Facebook อีกบริษัทที่หลายๆคนไอทีอยากจะเข้าไปทำงาน สัมผัสประสบการณ์การทำงานเบื้องหลังที่มาของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ Facebook มีจำนวนพนักงานราว 7,200 คน1 แบ่งเป็นพนักงานทั่วไป และบุคลากรสายเทค ซึ่งเปิดรับคนจากทั่วโลก ไม่ได้จำกัดแค่ชนชาติตะวันตกเท่านั้น และในบุคลากรสายเทคนี้คิดเป็นคนเอเชียราว 41%2 และรู้หรือไม่ว่ามีคนไทยรวมอยู่ในนี้ด้วย

เมื่อตอนที่ไปอเมริกาเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปคุยกับคนไทยคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่ Facebook ซึ่งเค้าจะมาเล่าประสบการณ์การทำงานในบริษัทในฝันของใครหลายๆคนให้เราฟังกันครับ

แนะนำตัวหน่อย เป็นใครจบจากที่ไหน ทำอะไรก่อนมาทำที่ Facebook บ้าง

ผมชื่อ โต้ ธาวัน คูบุรัตถ์ เรียนจบ ป.ตรี,โท จากวิศวะกรรมคอมพิวเตอร์จุฬา พอจบแล้วก็ทำงานเป็น Consultant ให้กับ Accenture อยู่หนี่งปีก่อนออกมาเรียนต่อโท Computer Science ในอเมริกาที่ University of Wisconsin – Madison ด้วยทุนของตัวเอง ระหว่างเรียนอยู่ได้ฝึกงานกับ Facebook แล้วก็ได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงานต่อตอนฝึกงานจบ ก็เลยได้อยู่กับ Facebook ตั้งแต่นั้นมาจนตอนนี้ก็ทำมาได้ 2 ปีครึ่งแล้ว  

 

ตำแหน่งตอนนี้ที่ทำอยู่ที่ Facebook คืออะไร และ scope งานดูแลส่วนไหน

เป็น Software Engineer อยู่ในแผนก Service Infrastructure ซึ่งมีหน้าที่สร้างและดูแลระบบส่วนกลางที่ใช้รองรับระบบหลังบ้านอื่นๆใน Facebook 

ก่อนอื่นต้องเริ่มจากอธิบายระบบของ Facebook นั้นถ้าจะอธิบายอย่างคร่าวๆ ก็จะประกอบด้วยตัวหน้าเว็บซึ่งทำหน้าที่แสดงผล โดยจะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูล หรือถ้าเป็นข้อมูลที่ซับซ้อนก็จะมีระบบอื่นหลังบ้านทำหน้าช่วยประมวณผล เช่น New Feed, Graph Search เป็นต้น 

เนื่องจาก Facebook มีจำนวนผู้ใช้ที่สูงมาก ระบบหลังบ้านก็ต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย ทำให้ระบบเหล่านี้ต้องเจอกับปัญหาในการจัดการและดูแลคล้ายกัน ทีมผมจึงมีหน้าที่สร้างและดูแลเครื่องมือที่ทำให้พนักงานคนอื่นๆ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้พวกเขาไม่ต้องแก้ปัญหาเดิมๆซ้ำๆกัน จะได้มีเวลาไปใช้ในการสร้างสิ่งใหม่ๆให้กับ Facebook แทน

ถ้าเป็นองค์กรทั่วไปๆก็คงคล้ายๆกับแผนก IT ที่คอยดูแลระบบส่วนกลางเช่นพวก email เป็นต้น เพียงแต่ที่นี่ทีมผมจะเน้นไปที่การมองหาว่าอะไรคือปัญหาที่พบบ่อยแล้วจึงสร้างระบบใหม่ๆขึ้นมาแก้ปัญหาเหล่านั้น แทนการซื้อระบบจากข้างนอกเข้ามาใช้

<ระบบหลังบ้านที่รองรับผู้ใช้ที่มากมายของ facebook>

สมัครที่อื่นที่ไหนไปบ้างและทำไมถึงเลือก Facebook

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าจริงๆแล้วตั้งใจจะมาเรียน ป.โท-เอก ที่นี่ แต่ช่วงเรียนอยู่อยากออกมาฝึกงานเอาประสบการณ์และเงินรายได้เสริม เลยสมัครไปที่ใหญ่ทั้งหมด เช่น Microsoft, Google และ Facebook แต่มีแค่ที่ Facebook เท่านั้นที่รับเข้าฝึกงาน  อาจารย์ที่ปรึกษาเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะอยากให้เราฝึกงานกับบริษัทที่ทำงานด้านวิจัยมากกว่าเพื่อประโยชน์กับการศึกษาของเรา แต่พอได้เข้าฝึกงานจริงก็รู้สึกสนุกกับงานมาก ได้ทำงานกับระบบใหญ่ๆ ได้สร้างสิ่งที่เขาเอาไปใช้งานจริง มีเพื่อนร่วมงานที่รักในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่น่าประทับใจ  พอได้รับข้อเสนอให้เป็นพนักงานตอนฝึกงานเสร็จ เลยคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาและคนอื่นๆ บวกกับตอนนั้น Facebook กำลังจะเข้าตลาดหุ้น เลยทำให้ตัดสินใจออกจากโปรแกรมที่เรียนอยู่กลางคันด้วยวุฒิ ป.โท แล้วออกมาทำงานเลย 

 

แล้วเข้ามาแล้ว Facebook มันเจ๋งอย่างที่คิดเอาไว้มั้ย?

ตื่นเต้นมากเพราะรู้สึกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเต็มไปหมด มีโรงอาหารบริการข้าวสามมื้อ เมนูอาหารเปลี่ยนไปในแต่ละวัน มีน้ำและขนมให้หยิบกินตลอดทั้งวัน (แค่นี้ก็ได้ใจไปกว่าครึ่งแล้วเพราะตอนเรียนป.เอก แค่จะได้กินของฟรีก็ต่อคิวยาวหรือรีบวิ่งไปเอาก่อนของหมด) นอกจากนี้ก็มีบริการร้านตัดผม ร้านซักผ้า มีบริเวณพักผ่อนที่มีทีวีและเครื่องเกมให้เล่น  

<ที่จอดรถพลังงานไฟฟ้า, ห้องเล่นเกมตู้, valet parking ให้พนักงาน, บริการซักอบรีด>

ตัวผมเองได้มีอุปกรณ์ส่วนตัวที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple ใช้เป็นครั้งแรก พวก MacBook หรือ iPhone ก็ตอนมาเข้าฝึกงานที่บริษัทนี่แหละ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเขาลงทุนกับพนักงานของเขามาก เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเหล่านี้มีไว้เพื่อให้พนักงานไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางไปทำธุรข้างนอก แล้วจะได้เอาเวลามาให้กับบริษัทแทน แม้แต่ตอนที่เข้ามาฝึกงานก็ให้ความรู้สึกเหมือนได้รับการปฏิบัติเหมือนพนักงานทั่วไป แถมดูแลดีกว่าอีกด้วยซ้ำเพราะเขาจัดหาที่พักใ้ห้ มีกิจกรรมให้ทำ เช่น ให้ไป BBQ Party ที่บ้านใหม่ของมาร์ค เป็นต้น 

ตอนที่ไป Party ที่บ้านมาร์ค เขาห้ามขอถ่ายรูปกับมาร์ค เลยไปขอถ่ายรูปกับหมาของมาร์คที่ชื่อว่า Beast แทน (ใน Facebook’s Messenger จะมีชุด sticker ของ Beast อยู่ด้วย)

ตัวพนักงานเองก็มีอิสระค่อนข้างมากในการทำงาน การจะสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมาก็ไม่จำเป็นต้องรอความเห็นจากผู้บริหารหรือคนแผนกอื่น ถ้าต้องการขอ Server มาใช้งานก็ทำได้เองทันทีหากจำนวนเครื่องที่ต้องใช้ไม่เยอะมาก เลยทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยมี Process มาค่อยขัดขวางการทำงานของเรา

 

พูดถึง Mark Zuckerburg ซักนิดนึง

<ภาพตอนที่มาร์คเข้าพบบารัค โอบามาเพื่อรับประทานอาหารค่ำด้วยกัน : wikipedia>

มาร์คเป็นคนค่อนข้างติดดินมากๆ โต๊ะทำงานก็เป็นแบบเดียวกับที่พนักงานทั่วไปใช้ นั่งรวมกับทุกคนรวมทั้งผู้บริหารอื่นๆไม่ได้มีห้องทำงานส่วนตัวแยกออกไป รถที่ใช้ก็ไม่ได้เป็นรถ sport สวยๆหรือนับว่าเป็นรถหรูด้วยซ้ำ แม้ว่าจะเป็นหลังบริษัทเข้าตลาดหุ้นแล้วก็ตาม เคยได้ยินว่าเมื่อก่อนก็อยู่ apartment โทรมๆจนแผนกรักษาความปลอดภัยของบริษัทมาขอให้ย้ายไปอยู่ที่ๆดีขึ้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัย  

เรื่องตลกที่มักเล่ากันแม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็คือ เคยมีครั้งหนึ่งที่เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นในบริษัทแล้วมาร์คต้องการส่ง memo ถึงทุกคนเพื่อพูดถึงเรื่องนี้  แต่ใน email ที่มาร์คส่งนั้นดันใช้หัวข้อจดหมายว่า “Please leave” (กรุณาลาออก) ตอนนั้นทำให้หลายคนในบริษัทตกใจ บางคนที่อ่านแค่หัวจดหมายแถบจะนึกว่าตัวเองถูกไล่ออกจริงๆ แล้วก็เริ่มเตรียมเก็บของกันเลยทีเดียว

(เมื่อตอนที่ไปเดินเล่นใน Facebook ก็เจอมาร์คซัคเขานั่งอยู่ในห้องประชุมกระจก มองเห็นได้ง่ายๆ พอประชุมเสร็จก็เห็นมานั่งตรงโซฟา เรียกว่าเข้าถึงตัวได้ง่ายมากจริงๆ :D)

จุดเด่นของออฟฟิศ Facebook เมื่อเทียบกับ Office บริษัทอื่นๆใน Silicon Valley?

 

<Menlo Park Campus – ปัจจุบันเป็น HQ ของ Facebook ซึ่งเดิมเคยเป็นของ Sun Microsystem มาก่อน> 

 

<ภาพจาก Hacker square  ซึ่งเป็นลานกว้างกลาง Campus>

ตัว Office ของ Tech Company ในแถบนี้จะคล้ายๆกันแง่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่พูดถึงแต่จะมีแตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่น Google อาจจะมีสระว่ายน้ำ Facebook มีหน้าผาจำลองให้ปีน Twitter มีเบียร์ให้กินตอนกลางวัน ส่วนใหญ่พนักงานจะมีส่วนช่วยในการเสนอว่าอยากให้มีอะไรเข้ามาเปิดให้บริการในบริเวณของบริษัท

 

 

<Micro kitchen – เป็นที่นั่งพักมีของกินต่างๆให้เลือก หรือทำเองก็ได้ เช่น กาแฟ หรือ Cereal>

 

<IT service desk – พนักงานสามารถเอาอุปกรณ์ IT ต่างๆไปซ่อม หรือจะเบิกอุปกรณ์ต่างๆด้วยตนเองจาก Vending machine ก็ได้>  

 

<The Rock – หน้าผาจำลอง ของเล่นใหม่ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาปีนี้>

แต่อีกสิ่งที่จะแต่งต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ Theme ของ office ซึ่งจะแฝงค่านิยมขององค์กรไว้ อย่างของ Facebook เอง การตกแต่งจะใช้ Theme ที่เรียกว่า “Unfinished” หลังคาจะไม่มีฝ้าทำให้เห็นท่อแอร์และสายไฟ ตัวพี้นหรือผนั้งจะทาสีง่ายๆหรือเป็นปูนเปลือย ไม่แน่จะว่าเกี่ยวกับ slogan อีกอันที่มักใช้กันบ่อยในบริษัท  คือ This journey is 1% finished หรือเพราะ office สมัยแรกๆเกิดจากการเช่าโรงงานมาทำเป็นสำนักงาน แม้แต่ office ที่เมืองอื่นที่ไปอาศัยเช่าอาคารอื่นก็ยังคงตกแต่งแบบเดียวกัน

 

<unfinished จริงๆ ขนาดป้ายบริษัทเมื่อไปดูด้านหลังยังเป็นของ Sun microsystems อยู่เลย>

อีกส่วนหนึ่งของ Theme ก็จะเป็นการวางโต๊ะทำงานที่จะอยู่ติดๆกันและไม่มีฉากกั้น หรือที่เรียกว่า Cubicle ซึ่งทำให้พนักงานสามารถคุยงานกันสะดวก บางครั้งเราจะได้ยินเพื่อนร่วมงานคุยงานกันใกล้ๆ แต่แล้วเราก็สามารถเข้าไปร่วมให้ความเห็นได้ด้วยซ้ำโดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ส่วนการคุยธุระส่วนตัวก็เพียงแต่เดินไปหาห้องประชุมหรือที่ว่างใกล้ๆแทน

 

ความแตกต่างของชีวิต Developer/Programmer ที่ US vs THA

ตอนอยู่ไทยก็ทำกับบริษัทที่มาจากเมืองนอกเลยทำให้มีบางอย่างที่คล้ายกับที่นี่ แต่ข้อหนึ่งที่รู้สึกว่าแตกต่างจนเห็นได้ชัดเจนก็คือคนที่นี่ เวลางานแล้วจะจริงจังกับงาน ขณะเดียวกันก็จะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ (Passionate) ซึ่งจะทำให้ได้ผลของงานที่ดี ในขณะที่เมืองไทยพนักงานไม่ค่อยมีโอกาสได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ทำให้ไม่ได้ทำในสื่งที่ตัวเองถนัดหรือชอบ แล้วส่งผลให้บางครั้งสภาพแวดล้อมการทำงานและผลของงานด้อยลงไป ที่นี่หัวหน้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก หากเราไม่สนุกกันงานแล้วก็สามารถขอย้ายงานได้จากหัวหน้าได้ไม่ยากนัก  

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ที่ Facebook คือการที่พนักงานทั่วไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจค่อนข้างมาก ผู้บริหารหรือหัวหน้าจะมีหน้าที่ตั้งกรอบหรือเป้าหมายที่ควรทำ แต่ในขณะเดียวกันก็จะเคารพการตัดสินใจด้านเทคนิคจาก Engineer เพราะเขาเชื่อว่าคนเหล่านั้นรู้รายละเอียดมากกว่าคนระดับสูงขึ้นไป 

หลายครั้งงานต่างๆที่เกิดขึ้นก็สืบเนื่องจาก Engineer รู้สึกว่ามีปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไขอยู่แล้วสามารถคุยกับหัวหน้าจนเห็นตรงกันและพัฒนาจนกลายเป็นการสร้างสิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

 

จะกลับไทยมั้ย? ถ้ากลับไทยมาอยากทำอะไร?

คิดว่าอยากจะกลับถ้ามีโอกาสที่เหมาะสม อยากเอาความรู้และประสบการณ์ที่เราได้จากการทำงานกับ Internet Company ขนาดใหญ่ไปใช้ในไทย เพราะรู้สึกว่ากระบวนการและแนวคิดมันสามารถนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนางานต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นระบบที่ใหญ่โตเหมือนอย่าง Facebook อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าอยากทำให้ในไทยมีที่ๆทำงานดีๆและสนุกเหมือนอย่าง Facebook คนที่จบและชอบทำงานสายคอมพิวเตอร์จะได้มีที่ทำงานอยู่ในสายของตัวเองโดยไม่ต้องย้ายไปทำงานสายอื่น  หรือต้องออกมาอยู่ต่างประเทศเพียงเพราะไม่มีสามารถหาความก้าวหน้าได้จากการทำงานในประเทศ พวกบริษัท Tech company ที่นี่มักจะมี career path ที่ทำให้โปรแกรมเมอร์สามารถโตในสายงานตัวเองไปเทียบเท่ากับ VP (Vice President) ได้โดยที่ไม่ต้องผันตัวไปเป็นผู้บริหาร 

 

พูดถึงวัฒนธรรมขององค์กรของ Facebook ที่น่าสนใจ และน่านำเอาไปปรับใช้ที่ประเทศไทย

<Poster ที่เห็นได้ทั่วไปในบริเวณของบริษัท ซึ่งแสดงทัศนคติการทำงาน>

อย่างแรกต้องดูจาก Value หลักก็คือ Move Fast and Be Bold

Move Fast คือการบอกว่าเราจะเลือกที่จะนำเสนอสิ่งต่างๆออกให้เร็ว แทนที่จะรอจนเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้วค่อยปล่อยของออกมาให้คนใช้ หรือการที่จะเลือกลด process หรืออำนวยความสะดวกต่างๆ ในองค์กรเพื่อให้คนสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมาได้ง่าย ซึ่งจะคู่กับ Be Bold เพื่อจะต้องการบอกให้คนกล้าที่จะเสี่ยงเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ แม้ว่าอาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ตาม แม้จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็จะไม่มีการชี้ไปที่ตัวบุคคล แต่จะมองว่าเป็นความผิดของระบบหรือกระบวณการทำงานซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์และแก้ไขกันต่อไป  ตอนสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ Value เดิมจะเป็น Move Fast and Break Things แต่คนกลับคิดว่าควรจะต้องทำของพังจริงๆ

ตัวอย่างง่ายของการทำตามแนวคิดนี้ก็คือหน้าเว็บของ Facebook ซึ่งจะมีการออกเวอร์ชั่นใหม่ถึงวันละสองครั้ง ทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้รวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็จะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบพังบ่อยขึ้นเช่นกันหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น แต่เราก็เลือกที่จะสร้างสิ่งอื่นๆที่จะช่วยป้องกันหรือแก้ไข้ข้อผิดพลาดให้ได้อย่างรวดเร็ว แทนจะเลือกลดความเสี่ยงโดยการไม่ทำอะไรเลยหรือทำช้าๆแทน

Be Open ก็เป็นอีกหนึ่ง Value ที่สำคัญ เราเลือกที่จะให้พนักงานรับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์กรเท่าๆกัน ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมและเข้าใจภาพรวมที่กำลังเกิดขึ้นในบริษัท และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำงานของแต่ละคน พูดง่ายๆคือภายในไม่ค่อยมีโครงการลับที่ไม่มีคนรู้ ทำให้แต่ละทีมสามารถตัดสินใจเรื่องแผนระยะยาวได้และเข้ากับทิศทางของบริษัท ขณะเดียวกันพนักงานก็จะมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นภายในเช่นกัน แต่สิ่งนี้ก็แลกมากับการที่อาจจะมีความลับของบริษัทหลุดเป็นบางครั้ง ซึ่งเราก็เลือกที่จะยึดแนวคิดนี้ เพราะโดยรวมแล้วมันส่งผลดีมากกว่าผลเสีย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้รู้สึกว่าชอบทั้งหมด แต่ถ้าต้องให้เลือกสิ่งที่สำคัญ ก็คือการที่ทุกครั้งเมื่อมีข้อผิดพลาดแล้วไม่กล่าวโทษตัวบุคคล ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกันวิเครา์ะห์หาสาเหตุแล้วพัฒนาเพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำซ้อน หากทำได้แค่นี้แล้วอย่างน้อยเราก็ไม่อยู่กับที่แล้วมีการก้าวหน้าตลอดเวลา

 

Silicon Valley เป็นสวรรค์ของเหล่า Geek จริงมั้ย?

ชอบที่เขาให้ความสำคัญกับ Engineer มองว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ถ้าพูดติดตลกก็จะบอกว่าเป็นเหมือน hot chick (สาวๆที่เป็นที่ต้องการของหนุ่มๆ) ของเหล่าบรรดาบริษัทต่างๆ จะมีฝ่าย HR ของบริษัทอื่นๆส่งจดหมายมาหาอยู่เรื่อยๆ เราสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนงานได้ไม่ยากนักและมีโอกาสใหม่ๆเข้่ามาโดยตลอด

แบบจริงจังหน่อยก็จะบอกว่าถ้าชอบที่จะทำงานด้านนี้ก็จะยิ่งสนุกกับงาน เพราะก็จะมีเพื่อนร่วมงานเก่งๆ มีงานที่หน้าตื่นเต้นและน่าสนใจให้ทำตลอดเวลา สถานะทางสังคมและรายได้ก็จะอยู่ในระดับที่ เรียกได้ว่าเป็นที่อิจฉาของคนทั่วๆไปเลยทีเดียว 

 

เวลาสมัครเข้ามาทำงานที่ Facebook เค้าดูจากอะไรบ้าง

ความสามารถเป็นหลักแต่ภาษาก็ต้องอยู่ในระดับที่สื่อสารได้โดยไม่เป็นอุปสรรค ที่เหลือคือการหาโอกาสและช่องทางที่จะทำให้คนที่นี่ยอมรับและมองเห็น 

ยกตัวอย่างเพื่อนคนนึงที่มากจากรัสเซีย เขาเล่าว่าเขาเป็น expert ด้าน JavaScript และมีบล๊อกส่วนตัวที่เข้าเขียนเกี่ยวกับงานที่เขาทำ เข้าใจว่าคนใน Facebook ไปอ่านเจอแล้วถูกใจเลยทดลองเรียกมาสัมภาษณ์จนสุดท้ายได้ก็ข้อเสนอให้มาทำงานในอเมริกาแล้ว Facebook ก็จัดการเรื่อง visa และอื่นๆให้ 

 

ถ้าเกิดว่ามีน้องๆอยากไปทำงานที่ Facebook บ้าง เค้าต้องทำยังไง

สมัยตอนที่ผมออกมาอเมริกา ช่วงนั้นโอกาสที่เด็กที่เรียนในไทยจะได้รับเข้าทำงานหรือฝึกงานโดยบริษัทเมืองนอกนั้นยากมากหรือแทบไม่มีเลย คนที่ได้ทำงานที่นี่มักจะเริ่มจากมาเรียนต่อเมืองนอกก่อน ถ้าได้มหาลัยดีๆบริษัทใหญ่ๆก็จะเข้าสอบสัมภาษณ์ถึงที่มหาลัย พอได้ฝึกงานแล้วโอกาสที่จะได้รับเข้าทำงานตอนเรียนจบก็จะตามมาถ้าเราทำได้ดี 

แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจว่าเด็กรุ่นใหม่มีช่องทางอื่นๆให้เลือกอีกมาก เช่น การประกวด software หรือแข่งขันเขียนโปรแกรมในรายการระดับโลก บางรายการที่เป็นที่ยอมรับหรือบริษัทใหญ่ๆเป็น sponsor เราก็มีโอกาสจะถูกเรียกสัมภาษณ์ถ้าได้เข้ารอบลึกๆ 

เดี่ยวนี้โลกเปิดกว้างถ้าเรามีความเชี่ยวชาญและมีคนยอมรับ โอกาสก็จะเข้ามาหาเราเอง

 

ภาพบางส่วนเพิ่มเติม

เวลามีใครไปหาพนักงานของ Facebook ก็จะใช้วิธีลงทะเบียนและพิมพ์บัตรด้วยการ login แล้วก็ tag พนักงานผ่าน Facebook ด้วย iPad บริเวณ reception …เจ๋งมวากกกก

Company Store มีของเจ๋งๆน่ารัก คุณภาพโอเคขายเพียบ แต่ไม่สามารถซื้อกลับมาฝากได้จริงๆ เพราะแพงทุกชิ้น ^^”

ใครที่บ้าถ่ายรูปแล้วได้ไป Facebook คงจะสนุก เพราะว่าที่ออฟฟิศเค้ามีการให้ศิลปินเข้ามาสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่เรื่อยๆ ผนังของบริษัทจึงเต็มไปด้วยงานศิลป์สวยๆให้ได้ชื่นชมและถ่ายรูปตลอดเวลา

มีเฟซบุ๊ควอลล์จริงๆให้เขียนด้วย เลยมาขอเจิมซะหน่อย 😀

 

ถ้าเทียบบรรดาบริษัทเทคที่ได้ไปเยี่ยมเยียนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (Google, Apple, Facebook, Twitter) ต้องบอกว่า Facebook คงเป็นบริษัทที่ประทับใจที่สุดในทุกบริษัททั้งเรื่องการตกแต่งและบรรยากาศการทำงาน ดูชิค มีพลัง และยังเป็นวัยรุ่นอยู่มาก เรียกว่าแอบอยากเขียนโค้ดเป็นแล้วสมัครไปทำงานที่นี่เลยทีเดียวล่ะครับ 🙂


อ้างอิง 

1Facebook : Company Info

2Building a More Diverse Facebook