะ คือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต AIS, True, dtac ได้มีโครงการรับทิ้ง E-Waste ตามสาขาหน้าร้านทั่วประเทศ โดยเราสามารถแจ้งกับพนักงานได้เลยว่าต้องการทิ้ง E-Waste พนักงานก็จะรับของที่เราเอามาทิ้งแล้วส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง
สาขาที่รับทิ้ง E-Waste
ไปรษณีย์ไทย
ทางไปรษณีย์ไทยได้มีโครงการรับทิ้ง E-Waste ร่วมกับทาง AIS ที่เปิดโอกาสให้เราฝากขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ฟรีไม่มีค่ายใช้จ่าย หรือจะนำไปทิ้งที่ไปรษณีย์สาขาใกล้บ้านก็ได้เหมือนกัน หลังจากนั้นทางไปรษณีย์ไทยจะทำการรวบรวมและส่งให้ AIS เอาไปกำจัดอย่างถูกวิธีในลำดับถัดไป
สำนักงานเขต อำเภอใกล้บ้าน
ทาง กทม. ได้จัดตั้งถังขยะ E-Waste ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต เขตละ 1 จุด และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และดินแดง แห่งละ 1 จุด รวมเป็น 52 จุด ให้ทุกคนสามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เลยที่ถังรับ เพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี
ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดยังไม่มีโครงการรับทิ้ง E-Waste จากหน่วยงานรัฐออกมาอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับนโยบายในแต่ละท้องที่ โดยทางทีมงานแนะนำว่าให้ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผู้มาให้บริการอินเทอร์เน็ต และห้างสรรพสินค้าที่มีโครงการลักษณะเดียวกัน
5. ทิ้งกับรถขยะ
หากใครไม่สะดวกทิ้งตามวิธีที่เราแนะนำนด้านบนจริง ๆ ก็คงต้องวิธีสุดท้ายสุดคลาสสิกนี้ อย่างการทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ แล้วให้รถขยะมาเก็บไป แต่ควรแยกใส่ถุงเฉพาะไม่ควรทิ้งรวม เพื่อให้ตอนเจ้าหน้าที่มาเก็บสามารถแยกได้ขยะประเภทนี้ออกจากขยะอื่น ๆ ได้ทันที
ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่มีบริการเก็บขยะ ก็ควรรวบรวมไปทิ้งตามข้อที่เราแนะนำไปข้างต้น ไม่ควรนำไปฝังกลบเอง หรือเผาทำลายด้วยตัวเอง เพราะจะก่อให้เกิดมลพิษในน้ำและดินในบริเวณนั้นอย่างรุนแรง และอาจก่อให้เกิดอันตรายตอนเผาด้วย เช่น แบตเตอรี่ระเบิด เป็นต้น
6.ชั่งกิโลขายกับร้านรับซื้อเศษวัสดุ ขยะรีไซเคิล
วิธีการนี้ จะเรียกว่าขายซากก็อาจจะไม่ผิดนัก เพราะเป็นการขายตามน้ำหนักสิ่งของที่เหลืออยู่มากกว่าคุณค่าของสิ่งนั้น โดยหลังจากที่ร้านเหล่านี้รับซื้อไปแล้ว จะถูกนำไปรีไซเคิลแยกวัสดุแต่ละชนิดออกมา เพื่อนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์ชิ้นใหม่
ภาพ : theguardian, ไทยรัฐ 1, ไทยรัฐ 2, AIS, true, มูลนิธิสวนแก้ว, ไปรษณีย์ไทย, โครงการเหลือ-ขอ
Comment