งงเป็นไก่ตาแตกกันเป็นแถบๆ เมื่อ YouTuber นักซ่อมชื่อดังอย่าง Louis Rossman ได้ทำการแกะฝาหลังเครื่อง MacBook Air 2019 แล้วพบว่าตัวเครื่องมีพัดลมอยู่หนึ่งตัว แต่ไม่มีฮีทไปป์ลากผ่านฮีทซิงค์ เท่ากับว่าพัดลมที่เป่าระบายความร้อนออกด้านหลังคือทำงานแค่เป่าลมออกเฉยๆ แทบไม่ได้ช่วยระบายความร้อนซีพียูเลย ใครคิดจะซื้อไปทำงานหนักๆ อาจต้องก่ายหน้าผากเพราะใช้ไปสักพักเครื่องอาจจะร้อนจนแทบทำงานไม่ได้

จากรูปด้านใน MacBook Air 2019

  • วงสีแดงจะเป็น ฮีทซิงค์ ของเครื่องเป็นแผ่นวางทับบนซีพียูเพื่อช่วยระบายความร้อน
  • วงสีเหลืองเป็นพัดลมระบายความร้อน
  • ส่วนขีดๆ สีส้มคือ ควรจะเป็นตำแหน่งของฮีทไปป์ ที่ลากผ่าน ฮีทซิงค์กับพัดลม แต่ตัวเครื่องกับไม่มี

หากย้อนกลับไปดู MacBook Air 2018 รุ่นเก่าก็มีปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกันคือไม่มีฮีทไปป์ลากผ่านจากซีพียูไปยังพัดลม ซึ่งทาง Apple ไม่ได้คิดจะทำการแก้ไขปัญหานี้เลย แต่ถ้าย้อนลึกลงไปอีกของปี 2017 จะเห็นว่ามีฮีทไปป์สีดำอยู่หนึ่งเส้นตามที่วงไว้ด้านขวา

หลายคนอาจจะเถียงว่าก็ MacBook Air รุ่นใหม่ๆ ก็ใช้ซีพียูใหม่ ความร้อนมันต้องลดลง ไม่จำเป็นต้องมีฮีทไปป์ก็ได้ แต่ความจริงแล้ว MacBook Air ทั้งปี 2017, 2018 และ 2019 ใช้สถาปัตยกรรมเดียวกันหมดคือ 14nm และสื่อต่างๆ ก็บ่นเรื่องความร้อนกันมาตั้งแต่ MacBook Air 2018 ถึงกระนั้นยังดีที่ซีพียูรุ่นใหม่กินไฟ TDP น้อยลงเหลือ 7W(รุ่นปี 2018, 2019 ใช้ซีพียูตัวเดียวกัน)

และจากเหตุการณ์นี้เองมองดูลึกๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Apple กำลังคิดอะไรอยู่ในใจ ตั้งแต่ลดราคา MacBook Air 2019 เหลือเริ่มต้นแค่ 35,900 บาท (รุ่น 2018 ปกติเริ่มต้น 42,900 บาท) ซึ่งเหมือนพยายามสร้างช่องว่างของราคา เพื่อแบ่งกลุ่มผู้ซื้อมาใช้งานให้ชัดเจนขึ้น คนที่ซื้อมาใช้งานหนักต้องไปตัว Pro ทำงานเบาๆ ถึงค่อยมา Air หรือไม่ก็แอบกั๊กสเปคไว้ไม่ให้ตัว Air ทำงานหนักได้แม้ซีพียูจะไหวก็ตาม (กั๊กตั้งแต่ SSD แล้ว)

อย่างไรก็ตามการที่ Apple ตัดฮีทไปป์ออกนั้นก็จะทำให้ตัวซีพียูระบายความร้อนได้ไม่ดี เกิดอาการ Thermal Throttling (การลดความเร็วซีพียูเมื่อชิพร้อนเกินไป) ซึ่งเมื่อซีพียูทำงานหนัก Turbo Boost ขึ้นได้สักพักความเร็วตกคืนแบบรวดเร็วเพราะร้อน วนลูบแบบนี้ทำให้ทำงานได้ไม่ลื่นไหลหรือเกิดอาการแลคเป็นช่วงๆ และยิ่งนานวันเข้าซีพียูร้อนหนักๆ บ่อยๆ ก็จะเริ่มมีปัญหาในที่สุด

งานนี้ใครที่คิดจะซื้อ MacBook Air 2019 คงต้องคิดกันดีๆ หน่อยละครับ แนะนำว่าถ้าจะคิดว่าใช้งานหนักๆ เช่น พวกตัดต่อ Final Cut ข้ามไป Pro เลยจะดีกว่า

Play video

 

ที่มา : Louis Rossman