รอกันมานานในสุดก็ได้ฤกษ์เปิดตัวสักทีสำหรับ MacBook Pro รุ่นใหม่ประจำปี 2021 ซึ่งคราวนี้มาพร้อมกับรุ่นจอ 14″ และ 16″ โฉมใหม่ ดีไซน์ดูย้อนยุคเหมือน MacBook Gen แรก ๆ พร้อมจอติ่งเหมือนมือถือ iPhone เพิ่มฟีเจอร์ ProMotion มี Refesh Rate สูงสุด 120Hz กับเปลี่ยนชิปใหม่เป็น Apple M1 Pro และ M1 Max ประสิทธิภาพเร็วขึ้นกว่าเดิมสูงสุดถึง 3.7 เท่า ในราคาเริ่มต้นที่ 73,900 บาท เตรียมวางจำหน่ายในไทยเร็ว ๆ นี้

ชิป Apple M1 Pro และ M1 Max เป็นยังไงบ้าง

สเปคภาพรวมของทั้ง 2 ชิป

ทั้ง Apple M1 Pro และ M1 Max จะยังคงใช้สถาปัตยกรรมการผลิตขนาด 5nm เหมือนกับ M1 รุ่นเดิม เพิ่มเติมคือยัดจำนวน Transistor มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า (เดิม M1 มี 16,000 ล้านหน่วย) โดย M1 Pro เพิ่มขึ้น 2 เท่ากว่า ๆ เป็น 33,700 ล้านหน่วย และ M1 Max มีถึง 57,000 ล้านหน่วยกันเลยทีเดียว พร้อมกับรองรับพอร์ต Thunderbolt 4 การถอดรหัสไฟล์ H.264, HEVC, Pro Res และมี Memory bandwidth สูงสุดถึง 400GB/s ด้วยกัน

แน่นอนว่าด้วยความที่ยังคงใช้สถาปัตยกรรม 5 nm เท่าเดิม แต่ยัดทรานซิสเตอร์มากขึ้น ขนาดชิปย่อมมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย จากรูปคือชิปตัว M1 Max อันเดียวจะมีขนาดใหญ่กว่าชิป M1 ธรรมดาถึง 4 อันเลยก็ว่าได้

ซีพียู Apple M1 Pro และ M1 Max มีทั้งหมด 5 แบบ

  • M1 Pro จะมี 3 แบบคือ
    – CPU 8‑core/GPU 14-core
    – CPU 10‑core/GPU 14-core
    – CPU 10‑core/GPU 16-core
  • M1 Max จะมี 2 แบบคือ
    – CPU 10‑core/GPU 24-core
    – CPU 10‑core/GPU 32-core

**ทั้ง 2 รุ่นมี Neural Engine จำนวน 16 Core เท่ากันตั้งแต่ตัวเริ่มต้นจนถึงท็อป

ประสิทธิภาพของ Apple M1 Pro และ M1 Max เป็นยังไงบ้าง

รูปเทียบประสิทธิภาพ CPU เทียบกับพลังงานที่ใช้

ทาง Apple เคลมว่าชิป M1 Pro และ M1 Max ประสิทธิภาพต่อวัตต์แรงกว่าชิปโน้ตบุ๊ค 8 Core ทั่วไปถึง 1.7 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 70% เมื่อทำงานในระดับประสิทธิภาพเดียวกัน ซึ่งถือว่าทั้งแรงและกินไฟต่ำสุด ๆ

รูปเทียบประสิทธิภาพ GPU M1 Pro เทียบกับพลังงานที่ใช้

ถัดมาดูทางฝั่งชิป GPU ใน M1 Pro กันบ้างซึ่งทาง Apple เองก็เคลมว่าประสิทธิภาพดีกว่าการ์ดจออนบอร์ดบนโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ถึง 7 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่าการ์ดจอแยกเกมมิ่ง 70% เมื่อทำงานให้ประสิทธิภาพระดับเดียวกัน แรงน้อง ๆ การ์ดจอแยกบนโน้ตบุ๊คเกมมิ่งเลยจริง ๆ (ดีไม่ดีอาจแรงกว่าขึ้นกับการทดสอบ)

รูปเทียบประสิทธิภาพ GPU M1 Max เทียบกับพลังงานที่ใช้

ส่วน GPU ของ M1 Max ทาง Apple ทำแยกออกมาประสิทธิภาพถือว่าแรงพอตัวเลยทีเดียว เคลมว่าเมื่อถอดปลั๊กทำงานสามารถให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าการ์ดจอระดับ High-End โน้ตบุ๊คถึง 3.3 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่า 100W เมื่อทำงานในระดับเดียวกัน (ดูเวอร์มากอยากรู้เลยว่าทดสอบด้วยอะไร โปรแกรมอะไร)

ดีไซน์ สเปค MacBook Pro 14″ และ 16″

คราวนี้มาดูทางด้านดีไซน์ตัวเครื่องกันต่อซึ่งทั้ง MacBook Pro 14″ และ 16″ จะเหมือนกันเลยต่างกันแค่ขนาดจอ ดีไซน์ดูย้อนยุคเหมือนพวก MacBook Gen แรก ๆ ช่วงปี 2012-2013 เพิ่มเติมมาคือเรื่องขอบจอบางขึ้นและมีจอติ่งใส่กล้อง Webcam 1080p อยู่ข้างใน ซึ่งทาง Apple เคลมว่าเป็นกล้องที่ดีที่สุดบน Mac notebook เท่าที่เคยมีมา

ตัวกล้องรองรับ FaceTime ระดับ 1080p มีชิ้นเลนส์ 4 ชิ้น รูรับแสง f 2.0 ถือว่ากว้างใช้ได้เลย แต่ส่วนตัวแอบหงุดหงิดที่อุตส่าห์เป็นติ่งมาขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่ให้ Face ID มาด้วย (มีแต่ Touch ID)

หน้าจอของทั้งสองรุ่นจะมีขนาดจริงวัดแล้วอยู่ที่ 14.2 นิ้ว กับ 16.2 นิ้ว ตามลำดับ เป็นแบบ Liquid Retina XDR พาเนล mini LED ความสว่างสูงสุด 1,600 nit พร้อมรองรับ ProMotion แบบ Adaptive เหมือน iPhone 13 ที่ปรับ Refresh Rate ไปมาได้สูงสุด 120 Hz และทาง Apple เคลมว่าเป็นจอโน้ตบุ๊คที่ดีที่สุดในโลกด้วย

ทีนี้มาดูภายในตัวเครื่องกันบ้าง ระบบระบายความร้อนคราวนี้ให้มาจัดเต็มไม่มีกั๊กเหมือน M1 ตัวก่อน มีพัดลมระบายความ 2 ตัว ฮีทไปป์ขนาดใหญ่ 1 เส้น และช่องดูดลมเย็น 3 ทาง เป่าลมร้อน 2 ทาง หมดห่วงเรื่องการใช้งานหนัก ๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

พอร์ตด้านซ้ายและด้านขวา

อันนี้ถือเป็นไฮไลท์เด็ดอีกอย่างคือในที่สุด Apple ก็ยอมเอาพวกพอร์ต HDMI และ SD Card Reader กลับคืนมา ไม่ต้องไปหาซื้อ Hub ต่อแยกอีกต่อไป รวมถึงยังเอาพอร์ตชาร์จ MagSafe กลับมาด้วย โดยภายในกล่องจะให้มาเป็นสาย USB-C to MagSafe พร้อมอะแดปเตอร์จ่ายไฟสูงสุด 140W

ต่อมาดูตัวคีย์บอร์ดอันนี้คือตัด Touch Bar ทิ้งไปเลยไม่มีอีกแล้ว ซึ่งคนที่ใช้งานระดับมืออาชีพจากผลสำรวจคือจะชอบปุ่ม Function กดดิบ ๆ แบบเดิมมาก เพราะให้ฟีลลิ่งที่ดีกว่า ควบคุมง่ายกว่า ทำให้ทาง Apple เลือกที่จะตัดทัชบาร์ออกไปเสีย แต่ตรงนี้ก็มีเสียงแตกคนบ่นกันอยู่บ้างทั้งชอบและไม่ชอบ

นอกจากเรื่องจอแล้ว ระบบเสียงทาง Apple เองก็เคลมว่า MacBook รุ่นใหม่ทั้งสองตัวนี้มีระบบเสียงโน้ตบุ๊คที่ดีที่สุดในโลกด้วย โดยตัวเครื่องจะมีลำโพง 6 ตัว พร้อมซับวูฟเฟอร์ เสียงเบสมากกว่าเดิม 80% ให้เสียงดังรอบทิศทาง และมีไมค์เกรดเดียวกับระดับ Studio อีกด้วย

ซ้ายคือ MacBook Pro 14″ ขวาคือ MacBook Pro 16″

แล้วก็เรื่องแบตเตอรี่ทาง Apple เคลมว่า MacBook Pro 14″ รุ่นใหม่นี้จะสามารถใช้งานได้นานสูงสุด 17 ชั่วโมงในการดู Video playback และรุ่น MacBook Pro 16″ ใช้งานนานสูงสุดถึง 21 ชั่วโมง รวมถึงรองรับ Fast Charge แบตชาร์จ 0-50% ได้ในเวลา 30 นาที ซึ่งถือว่าเร็วและอึดมาก ๆ ใช้งานจริงขอแค่เปิดเบราว์เซอร์ท่องเว็บดู YouTube Netflix ได้เกิน 10 ชั่วโมงก็ดีใจแล้ว

ราคา MacBook Pro 14″ และ 16″

MacBook Pro 14″ ปี 2021 จะมีให้เลือก 2 สีคือ เทาสเปซเกรย์ และเงิน แบ่งออกเป็น 2 สเปคหลักคือ

  • M1 Pro CPU 8‑core + GPU 14 Core+  Ram 16GB + SSD 512GB ราคา 73,900 บาท
  • M1 Pro CPU 10‑core + GPU 16 Core+  Ram 16GB + SSD 1TB ราคา 89,900 บาท

MacBook Pro 16″ ปี 2021 จะมีให้เลือก 2 สีคือ เทาสเปซเกรย์ และเงิน แบ่งออกเป็น 3 สเปคหลักคือ

  • M1 Pro CPU 10‑core + GPU 16 Core+  Ram 16GB + SSD 512GB ราคา 89,900 บาท
  • M1 Pro CPU 10‑core + GPU 16 Core+  Ram 16GB + SSD 1TB ราคา 96,900 บาท
  • M1 Max CPU 10‑core + GPU 32 Core+  Ram 32GB + SSD 1TB ราคา 124,900 บาท

สรุป

ภาพรวมทั้งหมดสำหรับ MacBook Pro 14″ และ 16″ ในการเปิดตัวครั้งนี้ในเรื่องสเปคและฟีเจอร์ต่าง ๆ คือพูดตรง ๆ ทำออกมาดีมาก ไม่ว่าจะเป็นชิป M1 Pro และ M1 Max จากพรีเซนต์ออกมาคือแรงจริงแรงจัง โดยไม่ต้องพึ่งการ์ดจอแยกเหมือนโน้ตบุ๊คฝั่ง Windows ก็สามารถทำงานเรนเดอร์กราฟิกหนัก ๆ ได้สบาย ๆ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กด้วย เพราะชิปกินพลังงานต่ำมาก รวมถึงหน้าจอการแสดงผลสุดเทพ รองรับ 120Hz พอร์ตเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น ลำโพงหกตัว แบตอึด ฯลฯ ที่ Apple ใส่มาสุดไม่มีกั๊ก

แต่ส่วนตัวที่รู้สึกไม่ชอบเลยคือดีไซน์ MacBook แบบนี้ เท่าที่เห็นจากรูปคือมันดูย้อนยุคไปหน่อย น่าจะออกแบบมาให้ล้ำ ๆ แรง ๆ โมเดิลกว่านี้อาจจะดีกว่า รวมถึงหน้าจอติ่งที่ดูจะเสียพื้นที่การใช้งานตรงนั้นไปด้วย ทำให้ดูขัด ๆ ตานิดหนึ่ง และที่น่าตกใจที่สุดคือราคาดีดขึ้นจากเดิมไปเยอะมาก คือกะเอามาขายแค่เฉพาะสายทำงานมืออาชีพอย่างเดียว ถ้าเป็นเด็กนักศึกษาหรือมือสมัครเล่นอยากจะลองใช้สักเครื่องกะเขา คงต้องคิดหนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ (แม้ผ่อน 0% ก็ยังคงคิดแล้วคิด)

 

ที่มา : Apple (1,2)