ในท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้ GMS ถูกตัดออกไปใน Huawei Mate 30 Series และยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร รุ่นต่อไปจะมีโอกาสได้กลับมาใช้ GMS หรือไม่ หรือว่าต้องโดนแบนกันแบบยาวๆไป

แต่สำหรับบริษัทระดับ Global อย่าง Huawei จะให้นั่งคอยความหวังก็คงจะทำไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบกับบริษัทโดยตรง จึงทำให้ Huawei จำเป็นต้องพัฒนา Huawei Mobile Service (HMS) ของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อให้อยู่ต่อไปได้

เกร็ดความรู้ : HMS นั้นมีมาซักพักใหญ่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือนิยมมากนัก ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมไปอีก เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ก่อนจะพูดถึงเรื่ือง HMS ของ Huawei ขอแนะนำให้อ่านเรื่องของ GMS ที่ผมเคยเขียนไว้ ความสำคัญของ Google Play Services สำหรับ Android และนักพัฒนา เพื่ือให้เข้าใจว่าถ้าอุปกรณ์แอนดรอยด์ขาด GMS ไปแล้วจะต้องพบกับปัญหาอะไรบ้าง

 

HMS สามารถทดแทน GMS ได้แค่ไหน?

เมื่อ GMS นั้นเป็นมากกว่าตัวกลางสำหรับแอปของ Google เพราะมันแฝงไปด้วยความสามารถต่างๆมากมายที่อำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาจนทำให้แอปส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาความสามารถของ GMS และไม่สามารถทำงานได้ถ้าอุปกรณ์แอนดรอยด์เครื่องนั้นไม่มี GMS

ดังนั้นสิ่งที่ Huawei ต้องทำจึงไม่ใช่แค่การพัฒนาแอปอย่าง App Gallery เพื่อมาแทน Google Play หรือพัฒนาแอปเพื่อทดแทน Google Maps เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องทำจริงๆนั้นคือการทำให้ HMS สามารถทดแทนความสามารถของ Google Play Service ที่อยู่ใน GMS เพื่อให้แอปอื่นๆสามารถใช้งานแทน GMS ได้

 

การรับมือของ Huawei

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ทาง Huawei ได้เริ่มติดต่อกับนักพัฒนาในแต่ละประเทศเพื่อให้นำแอปไปลงใน App Gallery ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีแอปต่างๆมากมายของไทยที่สามารถดาวน์โหลดจาก App Gallery ได้แล้ว (ต้องนับถือ Huawei จริงๆที่ทำได้ไวขนาดนี้)

แต่เอาเข้าจริงก็เป็นแค่การรับมือขั้นแรกสุดของทาง Huawei  เท่านั้น เพราะการนำแอปลง App Gallery ก็เป็นแค่การเปลี่ยนแหล่งดาวน์โหลดเท่านั้น แต่แอปที่ต้องการ GMS ก็ยังคงต้องการอยู่ดี

ดังนั้นในขั้นตอนต่อมาก็คือการทำให้แอปเหล่านั้นรองรับกับ HMS ให้ได้ โดยในเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนเป็นหนึ่งในนักพัฒนาที่ทาง Huawei ได้เชิญเข้าร่วมงานที่ชื่ือว่า Huawei Developer Day ที่สำนักงาน Huawei Thailand ซึ่งเป็นงานสำหรับแนะนำแนวทางในการพัฒนาแอปสำหรับ HMS ให้กับนักพัฒนาแอปในประเทศไทย

เกร็ดความรู้ : สำหรับความสามารถของ HMS ที่ทำมาเพื่อทดแทน GMS จะมีชื่อเรียกว่า HMS Core

และนั่นก็หมายความว่าในอนาคตแอปตัวหนึ่งก็อาจจะต้องแบ่งเป็น 2 เวอร์ชันสำหรับ Google Play ที่ใช้ GMS และสำหรับ App Gallery ที่ใช้ HMS Core หรืออาจจะทำเป็นเวอร์ชันเดียวกันไปเลยและใช้งานได้ทั้ง GMS และ HMS (ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องนั้นๆมีอันไหนให้ใช้) ส่วนผู้ใช้ก็อาจจะเจอปัญหาจากการโหลด APK มาแล้วใช้งานไม่ได้ เพราะเครื่องใช้ GMS ส่วน APK ที่โหลดมาเป็นเวอร์ชัน HMS แต่ในขณะเดียวกันถ้าแอปนั้นรองรับทั้ง GMS และ HMS ควบคู่กันในตัวเดียว ก็จะเจอปัญหาแอปมีขนาดใหญ่ขึ้นแทน

ซึ่งภายในงาน Huawei Developer Day ก็ได้มีการแนะนำความสามารถต่างๆของ HMS Core ที่พร้อมให้ใช้งานแล้วในตอนนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย

Account Kit – บริการสำหรับแอปที่ต้องการให้ผู้ใช้สามารถ Huawei ID ในการล็อกอินเข้าแอป โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Sign In

Game Service – บริการสำหรับแอปเกมที่ต้องการระบบต่างๆสำหรับเกมด้วย เช่น ระบบ Achievement หรือ Leaderboard เป็นต้น โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Play Game Services

Location Kit – บริการสำหรับแอปที่ต้องการรู้พิกัดตำแหน่งของเครื่องเพื่อใช้งานภายในแอป โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Fused Location Provider & Geofencing

Drive Kit – บริการเพื่อให้แอปของนักพัฒนาสามารถเรียกใช้งานข้อมูลที่อยู่ใน Huawei Drive ของผู้ใช้คนนั้นๆได้ โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Drive

Map Kit – บริการสำหรับแอปที่ต้องการแสดงแผนที่ภายในแอป โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Maps

Push Kit – บริการสำหรับส่งข้อมูลจากระบบเซิฟเวอร์ไปยังเครื่องของผู้ใช้ในรูปแบบของ Push Notification โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Cloud Messaging และ Firebase Cloud Messaging

Analytics Kit – บริการสำหรับเก็บข้อมูลของผู้ใช้ในตอนใช้งานแอป เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ให้มากขึ้น โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Analytics และ Firebase Analytics

Ads Kit – บริการสำหรับแสดงโฆษณาภายในแอปเพื่อสร้างรายได้ให้กับนักพัฒนาแอปนั้นๆ โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Mobile Ads

In-App Purchases – บริการสำหรับเก็บเงินจากการใช้งานแอปในรูปแบบต่างๆ เช่น ซื้อไอเท็มในแอป หรือค่าใช้บริการรายเดือน โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า Google Play In-app Billing

หนึ่งในบริการของ Huawei ที่ไม่ได้เกี่ยวกับ HMS แต่น่าสนใจมากก็คือบริการบริการให้นักพัฒนาสามารถทดสอบแอปของตัวเองบนเครื่อง Huawei ผ่าน Cloud ได้กันแบบฟรีๆ

และในงาน Huawei Developer Day ที่จัดขึ้นเมื่ือไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่สำนักงาน Huawei Singapore (ผมไม่ได้ไป) ก็ได้มีการประกาศ​ Roadmap ของ HMS ในเวอร์ชันถัดไปว่าจะมีบริการใดบ้างเพิ่มเข้ามาในอนาคต ซึ่งจะมีดังนี้

Awareness Kit – น่าจะเป็นบริการสำหรับแอปที่ต้องการรับรู้ถึง Activity ต่างๆของผู้ใช้ว่าผู้ใช้กำลังเดิน หรือวิ่ง หรือกำลังขับรถอยู่ โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ Activity Recognition

Health Kit – น่าจะเป็นบริการสำหรับ Platform ที่เกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ Google Fit ของ GMS

Site Kit – น่าจะเป็นบริการสำหรับสถานที่ต่างๆบนแผนที่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ Place ของ GMS

Nearby Service – น่าจะเป็นบริการสำหรับค้นหาอุปกรณ์แอนดรอยด์รอบๆและเชื่อมต่อได้สะดวกรวดเร็ว โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ Google Nearby ของ GMS

Panorama Kit – น่าจะเป็นบริการสำหรับแสดงภาพถ่ายแบบพาโนรามา โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ Panorama Viewer ของ GMS

DRM Kit – น่าจะเป็นบริการสำหรับแอปที่ต้องการความปลอดภัยสำหรับการทำ Streaming Media Content ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยในเรื่องไหน เพราะเดิมที DRM นั้นมีให้ใช้งานอยู่บนระบบของแอนดรอยด์อยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องใช้ GMS แต่อย่างใด

Safety Detect – บริการด้านความปลอดภัยที่จะช่วยให้แอปมั่นใจได้ว่าอุปกรณ์แอนดรอยด์ที่ใช้งานแอปอยู่ไม่มีการถูกแก้ไขหรือดัดแปลง (Sys Integrity), การตรวจสอบ URL ที่เรียกใช้งานภายในแอปเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี (URL Check), ระบบยืนยันบุคคลเพื่อป้องกันการถูก Spam จากโปรแกรมภายนอกที่ไม่ใช่บุคคลจริงๆ (User Detect) และระบบตรวจสอบแอปภายในเครื่องเพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากแอพอื่นๆ (App Check) โดยของ GMS จะเป็นบริการที่ชื่อว่า SafetyNet

Wallet Kit – น่าจะเป็นบริการสำหรับแอปที่ต้องการชำระเงินผ่านออนไลน์ผ่าน Huawei Wallet โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ Google Pay ของ GMS

ML Kit – น่าจะบริการสำหรับแอปที่ต้องการทำระบบที่ต้องใช้ความสามารถของ Machine Learning ภายในแอป โดยเดาว่าน่าจะมาแทนที่ ML Kit for Firebase ของ GMS

Scan Kit – ยังไม่มีข้อมูลสำหรับบริการตัวนี้ แต่เดาว่าน่าจะเกี่ยวกับการใช้กล้องทำ Image Recognition เหมือนกับ Mobile Vision ของ GMS

FIDO, Fast Identity Online – บริการสำหรับยืนยันตัวตนด้วย FIDO ภายในแอป โดยจะมาแทนที่ Google Identity Platform ของ GMS

Identity Kit – ยังไม่มีข้อมูลสำหรับบริการตัวนี้ แต่น่าจะเป็นบริการสำหรับการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน โดยคาดว่าจะมาแทนที่ Google Identity Platform

Connectivity Kit – บริการสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆเพื่อรับส่งข้อมูลระหว่างแอปกับอุปกรณ์นั้นๆ โดยคาดว่าจะมาแทนที่ Google Cast

Dynamic Tag Manager – ยังไม่มีข้อมูลสำหรับบริการตัวนี้

ซึ่งเมื่อเทียบบริการระหว่าง HMS Core กับ GMS แล้ว ก็จะพบว่าบริการยอดนิยมส่วนใหญ่ที่แอปใช้งานนั้นมีให้เกือบทั้งหมดแล้ว

บางอันไม่รู้จะเทียบอันไหนกับของ GMS เพราะยังไม่มีข้อมูล

แต่บริการที่น่าจะเป็นโจทย์ที่หินที่สุดสำหรับ Huawei ก็คงไม่พ้นบริการที่ชื่อว่า Firebase ซึ่งผมขอพูดถึงทีหลัง

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของ HMS Core ก็คือการออกแบบโค้ดให้มีรูปแบบที่คล้ายกับ GMS เพื่อให้นักพัฒนาสามารถแก้ไขโค้ดให้รองรับได้ง่ายใช้เวลาน้อย

ตัวอย่างข้างบนนี้เป็นคำสั่งเรียกใช้งานแผนที่ภายในแอปด้วยรูปแบบที่ง่ายที่สุด โดยจะเห็นว่าคำสั่งเหมือนกันแทบทั้งหมด เว้นแต่ชื่อเรียกของ GMS ที่ต้องเปลี่ยนเป็นของ HMS Core

โดยความยากอย่างหนึ่งของ HMS ก็คือถึงแม้ว่าจะมี HMS Core ให้ใช้ แต่ก็ใช่ว่านักพัฒนาจะหันมาทำให้แอปรองรับกับ HMS Core ในทันทีทันใด เพราะในปัจจุบันตอนนี้อุปกรณ์แอนดรอยด์ที่มี HMS อยู่ในเครื่องไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น จึงทำให้มีแรงจูงใจในการทำแอปให้รองรับค่อนข้างน้อย

ซึ่งในตอนนี้ทาง Huawei ได้ทยอยรับมือกับปัญหานี้ดว้ยการติดต่อกับนักพัฒนาของแต่ละแอปเพื่อทำแอปให้รองรับกับ HMS Core เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพักหนึ่งถึงจะได้เห็นแอปในประเทศไทยทยอยรองรับ HMS Core

แต่ที่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดก็คงจะเป็นบริการที่จะมาทดแทนบริการ Firebase เพราะว่าบริการ Firebase นั้นเป็นบริการที่จัดการทั้งในส่วนของแอปและรวมไปถึงระบบข้างหลังบ้านของแอปนั้นๆด้วย

ดังนั้นการมีระบบมาทดแทนบริการของ Firebase จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะว่านักพัฒนาไม่สามารถย้ายระบบหลังบ้านไปใช้ของ HMS (ถ้ามีในอนาคต) ได้ง่ายๆ ซึ่งใช้เวลามากกว่าการทำแอปให้รองรับ HMS Core หลายเท่าเลยล่ะ ก็ต้องรอติดตามดูว่า Huawei จะใช้ Solution แบบไหนในการแก้ปัญหานี้ เพราะผมก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน

 

บทสรุปจะเป็นเช่นไรใครจะรู้

ต้องบอกเลยว่า ณ ตอนนี้ Huawei ต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อผลักดันให้ HMS นั้นอยู่รอดในตลาดได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีฐานผู้ใช้อยู่แล้วในประเทศจีนก็ตาม แต่การจะเพิ่มฐานผู้ใช้ให้ทั่วโลกจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า ซึ่งตอนนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาความสามารถต่างๆให้กับ HMS ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนไปจนถึงปีถึงจะเห็นผลตอบรับ

แต่ในอีกมุมหนึ่งผู้เขียนก็แอบเชียร์ให้ HMS สามารถอยู่รอดได้นะ เพราะว่าที่ผ่านมา GMS แทบจะผูกขาดตลาดแอนดรอยด์ทั่วโลกเกือบทั้งหมด ยกเว้นในประเทศจีนที่ไม่สามารถใช้งาน GMS ได้อยู่แล้ว ซึ่งเดิมทีก็เป็นปัญหาสำหรับนักพัฒนาแอปที่ต้องการทำตลาดในประเทศจีนด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้า HMS สามารถหาพื้นที่ให้ตัวเองได้ ก็จะทำให้ตลาดของอุปกรณ์แอนดรอยด์นั้นมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาแทนที่จะมีแค่ GMS เท่านั้น รวมไปถึงการทำตลาดในประเทศจีนด้วยเช่นกัน

แต่การ HMS ที่อยู่รอดได้นั้นก็ไม่ได้มีแต่เรื่องดีเสมอไป เพราะสำหรับนักพัฒนาแอปถือว่าเป็นการเพิ่มงานให้กับพวกเขาด้วยเช่นกัน และยังเพิ่ม Fragmentation ให้กับการพัฒนาแอนดรอยด์มากกว่าเดิมไปอีก ทั้งๆที่ทุกวันนี้ก็ลำบากกันอยู่แล้ว 😂

ดังนั้นถ้าจะให้สรุปสถานการณ์ของ Huawei ในตอนนี้ก็คือ

• ยังไม่มีวี่แววว่าจะใช้ GMS ได้ในอนาคตหรือไม่ แต่รอลมๆแล้งๆไปก็เปล่าประโยชน์ จึงต้องผลักดัน HMS ไปด้วย
• ผู้ใช้จะได้เห็นแอปที่ลง App Gallery เพิ่มมากขึ้น
• จะเริ่มเห็นแอปต่างๆทยอยรองรับ HMS Core เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกเหนือจากนี้ก็มาติดตามสถานการณ์ไปพร้อมๆกันครับ