ฮือฮากันเหลือเกินกับโหมดซูม 50 เท่า ถ่ายพระจันทร์ ของ Huawei P30 Pro โดยเฉพาะในช่วง Pink Moon หรือพระจันทร์สีชมพูที่นอกจากดวงใหญ่แล้วยังถ่ายออกมาดูดีเหมือนมีพระจันทร์อยู่หน้าบ้านกันเลย ซึ่งทำให้เกิดคำถามกับผู้ใช้บางคนว่าทำไมซูม 50 เท่าแล้วถ่ายดวงจันทร์ชัดมาก แต่ซูมอย่างอื่นกลับถ่ายออกมาไม่ชัด

หลังจากเกิดความสงสัยได้ไม่นาน ก็พบว่ามีคลิปวิดีโอบนทวิตเตอร์ @DeanzTIA ออกมา พร้อมกับการทดสอบถ่ายภาพพระจันทร์ด้วย Huawei P30 Pro แต่เค้าใช้พระจันทร์ปลอมโดยมีการใส่ภาพกางเกงในเข้าไป

ซึ่งระบบ AI ได้ทำการระบุว่าวัตถุในภาพเป็นดวงจันทร์ หลังจากถ่ายภาพออกมาก็ปรากฏว่า ลายกางเกงในได้เปลี่ยนรูปร่างไป เหมือนกลายเป็นเงาบนผิวดวงจันทร์ แล้วเติมรายละเอียดเพิ่มเข้าไป ประมวลผลใหม่ออกมาคล้ายกับการถ่ายดวงจันทร์

ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นการถ่ายได้จริงๆ หรือเป็นการตัดต่อภาพมา จนมีสมาชิกในกลุ่ม Droidsans We Love Android ได้ลองทำการทดสอบคล้ายๆ กันขึ้นมา

โดยวิธีการของเขาคือการนำเอา iPad มาเปิดภาพพระจันทร์ ซึ่งได้ทำการเติมตัวอักษร aaa เพิ่มเข้าไป หลังจากนั้นก็ทดลองถ่ายภาพซูมหน้าจอ iPad ด้วยการเปิดกล้อง P30 Pro แล้วถอยไปไกลๆ ประมาณ 8-10 เมตร เพื่อให้ได้ระยะซูม 50 เท่า จนพระจันทร์ aaa เต็มเฟรม หลังจากนั้นก็ทดลองถ่ายด้วยการเปิด AI และปิด AI เทียบกัน ซึ่งผลที่ออกมาคือตัวอักษร aaa เลือนลางหายไปในภาพที่เปิด AI ส่วนภาพที่ไม่ได้เปิด AI นั้นยังมีตัว aaa ให้เห็นบนผิวดวงจันทร์

หากลองสังเกตุในคลิปวิดีโอจะเห็นได้ว่าภาพในขณะที่ถ่ายนั้นมีตัว aaa ค่อนข้างชัด แต่พอระบบ AI ไปทำการประมวลผลภาพต่อ กลับเหมือนมีการเกลี่ยภาพถูเอาตัวอักษรให้หายไป คล้ายกับโหมด Beauty เวลาถ่ายภาพคน และทำให้รายละเอียดบนดวงจันทร์ดูชัดขึ้น

ดูคร่าวๆ แล้วทาง Huawei อาจจะใช้ระบบ AI เข้ามาเสริม ทำให้สามารถถ่ายพระจันทร์ได้ กลมขึ้น ลวดลายบนผิวชัดขึ้น ซึ่งจะเรียกว่า AI Moon Beauty ก็ว่าได้

ทำไมซูมภาพอื่นแล้วไม่ชัดเท่าถ่ายพระจันทร์

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงการทำงานของ AI กันสักเล็กน้อย ว่าการใช้ AI มาช่วยด้านการปรับแต่งภาพถ่ายนี้ เกิดจากการนำเอาภาพหลายร้อยล้านรูปส่งเข้าไปสอนเจ้า AI เรียนรู้ว่าภาพไหนสวย ภาพไหนคืออะไร ทำให้ตัว AI สามารถแยกแยะภาพต่างๆได้ เมื่อมันรู้ถึงจุดนึงแล้ว ก็จะเข้าใจว่าภาพที่สวยตามคำนิยามของคนที่สอนมันนี้เป็นอย่างไร และกำหนดกฎเกณฑ์ในการปรับแต่งภาพต่างๆขึ้นมา ทีนึ้เมื่อเราถ่ายรูปตัว AI ก็จะปรับแต่งภาพที่เราถ่ายมาให้ใกล้เคียงกับคำนิยามที่มันเข้าใจที่สุด โดยยังคงความเป็นภาพนั้นเอาไว้เช่นกัน

ทีนี้ ตัวอย่างภาพที่ส่งเข้าไปให้ AI เรียนรู้นั้น มีความหลากหลายมาก แต่สำหรับภาพพระจันทร์ ที่ไม่ว่าจะมองจากตรงไหน ก็เป็นพระจันทร์เหมือนๆกัน จึงทำให้ตัว AI เรียนรู้และเข้าใจพระจันทร์ได้ง่ายกว่าวัตถุอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเราทำการซูมพระจันทร์ การที่ P30 จะปรับแต่งให้สวยจึงทำได้ง่ายกว่า มีภาพในอุดมคติชัดเจนกว่า ต่างจากภาพที่เราซูมระหว่างดูคอนเสิร์ต ถ่ายตึกรามบ้านช่อง สิงสาราสัตว์นั่นเอง

ดวงจันทร์ หันด้านเดียวของเค้าเข้าหาโลกนะรู้ยัง ถ่ายจากแต่ละที่จะคล้ายกันมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ทำให้ Huawei P30 Pro ถ่ายของตัวพระจันทร์ได้สวยงามกว่าภาพปกติก็คือ ตัวดวงจันทร์เองเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่สว่างมากพอ ซึ่งการถ่ายหากแสงดีภาพที่ถ่ายออกมาก็มีโอกาสสวยง่ายกว่า จากค่า Speed Shutter ที่ไม่ต้องต่ำมาก หรือ ISO ที่ไม่ต้องดันขึ้นไปสูงลิบนั่นเอง

**updated คำแถลงการณ์จาก Huawei**

หลังจากที่ข่าวนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ Huawei ได้ออกมาแถลงการณ์เรียบร้อยแล้วว่าโหมดการถ่ายดวงจันทร์หรือ Moon Mode ของ Huawei P30 Pro ใช้ความสามารถจากระบบการเรียนรู้ของ AI ที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของ Scene ได้มากกว่า 1,300 แบบ ทำให้มันสามารถช่วยปรับแต่งภาพได้ทั้งรูปร่าง สี แสง หรือรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดขึ้น ไม่ใช่ว่าไปเอาภาพดวงจันทร์มาแปะทับลงไป ทาง Huawei ยังได้บอกอีกว่า P30 Pro ยังคงสามารถถ่ายภาพพระจันทร์ได้เองโดยไม่ต้องเปิดระบบ AI ก็ยังได้ ด้วยความสามารถจากเลนส์ Tele ของมันนั่นเอง