ช่วงนี้มิจฉาชีพคือมีมาทุกรูปแบบ อย่างล่าสุดก็ได้มีเพจรับแจ้งความออนไลน์ปลอม ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ซึ่งทางตำรวจไซเบอร์ก็ได้ออกมาเตือนภัยให้ระมัดระวังกันมาก ๆ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นกับตัวแล้วก็ยังมีช่องทางที่รับเรื่องตรงนี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นวันนี้เราจึงขอมาแนะนำวิธีแจ้งความออนไลน์ ต้องทำอย่างไร และมีคดีไหนที่สามารถแจ้งได้บ้าง
ข้อมูลที่ใช้ลงทะเบียนแจ้งความออนไลน์
ระวัง! เว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม
ช่องทางแจ้งความออนไลน์
ผู้เสียหายสามารถเข้าไปแจ้งความได้ที่ https://www.thaipoliceonline.com/ เว็บไซต์นี้ที่เดียวเท่านั้นนะคะ
ข้อมูลที่ใช้ลงทะเบียนแจ้งความออนไลน์
- ชื่อ – นามสกุล
- เบอร์โทรศัพท์
- อีเมลล์
- วัน เดือน ปีเกิด
- เลขประจำตัวประชาชนทั้งเลขด้านหน้า และ ด้านหลัง (Laser Code)
วิธีลงทะเบียนแจ้งความออนไลน์
- กรอกข้อมูลส่วนตัว จากนั้นกด ถัดไป
- เลือกช่องทางรับรหัส OTP เลือกได้ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ หรือ อีเมลล์
- กดยืนยัน
วิธีแจ้งความออนไลน์
- เข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/
- ผู้ที่ไม่เคยทำรายการให้กรอกข้อมูลลงทะเบียนก่อน
- เมื่อเข้าสู่หน้าของการแจ้งความ ให้คลิกไปที่ แจ้งเรื่องใหม่ โดยมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ข้อความยินยอม ผู้เสียหายอ่านข้อตกลงให้ครบถ้วนก่อนที่จะทำรายการ เป็นการยินยอมให้แจ้งความและรับทราบในข้อกำหนดต่าง ๆ
ขั้นตอนที่ 2 เป็นคำถามแยก พรก. คือให้ผู้เสียหายตอบว่าจะเป็นการร้องทุกข์เพื่อทำอะไรต่อ แจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน, เอกสารหาย หรือร้องทุกข์ดำเนินคดี และได้รับความเสียหายทางไหนบ้าง ร่างกาย, ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน และเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านออนไลน์ หรือพบเจอต่อหน้า
ถ้าหากผู้เสียหายโดนหลอกในเรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน ก็สามารถกรอกข้อมูลเพื่อขออายัดบัญชีก่อนการแจ้งความได้เลย
ขั้นตอนที่ 3 กรอกข้อมูลผู้เสียหาย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนมากที่สุด พร้อมทั้งเลือกหน่วยงานที่สะดวกไปพบพนักงานสอบสวน
ขั้นตอนที่ 4 กรอกรายละเอียดข้อมูลเรื่องที่เกิดขึ้น โดยให้กรอกประเภทของเครื่อง รายละเอียดโดยย่อ และสถานที่ที่ถูกหลอกให้หลงเชื่อ จากนั้นกดปุ่มถัดไปได้เลย
ขั้นตอนที่ 5 กรอกข้อมูลความเสียหาย ตรงนี้ใมห้กรอกว่าเป็นความเสียหายในด้านใด หากเป็นเรื่องทรัพย์สินก็ให้ระบุรายละเอียดบัญชีไปด้วย
ขั้นตอนที่ 6 กรอกข้อมูลคนร้าย ให้ระบุว่าเราได้เจอคนร้ายหรือไม่ แล้วพบเจอในลักษณะใด หรือถ้ารู้เบาะแสเพิ่มเติมก็สามารถกดเพิ่มข้อมูลได้
ขั้นตอนที่ 7 แนบไฟล์เพิ่ม ขั้นตอนนี้เป็นการแนบหลักฐานที่เราเก็บมาได้ อาจจะเป็นรูปถ่าย รูปที่แคปมา ก็อัปโหลดลงระบบได้เลย
ขั้นตอนที่ 8 การกระทำความผิด ขั้นตอนนี้จะให้ผู้เสียหายกดเลือกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดประเภทใด ซึ่งส่วนมากจะเป็นคดีความที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์
ขั้นตอนที่ 9 ยืนยันความถูกต้อง เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะให้ผู้เสียหายตรวจทานอีก 1 ครั้ง ก่อนที่จะยืนยันส่งข้อมูล
หลังจากที่แจ้งเรื่องเสร็จ ระบบจะแสดงขึ้นมาด้วยหน้าตาแบบนี้ โดยผู้เสียหายสามารถติดตามสถานะคดีออนไลน์ได้ที่หน้าหลักของเว็บไซต์เลย
คดีออนไลน์ที่รับแจ้ง
- หลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ หรือ แอปช้อปปิ้ง
- ชวนกู้เงิน ทั้งเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, โทรมาก่อกวนทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กู้, กู้แต่ไม่ได้เงิน พร้อมเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้น
- หลอกลงทุน หรือ หลอกซื้อขายสินค้า แต่ไม่ได้ส่งของจริง
- ชวนลงทุน Forex, Crypto ทางแอปพลิเคชัน
- ให้โอนเงินเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
- แชร์ลูกโซ่
- การแอบอ้างเป็นคนรู้จัก
- แอบอ้างเป็นคนอื่นแล้วหลอกยืมเงิน
- แอบอ้างเป็นคนอื่นแล้วให้โอนค่าสินค้า
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นหน่วยงานรัฐ
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างมีพัสดุตกค้าง
- ข่มขู่ทางโทรศัพท์
- อ้างขอความช่วยเหลือและให้โอนเงินให้
- หลอกติดตั้งแอปพลิเคชัน / โปรแกรมรีโมทดูดเงิน
- หลอกดูดข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
- คนร้ายเข้าควบคุมอุปกรณ์และถ่ายโอนทรัพย์สิน
- หลอกรักออนไลน์ Romance Scam
- การถูกนำโปรไฟล์ไปใช้งาน
- การ Sex Videocall โชว์ภาพเปลือยและเรียกค่าไถ่
- การถูกแฮ็ค Facebook หรือ Account Social แล้วสร้างความเสียหาย
- การถูกแฮ็คอีเมลล์แล้วเปลี่ยนช่องทางการโอนเงิน
- การถูกฝัง Ramsomware Spyware เพื่อเรียกค่าไถ่ระบบ
ระวัง! เว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม
อีกทั้งตอนนี้ยังมีเว็บไซต์ปลอมได้ผุดขึ้นมา โดยมีการยิงโฆษณา (Ad) หลอกเหยื่อที่ต้องการแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์ ให้เผลอกดเข้าไปที่ลิงก์เว็บปลอม ต้องระวังให้มาก ๆ หากต้องการแจ้งความออนไลน์แนะนำให้เข้าไปที่ https://www.thaipoliceonline.com/ หรือสอบถามที่เบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 จะดีที่สุด
รวมเบอร์แจ้งธนาคาร หากโดนหลอกโอนเงิน
ที่มา : เพจตำรวจไซเบอร์ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
Comment