หากจำกันได้กับข่าวที่ Google กำลังพัฒนาฟีเจอร์ส่งไฟล์ Quick Share ให้ทำงานบน iOS ได้ หรือจะเป็นคำสั่งของ EU ถึง Apple ที่ต้องทำตามให้ได้ภายในปี 2026 กับกฎหมาย Digital Markets Act (DMA) วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูว่า ข้อบังคับหรือคำสั่งดังกล่าวนั้นคืออะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างที่ EU สั่งให้ Apple ทำตาม จนเกิดอาการไม่พอใจและมองว่ามันจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีในอนาคต!

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่ากฎหมาย Digital Markets Act คืออะไร เราจะมาอธิบายแบบเข้าใจง่ายไปพร้อมกัน
กฎหมาย Digital Markets Act (DMA) คือกฎหมายของสหภาพยุโรป ที่มีขึ้นเพื่อควบคุมการผูกขาดทางธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ที่ให้บริการ และเข้าถึงผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก เช่น เสิร์ชเอนจิน โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงระบบปฏิบัติการ โดยเราจะเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า “gatekeeper” โดยการที่จะถูกนับว่าเป็น gatekeeper ก็จะต้องมีคุณสมบัติเข้าข่ายตามเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
- มีรายได้ต่อปีในยุโรปมากกว่า 7.5 พันล้านยูโร หรือมีมูลค่าบริษัทเฉลี่ยอย่างน้อย 75 พันล้านยูโร
- ให้บริการแพลตฟอร์ม หรือระบบปฏิบัติการอย่างน้อย 3 ประเทศในยุโรป
- มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม หรือระบบปฏิบัติการในยุโรปมากกว่า 45 ล้านคนต่อเดือน
- และจะต้องมีจำนวนผู้ใช้งานเข้าเกณฑ์ข้างต้นต่อเนื่องกัน 3 ปีขึ้นไป
โดยในปัจจุบัน บริษัทบิ๊กเทคที่ถูกแต่งตั้งหรือเข้าเงื่อนไขดังกล่าว มีอยู่ทั้งหมด 7 บริษัท สรุปรายชื่อออกมาได้ตามนี้
ชื่อบริษัท | บริการที่เป็น gatekeeper |
Alphabet Inc. | Google Play, Google Maps, Google Shopping, Google Search, YouTube, Android Mobile และ Google Chrome เป็นต้น |
Amazon.com Inc. | Marketplace, Amazon Advertising |
Apple Inc. | App Store, iOS, Safari, iPadOS |
Booking | ผู้ให้บริการจองที่พัก หรือตั๋วเครื่องบินออนไลน์ (Booking.com) |
ByteDance Ltd. | TikTok |
Meta Platforms, Inc. | Facebook, Instagram, WhatsApp, Messenger, Meta Marketplace, Meta Ads |
Microsoft Corporation | LinkedIn, Windows PC OS |
หลังจากเห็นรายชื่อบริษัทต่างๆ ไปแล้ว คงจะไม่แปลกใจที่พวกเราได้เห็นชื่อของ Apple ติดโผหนึ่งในนั้นไปด้วย เพราะถ้าจำกันได้ EU คือสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเรา ได้เห็น USB-C ในไอโฟนแบบเต็มๆ ตา หลังจากมีกฎหมายมาตรฐาน USB-C ออกมา ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา เช่น มือถือ แท็บเล็ต และกล้องดิจิทัล จำเป็นต้องใช้พอร์ต USB-C เท่านั้น ถ้าจะนำมาขายในภูมิภาคยุโรป

DMA มาตราที่ 6(7) ข้อกฎหมายที่ทำให้ Apple ต้องจำยอม?
มาตราที่ 6(7) ของกฎหมาย DMA กำหนดว่า gatekeeper ต้องเปิดโอกาสให้นักพัฒนา หรือผู้ผลิตอุปกรณ์ 3rd party สามารถเชื่อมต่อ (interoperability) หรือใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ จากเจ้าของระบบปฏิบัติการได้
ซึ่งส่งผลกับ Apple แน่นอน เพราะอย่างที่เรารู้กัน ว่าระบบของ Apple นั้น แทบจะเป็นระบบปิดทั้งหมด โดยอ้างถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระบบใหญ่อย่าง iOS หรือฟีเจอร์แยกย่อยอย่าง AirDrop ที่หากไม่ใช่อุปกรณ์ของ Apple ก็จะทำงานร่วมกันไม่ได้ และไม่สามารถรับสัญญาณได้
พอ EU ออกกฎหมายข้อนี้มา จึงเหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ว่า Apple จะต้องเปิดระบบที่ปิดมานาน ให้อุปกรณ์พกพาหรือแอปพลิเคชันจากผู้ผลิต 3rd party เข้าถึงฟังก์ชัน และฟีเจอร์ของ iOS แบบเดียวกันกับที่อุปกรณ์ของ Apple ทำได้ และจะต้องไม่ซับซ้อน หรือสร้างความลำบากให้ผู้ใช้งานมากกว่าเดิม

และในวันที่ 19 กันยายน 2024 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) เปิดรายละเอียดข้อกำหนดเพิ่ม 2 ฉบับ แบบเจาะจงไปที่ Apple โดยเฉพาะ พร้อมขีดเส้นตายว่าจะต้องปฏิบัติตามให้ได้ภายในปี 2026 (DMA.100203) และฉบับที่สองคือ ข้อกำหนดที่ Apple จะต้องปฏิบัติตามเมื่อได้รับคำร้องจากผู้พัฒนาที่ต้องการทำฟีเจอร์ต่างๆ จากข้อกำหนดฉบับแรก (DMA.10024)
โดย EU ออกมาให้เหตุผลไว้ว่า การออกข้อกำหนดเพิ่มเติมสองฉบับ ก็เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานของอุปกรณ์เสริมค่ายอื่น สามารถเข้าถึงฟีเจอร์การเชื่อมต่อกับ iOS ได้แบบไม่มีข้อจำกัด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้อุปกรณ์เสริมเป็นของ Apple ทั้งหมด โดยทั้ง 9 ฟีเจอร์ บนระบบปฏิบัติการ iOS ที่ EU ได้ออกข้อกำหนดเอาไว้นั้นประกอบไปด้วย
ฟีเจอร์สำหรับการแจ้งเตือนหรือการโต้ตอบ
- การแสดงและการโต้ตอบกับการแจ้งเตือน (iOS notifications) : ฟีเจอร์นี้สำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น สมาร์ทวอทช์ จะต้องสามารถรับการแจ้งเตือนจาก iOS พร้อมแสดงผลการแจ้งเตือน และโต้ตอบกับการแจ้งเตือนเหล่านั้นได้
- อนุญาตให้ทำงานเบื้องหลัง (background execution) : iOS ต้องอนุญาตให้อุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ ทำงานเบื้องหลังร่วมกับแอปพลิเคชันของตนเองได้ เช่น การดึงข้อมูลสภาพอากาศ แล้วซิงก์ไปที่สมาร์ทวอทช์อัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใช้งานกดหรือโต้ตอบกับแอปเอง
- สามารถสลับเสียงได้แบบอัตโนมัติ (automatic audio switching) : ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสลับการเชื่อมต่อหูฟังระหว่างอุปกรณ์ 2 เครื่องได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น AirPods เท่านั้น
ฟีเจอร์สำหรับการส่งข้อมูล
- การเชื่อมต่อ Wi-Fi ความเร็วสูง (high-bandwidth peer-to-peer Wi-Fi connection) : ฟีเจอร์นี้จะทำให้อุปกรณ์ iOS สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ความเร็วสูงกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้โดยตรง (peer-to-peer) เหมาะสำหรับการส่งไฟล์ขนาดใหญ่ระหว่างอุปกรณ์ หรือการแคสต์หน้าจอ iPhone ไปยังเฮดเซต virtual reality (VR)
- การส่งไฟล์แบบไร้สายระยะใกล้ (close-range wireless file transfers) : iOS ต้องทำให้แอปหรือฟีเจอร์การแชร์ไฟล์ของผู้พัฒนารายอื่น เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้ใช้งาน iOS ได้เลือกใช้นอกเหนือจาก AirDrop
- การแคสต์สื่อ (media Casting) : iOS ต้องเปิดโอกาสให้นักพัฒนาสามารถสร้างระบบ และเข้าถึงซอฟต์แวร์สำหรับการแคสต์สื่อ เพื่อเป็นทางเลือกเสริม หรือควบคู่ไปกับ AirPlay ของ Apple ได้
- เข้าถึงการทำงานของ NFC โหมดอ่าน/เขียน (NFC controller in reader/writer mode) : iOS จะต้องอนุญาตให้ iPhone สามารถส่งข้อมูลสำคัญ เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต หรือสมาร์ทการ์ดที่รองรับ NFC ไปยังอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ เช่น สมาร์ทวอทช์ หรือแหวนอัจฉริยะที่รองรับ เพื่อทำธุรกรรม (แตะจ่าย) ได้โดยไม่จำเป็นต้องมี iPhone อยู่กับตัว
ฟีเจอร์สำหรับการตั้งค่าและกำหนดค่าอุปกรณ์
- การจับคู่ระยะใกล้ (proximity-triggered pairing) : ฟีเจอร์นี้ จะช่วยให้อุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ สามารถจับคู่กับ iPhone ได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น เมื่อนำหูฟังเข้ามาใกล้กับ iPhone อุปกรณ์จะขึ้น pop-up ให้จับคู่ได้ทันที ไม่จำกัดเฉพาะ AirPods หรืออุปกรณ์ของ Apple เท่านั้น ลักษณะเดียวกับ Fast Pair บน Android
- เชื่อมต่อ Wi-Fi อัตโนมัติ (automatic Wi-Fi connection) : iOS จำเป็นต้องอนุญาตให้อุปกรณ์เชื่อมต่อ ที่ทำการเชื่อมต่อกับ iPhone ไว้ สามารถเข้าถึง หรือเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่บันทึกไว้ใน iPhone ได้โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งค่าด้วยตัวเอง
เส้นตายที่ถูกขีดเอาไว้
แต่ละฟีเจอร์ มีการกำหนดมีเส้นตายที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ฟีเจอร์รับการแจ้งเตือนจาก iOS สำหรับสมาร์ทวอทช์ และการจับคู่อุปกรณ์ระยะใกล้ Apple จะต้องทำให้พร้อมใช้งานบน iOS Beta ภายในปี 2025 และต้องใช้งานได้แบบเต็มรูปแบบ ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2026 ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ ยังมีการกำหนดเส้นตายให้ถึง iOS 20 และต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2026
Apple ไม่โอเค กลัวว่าจะทำให้ iOS เหมือน Android เกินไป
โฆษกของ Apple ออกมาชี้แจงและพูดถึงกรณีนี้ต่อ EU แบบตรงไปตรงมา ว่าการตัดสินใจดังกล่าว ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือฟีเจอร์ใหม่ของ Apple ให้กับผู้ใช้งานในยุโรปล่าช้าลงไปอีก และยังเป็นการบีบบังคับให้ทางบริษัทต้องยอมมอบทรัพย์สินทางปัญญาหรือฟีเจอร์ของตัวเองให้คนอื่นไปฟรีๆ แต่ยังไงก็ตาม Apple ก็ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะยังคงทำงานและปฏิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรปต่อไปเป็นอย่างดี
การที่ Apple เกิดความรู้สึกว่าระบบปฏิบัติการของตนเอง จะมีลักษณะคล้าย Android มากเกินไป ก็อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น การที่ DMA บังคับให้ Apple ต้องอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปจากแหล่งอื่นได้ (sideloading) ซึ่งจะคล้ายกับสิ่งที่ Android ทำได้มาตั้งแต่แรก

สรุปแล้วจากเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไวที่สุดก็ในการอัปเดต iOS 19 ที่กำลังจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายน นี้เลยก็ได้ จะออกมาหน้าเป็นยังไง แล้วจะทำให้ iOS ใช้งานง่ายขึ้นเหมือนที่ EU บอกจริงหรือเปล่าอันนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป
อ้างอิง : EU, Grant Thornton, Android Authority
Comment